เปลี่ยนผ่าน : “3 ม.” มหาอำนาจโลก “มะกัน มังกร หมีขาว” กระชับวงล้อมไทย!!

โดย ปรัชญา นงนุช

การเยือนรัสเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าพบ นายดิมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ในการร่วมหารือทวิภาคี ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีความสำคัญทั้งในด้านแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เพราะนครแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย ที่จะครบรอบ 120 ปี ในปีหน้า

ความสำคัญยังอยู่ที่มิติการทหาร หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำทัพเดินทางเยือนรัสเซียก่อนหน้านี้ เพื่อหารือและเตรียมทำข้อตกลงร่วม ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามและเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ไปพร้อมกัน

โดยไทยสนใจซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 ของรัสเซีย ทดแทนเฮลิคอปเตอร์ Chinook ถือเป็นการนำร่องจัดซื้ออาวุธจากรัสเซีย แต่ยังไม่มีการจัดซื้อรถถัง T-90 หลังกองทัพไทยส่งคณะกรรมการไปดูงานถึงรัสเซีย ในโรงงานผลิต T-90 และ T-14 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. มองว่ากองทัพขาดยุทโธปกรณ์ด้านนี้ โดยกองทัพบกขอแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของอัตรา เพื่อนำมาใช้ในกิจการบรรเทาสาธารณภัยและสนับสนุนกำลังพล โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีความสนใจ เพราะไทยไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งมีความจำเป็นต้องใช้ลำเลียงกำลังทหาร อพยพประชาชน ดับไฟป่า พร้อมมองถึงงบประมาณว่ามีเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีมากก็ซื้อได้ ถ้ามีน้อยก็ทยอยซื้อ และตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วมกันจัดทำทีโออาร์ จัดหางบประมาณ

“ผมเห็นที่ทุกคนสนใจไม่ใช่เนื้อหาหลัก สนแต่เรื่องกระพี้ของมัน ซื้อไม่ซื้อ พอซื้อปั๊บก็มาจ้องเรื่องทุจริต ไม่เคยสร้างสรรค์ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเฮลิคอปเตอร์หรือไม่ หรือไม่ต้องมีก็ได้ เอาสิ มันต้องซื้อเขาทุกอย่างเพราะเราไม่ผลิตเอง ถ้าผลิตได้ก็ไม่ซื้อหรอก แต่เพราะมันจำเป็น ข้อสำคัญคือไม่ใช่ซื้อเพื่อให้เกิดการทุจริต หากมีก็สอบมา ซึ่งเป็นการซื้อระหว่างรัฐต่อรัฐ จะทุจริตได้ยังไง ก็ไม่รู้เหมือนกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ที่สำคัญกองทัพไทยกำลังจะมีการฝึกร่วมกับรัสเซียในเดือนกันยายนนี้ ที่ประเทศไทย ในฐานะประธานร่วมศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ACMM) เป็นผลมาจากกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างชาติสมาชิก 18 ประเทศ ซึ่งไทยและรัสเซียเป็นประธานร่วมปี 2557-2559

โดยจะฝึกด้านบรรเทาสาธารณภัย มนุษยธรรม และการรับมือภัยพิบัติ ถือเป็นการนำร่องความร่วมมือทางทหารกับรัสเซียไปอีกขั้น จึงมีการจับตามองในระยะยาวว่า ไทย-รัสเซียจะมีการฝึกใช้กระสุนจริงหรือฝึกพร้อมรบแบบที่ฝึกกับสหรัฐและจีนหรือไม่

