เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ /ครูแสง

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ครูแสง

 

เมื่อฉบับที่แล้วผมเขียนถึงวันครู วันที่ 16 มกราคม โดยพูดถึงครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่เป็นครูทางด้านดนตรีไทยสากล มีลูกศิษย์ลูกหามากมายไปแล้ว ครูเอื้อเป็นหนึ่งในครูด้านศิลปะบันเทิง วงการที่ผมได้มีโอกาสทำมาหากินอยู่

ส่วนในวงการสถาปนิกที่ผมร่ำเรียนมานั้น มีครูอยู่ท่านหนึ่งที่ผมขออนุญาตเขียนถึงในเครื่องเคียงฯ ตอนนี้นะครับ

ครูคนนี้ชื่อ “ครูแสง” ครับ…ชื่อเต็มว่า แสงอรุณ รัตกสิกร

 

ตอนที่ผมและเพื่อนๆ ได้เข้าไปเป็นน้องใหม่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เมื่อปี 2521 อาจารย์แสงหรือครูแสงได้สอนพวกเรา 2 วิชา คือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และวิชาดรอว์อิ้ง หรือวาดรูปนั่นเอง

จำได้ว่าครั้งแรกที่พบกับครูแสง พวกเราแปลกใจในบุคลิกของครูมาก เพราะครูดูเป็นศิลปินที่น่าจะสอนที่ศิลปากรมากกว่าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่นี่อาจารย์คนอื่นจะใส่เชิ้ตผูกเน็กไทเรียบร้อย แต่ครูแสงแต่งกายด้วยชุดเสื้อซาฟารีสีน้ำเงินตัวโคร่งๆ ผ้าดูเก่าจากการใช้งานมานาน และสวมกางเกงสีดำ หรือไม่ก็ยีนส์

เสื้อและกางเกงไปกันได้ดีกับผมที่ยาวปรกต้นคอ และหนวดที่หนาอยู่เหนือริมฝีปาก

ครูแสงสวมแว่นหนา แต่พอจะเห็นดวงตาที่มุ่งมั่นมีพลังของครูได้เสมอ

ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ครูจะสอนด้วยการฉายสไลด์และบรรยาย ห้องจึงต้องมืด และเผอิญในห้องมืดที่ว่านี้ติดแอร์ เราจึงเรียนไปหลับไปด้วยความเย็นและความมืดที่ว่า

ไม่ได้หลับเพราะครูสอน ตรงกันข้าม ครูจะสอนอย่างมีพลังทุกครั้ง ครูจะพูดถึงสิ่งที่เห็นจากภาพที่ฉาย ซึ่งเป็นภาพจากประสบการณ์ของครูที่ได้ไปพบไปเห็นศิลปะและการออกแบบระดับโลกมาแล้ว

และครูก็ตั้งใจถ่ายทอดให้กับพวกเราทุกครั้ง

พวกเธอจะสร้างงานศิลปะได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจศิลปะอย่างลึกซึ้ง ถ้ามองไม่ออกอะไรคือความสวยความงามที่แท้จริง… ครูเคยบอกกับพวกเรา

และความงามที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในความเห็นของครูก็คือ “ธรรมชาติ”

 

ครูแสงเป็นคนที่รักธรรมชาติอย่างมาก ไม่ใช่รักอย่างเดียว แต่เคารพด้วยอย่างลึกซึ้ง

ในระหว่างการสอน ครูจะสอดแทรกความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติให้กับลูกศิษย์เสมอ ครูบอกว่า มนุษย์นั้นต่ำต้อยนักเมื่อเทียบกับธรรมชาติ ไม่เพียงแต่คำพูดคำสอน แต่ในชีวิตจริงและการกระทำ ครูแสงเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ครูเคยไปยืนทะเลาะกับนักการของจุฬาฯ ที่ตัดต้นไม้ออกอย่างน่าเกลียดมาแล้ว

ลูกสาวของครูบอกว่า เวลาว่างๆ ครูจะจับลูก-เมียขึ้นรถและขับออกไปต่างจังหวัด เพื่อไปพบกับธรรมชาติที่ครูรัก ในระยะทางที่ไปนั้นคนอื่นอาจจะขับแค่ 2-3 ช.ม. แต่ครูใช้เวลาครึ่งวัน เพราะแวะไปตลอดทาง บางทีเห็นต้นไม้ข้างทางสวยๆ ก็จะจอดรถลงไปดู ไปสัมผัส

และครูเคยจอดรถร้องไห้ เพราะเห็นการเผาป่าข้างทางมาแล้ว

หลายครั้งการเดินทางนั้นเหมือนไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ เพราะครูจะแวะไปดูต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในป่าลึก ซึ่งเป็นต้นที่คุ้นเคย เพื่อมาดูว่าสบายดีหรือไม่ เติบโตแตกกิ่งก้านไปอีกกี่มากน้อย

