ขวัญ ‘วัฒนธรรมร่วม’ จีน-ไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จีน-ไทย มีทั้งส่วนที่เป็นวัฒนธรรมร่วม และส่วนที่ไทยรับจากจีน ซึ่งยากจะแยกว่าตรงไหนเป็นส่วนไหน? เช่น ขวัญ เป็นวัฒนธรรมร่วมจีน, ไทย และอุษาคเนย์ [อาจมีที่อื่นอีก] มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

ในความเข้าใจและความเชื่อของไทยสมัยก่อน คนแต่ละคนประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ [1.] ส่วนที่เป็นตัวตน เรียก มิ่ง คือ ร่างกายอวัยวะต่างๆ และ [2.] ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน เรียก ขวัญ คือ ไม่มีรูปร่าง

 

หยิน-หยาง ในขวัญของจีน

ถาวร สิกขโกศล อธิบายว่าคนจีนโบราณไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด [ตามพุทธศาสนา] แต่เชื่อว่าคนตายแล้วขวัญยังอยู่โดยมีสถานะเป็นเจ้าประจำวงศ์ตระกูล [คำจีนว่า “เจียสิน” เสียงแต้จิ๋วว่า “เกซิ้ง”] ขวัญของคนจีน มี 2 ประเภท อยู่รวมกัน ได้แก่

หุน [คำไทยว่า ขวัญ] เป็นฝ่ายหยาง หรือฝ่ายจิต มีความนึกคิด และมีอารมณ์ ซึ่งเป็นสมรรถนะทางจิต

พ่อ [แปลว่า ภูต] เป็นฝ่ายหยิน หรือฝ่ายกาย มีความเคลื่อนไหวทางกาย แต่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสมรรถนะทางกาย

เมื่อคนตกใจ หรือเจ็บป่วย ขวัญ 2 ประเภทจะออกจากร่างชั่วคราว ครั้นคนตาย ขวัญ 2 ประเภทออกจากร่าง โดยหุน (ขวัญ) จำญาติมิตรได้ แต่พ่อ (ภูต) ถ้าขาดหุนอยู่ด้วยจะกลายเป็นผีดิบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี

[สรุปจากบทความเรื่อง “ป้ายสถิตวิญญาณจากจีน สู่ราชสำนักไทย” ของถาวร สิกขโกศล ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 หน้า 161]

ในหนังสือ “ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน?” (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ.2562) ผมไม่ได้อธิบายเรื่อง “มิ่ง” เพราะยังไม่เข้าใจและรู้ไม่พอ หรือไม่รู้เรื่องเลยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องมิ่งและขวัญของจีน และเพิ่งพบคำอธิบายของ ถาวร สิกขโกศล เมื่อหนังสือ “ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน?” พิมพ์เสร็จเป็นเล่มขายแล้ว

ขวัญของจีนกับไทย

ไทย ว่า ขวัญ ส่วนจีน ว่า หวั่น [กวางตุ้ง] ฮุ้น [แต้จิ๋ว]

[จากหนังสือ ไทย-จีน ของ พระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93]

พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน เจีย แยนจอง [นักปราชญ์จีนเรื่องไท]

(จากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดยเจียแยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)

 

พิธีกงเต็ก

ความเชื่อเรื่องขวัญของจีน เป็นต้นเหตุให้มีประเพณีฝังศพแล้วขุดพบกองทหารดินเผาในสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ซึ่งเป็นต้นทางพิธีกงเต็ก ดังนี้

  1. เมื่อหัวหน้าเผ่าตาย บรรดาบริวารต้องถูกทำให้ตายแล้วฝังดินในหลุมศพเดียวกัน
  2. ต่อมาปั้นหุ่นคนแทนเหล่าบริวารที่เป็นคนจริง ฝังร่วมหลุมศพพระราชา
  3. สมัยหลังจากนั้นเผากระดาษแทนปั้นหุ่นคน แล้วเรียก “กงเต็ก” สืบจนทุกวันนี้

[สรุปจาก (1.) บทความเรื่อง “กงเต็ก” ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2542 หน้า 70 และ (2.) หนังสือ กงเต็ก พิธีศพชาวจีนแต้จิ๋ว ของ ธรรญาภรณ์ วงศ์บุญชัยนันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2550 หน้า 8-9]

 

“งันเฮือนดี” เปลี่ยนเป็น “สวดอภิธรรม”

งานศพตามประเพณีลาวในอีสานเรียกงันเฮือนดี มีการละเล่นสนุกสนานอย่างยิ่ง เช่น เล่านิทานโดยอ่านจากหนังสือผูกใบลานเป็นทำนอง (เรียก อ่านหนังสือ), เล่นดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลง ขับลำคำกลอน กับเล่นว่าเพลงโต้ตอบ ฯลฯ

งันเฮือนดี หมายถึง งานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่งด้วยการละเล่นเป็นมโหสพคบงันอึกทึกครึกโครม

งัน หมายถึง งานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่ง ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำนาทำไร่, ฯลฯ [มโหสพคบงัน กลายคำจาก มหรสพ หมายถึง การละเล่นหลายอย่างในงานฉลอง]

เฮือนดี น่าจะกลายจาก เรือนผี หมายถึงเรือนที่มีคนตายเพราะขวัญหาย

สนุกสนานงานศพ “งันเฮือนดี” สมัยดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ต่อไปข้างหน้าจะพัฒนาเป็นการละเล่นสวดลำของชาวบ้าน เรียกสมัยหลังว่าสวดคฤหัสถ์ ต่อมาพระสงฆ์เลียนแบบสวดลำของชาวบ้านในงานศพเลยถูกห้าม แล้วเปลี่ยนเป็นสวดพระอภิธรรม

พิธีกรรมหลังความตายเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญของจีน ทหารดินเผาในหลุมขุดค้นสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี [ภาพจากหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562]