“ก็ต้องดู เพราะต้องเริ่มต้นจากระดับต่ำก่อน ระดับหมู่ ระดับหมวด ไม่ใช่อยู่ดีๆ ขนมา กับจีนก็เช่นกัน เราก็มีการฝึกร่วมกันระดับต่ำก่อน มีการเยือนร่วมกัน คุยกันว่าเราจะฝึกอะไรกันได้บ้าง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มา ยกมาเป็นกองพล ไม่ได้ ต้องค่อยๆ” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาของ ทบ. เห็นชอบจัดซื้อรถถัง VT4 (MBT-3000) จากจีน นำร่อง 28 คัน มูลค่าราว 5,200 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะมีการจัดซื้อ 1 กองพัน หรือราว 50 คัน เพื่อทดแทนรถถังเบา M-41 ที่ผลิตโดยสหรัฐ หลังใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2505 ในยุคสงครามเวียดนาม โดยจีนจะส่งมอบรถถังใหม่ทั้งหมดให้ไทยได้ภายในปี 2560

“การจัดซื้อรถถังจากรัสเซียนั้นได้เปลี่ยนมาจัดซื้อกับประเทศจีนแทนแล้ว เพื่อชดเชยอุปกรณ์ที่เก่าและล้าสมัย ประกอบกับมีความเชื่อมั่นกับราคาและประสิทธิภาพ มั่นใจมีคุณภาพ เพราะการจัดซื้อครั้งนี้ผมและคณะกรรมการได้พิจารณาตรวจสอบแล้วถึงความเหมาะสม ตอนนี้ถือว่ากองทัพพอแล้ว” พล.อ.ธีรชัย กล่าว

จึงเกิดกระแสข่าวการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการทหารจากสหรัฐ มาเป็นมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย สอดรับกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ นับแต่การรัฐประหารปี 2557 ที่ถูกลดระดับความร่วมมือลงทั้งในด้านการเมือง และด้านการทหาร

ซึ่งเห็นชัดผ่านการฝึก Cobra Gold ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่สหรัฐลดจำนวนกำลังพลร่วมฝึกลง เป็นการฝึกแบบไลต์เยียร์แทน

นอกจากนั้น ยังมีการจัดซื้อรถถัง T-84O plot จำนวน 49 คัน จากยูเครนในปี 2554 แต่การจัดส่งล่าช้าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองของยูเครน จึงยืดระยะเวลาการส่งมอบไปเป็นปี 2561

“กองทัพสามารถใช้อาวุธได้จากหลากหลายประเทศ แต่ต้องดูเรื่องการส่งกำลังบำรุง ซ่อมบำรุง ก็ต้องดูด้วย เพราะรถพวกนี้เราไม่ได้ใช้ปีสองปี ห้าปี แล้วเลิก แต่ใช้ระยะเวลานาน ด้านการส่งกำลังบำรุงก็ต้องทำตามมาด้วย” พล.อ.ประวิตร กล่าว

 

ที่ต้องจับตามองคือการฝึกร่วมของกองทัพเรือไทย-จีน รหัส BLUE STRIKE 2016 ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม-9 มิถุนายนนี้ ที่น่านน้ำอ่าวไทย หลังพัฒนาขึ้นจากการฝึกผสม PASSEX (Passing Exercise : การสื่อสารระหว่างเรือที่เข้าร่วมฝึก) ในปี 2548 ที่กองทัพเรือจัดเรือหลวงเจ้าพระยา เข้าร่วมการฝึกกับเรือรบกองทัพเรือจีน คือ เรือ SHENZHEN (DDG-167) และเรือ WEISHANHU (AOR-887)

ต่อมาพัฒนาเป็นการฝึกผสมระหว่างหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินร่วมไทย-จีน รหัส BLUE STRIKE 2010 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเพียงการฝึกในระดับหน่วยย่อย-ขั้นพื้นฐานขนาดเล็ก ใช้เรือระบายพลขนาดใหญ่ เรือปฏิบัติการพิเศษ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ เรือยาง

ต่อมามีการฝึกผสม BLUE STRIKE 2012 ที่ประเทศจีน ฝึกด้านทักษะขั้นพื้นฐาน ฝึกระดับยุทธวิธี ฝึกในทะเล การสัมมนาการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ฝึกรบพิเศษสายการบังคับบัญชา การจัดหน่วยภายในนาวิกโยธินและกองทัพเรือ ที่เน้นการใช้อาวุธประจำกาย เครื่องสนาม เชือกและอุปกรณ์ลงทางดิ่ง อุปกรณ์ดำน้ำ ร่มชูชีพ วิทยุสื่อสาร กล้องศูนย์เล็งชี้เป้า และอมภัณฑ์ที่ใช้ฝึก