พวกเราเคยไปเที่ยวที่บ้านครูแถบสุขุมวิท ก็จะพบกับต้นไม้ขนาดใหญ่หนาแน่นเต็มพื้นที่ บนชั้นสองของบ้านที่มีระเบียงกว้างก็จะไม่มีขอบ ครูบอกว่ากวางในป่ายังไม่เคยตกเขาตกหน้าผาเลย ทำไมคนจะอยู่กับระเบียงเปิดที่ไม่มีขอบไม่ได้

ภรรยาครูบอกว่า ครูจะไม่ตัดต้นไม้ง่ายๆ บางกิ่งที่ทอดยาวเข้ามาทางหน้าต่างก็จะไม่ตัด ยอมเปิดหน้าต่างค้างไว้ ซึ่งบางครั้งก็มีงูแวะเวียนเข้ามาทักทายถึงในบ้าน

เรื่องความรักและเคารพธรรมชาตินี้ ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตใจของพวกเรา จนเมื่อจบการศึกษาออกมา ความคิดนี้ยังปลูกฝังอยู่ในลูกศิษย์หลายๆ รุ่น

 

จิก-ประภาส ชลศรานนท์ ได้เขียนเพลงให้วงเฉลียงไว้เพลงหนึ่งในอัลบั้ม “ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า” ชื่อเพลงก็ชื่อเดียวกันกับอัลบั้ม ที่ได้แรงบันดาลใจจากการซึมซับเรื่องของธรรมชาติและมนุษย์มาจากครูแสงนั่นเอง เพลงนี้มีเนื้อขึ้นต้นว่า

“จะมีครั้งไหนที่คนบนผืนบนแผ่นดิน โหดร้ายหัวใจทมิฬแผ่นดินถูกทำยับเยิน”

ครูแสงเองได้เคยเขียนข้อความไว้ว่า

“แผ่นดินที่ชอุ่มด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่น้อย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล คนมีเมตตาแม้ต่อไส้เดือน กิ้งกือ ข้าพเจ้าขอเกิดในแผ่นดินนั้น แม้ว่าจะต้องอยู่ในรูปสุนัข”

นั่นแสดงให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของครูได้ดี

ครูแสงเคยฝากผลงานการออกแบบให้กับอาคารรัฐสภาเก่าที่รื้อไปแล้ว โดยเป็นการออกแบบภูมิทัศน์ภายนอกและประติมากรรมรอบอาคาร ที่โดดเด่นคือผลงานที่อยู่ด้านหน้าอาคาร ที่เรียกว่า “ประติมากรรมรูปดอกไม้ทอง” ซึ่งทำจากเหล็กลอยตัวอยู่กลางสระน้ำ หากใครเคยเข้าไปคงจำได้

ไม่ว่าครูจะให้ที่มาของการออกแบบประติมากรรมรูปดอกไม้ทอง” ไว้สวยหรูอย่างไรก็ตาม แต่ลึกๆ แล้วครูได้สะท้อนความรู้สึกที่มีต่อ “นักการเมืองไทย” ทั้งหลาย ที่ล้วนมีพฤติกรรมเข้าขั้น “ดอกไม้ทอง” อย่างมาก

 

ครูได้จบชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในวัย 56 ปี นั่นคือเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ซึ่งหากครูยังมีอายุยืนยาวมาถึงตอนนี้ ครูต้องเจ็บช้ำน้ำใจกับนักการเมืองไทยยิ่งขึ้นกว่าเก่าอีก ลำพังแค่ดอกไม้ทองอาจจะยังไม่พอ

และครูก็คงต้องร้องไห้ให้กับธรรมชาติอีกไม่น้อย เพราะเหล่านักการเมืองผู้ทรงเกียรติทั้งหลายนั้นหาได้มีความรักและเคารพในธรรมชาติเหมือนครูไม่ ยังทำการรุกป่าโค่นต้นไม้ทำรีสอร์ตจนเขาหมดไปเป็นลูกๆ ยังมีข้าราชการที่ตัดต้นไม้เอามาสร้างที่พักให้พวกเดียวกันเองอยู่ ยังมีพ่อค้านายทุนที่ไม่สนใจดูแลรักษาแหล่งน้ำหากเอาของเสียปล่อยลงแม่น้ำ หรือสร้างบ้านจัดสรรขวางทางน้ำจนฉิบหายวายป่วง

และอาจจะยังมีความบัดซบที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติบนโลกใบนี้อีกมากมายที่ครูจะได้พบเจอ

ในโอกาสวันครูที่ผ่านพ้นไป ขอเคารพต่อจิตวิญญาณอันแน่วแน่ของครูแสงอรุณ รัตกสิกร ผู้นี้ตลอดไป