การฝึกปีนี้น่าสนใจตรงที่การเพิ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ มีการใช้กระสุนจริงและการฝึกรบที่ครบครันมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนทางทฤษฎี การดำรงชีพในป่า การยิงจรวดนำวิถีป้องกันภัยทางอากาศ QW-1/18 การฝึกแลกเปลี่ยนยุทธวิธี (CTX) การโจมตีโฉบฉวยด้วยเรือยาง การปฏิบัติการร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ ยุทธวิธีทหารราบยานเกราะ การรบในเมือง การรบในระยะประชิด

การตรวจจับอาวุธเคมีและการเก็บกู้วัตถุระเบิด การปฐมพยาบาลสนาม การยิงปืนฉับพลันและการยิงประกอบการเคลื่อนที่ การยิงปืนพกและปืนลูกซองทางยุทธวิธี การยิงปืนเล็กยาว ปืนกล ปืนเล็กกล การฝึกดำเนินยุทธระดับหมู่ปืนเล็ก และการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise : CALFEX) โดยใช้กำลังฝึกร่วมกว่า 770 นาย

สำหรับยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของฝ่ายไทยที่จัดเข้าร่วมฝึก คือ เรือหลวงอ่างทอง เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ยานเกราะล้อยาง เรือเร็วท้องแข็ง เรือยาง จรวดนำวิถี QW-18

ส่วนยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของฝ่ายจีน คือ เรือยกพลขึ้นบกแบบอู่ลอย เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง เรือเร็วท้องแข็ง เรือยาง รถจู่โจมหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 05 รถรบทหารราบหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 05 รถถัง Howitzer ขนาด 122 ม.ม. จรวดนำวิถี QW-1

 

ประจวบเหมาะกับการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา-ไทย ในนามการฝึกผสม Guardian Sea 2016 ที่น่านน้ำทะเลอันดามัน วันที่ 24-27 พฤษภาคมนี้

โดยกองทัพเรือไทยจัดเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน หลังปรับปรุงระบบอาวุธใหม่ ออกปฏิบัติการ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ Seahawk และระบบชักหย่อนเพื่อตรวจจับเรือดำน้ำ ด้านสหรัฐ จัดเรือดำน้ำ 1 ลำ เครื่องบิน T8 และเรือตรวจจับเรือดำน้ำ

จึงกล่าวได้ว่าในห้วงสัปดาห์ดังกล่าว เรือรบจีน-สหรัฐ จะทำการฝึกกับไทยในทุกน่านน้ำทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่สำคัญรัสเซียเริ่มขยับเข้าหาไทยและภูมิภาคด้วยการฝึกศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน นำร่องด้านบรรเทาสาธารณภัย เช่นเดียวกับที่จีนเริ่มกับไทยด้วยการฝึก PASSEX และ BLUE STRIKE ในระยะแรก

สถานการณ์ด้านความมั่นคง จึงหลีกหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติมหาอำนาจ การดำเนินนโยบายทางการทหารจึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงภายในประเทศ เพราะมหาอำนาจเหล่านี้อาจเป็นทั้ง “มิตร” และ “ศัตรู” ที่ไทยต้องรู้จักวางตัวในการคบหาให้ดี เพราะการ “เลือก” ของไทยจะมาพร้อม “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ได้

ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน-มลายู คั่นกลางมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย รวมถึงการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement หรือ NAM) นี่จึงเป็นสิ่งเชื้อเชิญให้ “3 ม.” มหาอำนาจโลกพยายามโอบล้อมไทย เพื่อหาฐานที่มั่นในทางยุทธศาสตร์

อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองคือข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้ชาติมหาอำนาจแวะเวียนมาหาเราบ่อยครั้งขึ้น

เรื่องนี้ต้องมองกันยาวๆ!!