คนมองหนัง | “Kim Ji-young: Born 1982” “Dracula” และ “มือปืน/โลก/พระ/จัน 2”

คนมองหนัง

Kim Ji-young: Born 1982

หาก “บงจุนโฮ” บอกว่า “Parasite” คือความสืบเนื่องของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เกาหลีอันยาวนาน

เรื่องราวของ “Kim Ji-young : Born 1982” โดย “คิมโดยอง” ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ “โชนัมจู” ก็คงเป็นส่วนต่อขยายของสื่อบันเทิงเกาหลีร่วมสมัย (โดยเฉพาะซีรี่ส์) ที่มีแนวโน้มจะครุ่นคิดถึงประเด็นความกดดันของลูกผู้หญิง, ขบวนการ Me Too และสายสัมพันธ์ตึงเครียดในสถาบันครอบครัว อย่างหนักแน่นจริงจัง

หนังเรื่องนี้พาผู้ชมเข้าไปไตร่ตรองตรวจตรา “ประสบการณ์/บาดแผลร่วม” ของสตรีเกาหลีจำนวนมาก ตลอดจนอาการป่วยไข้ของสังคมเกาหลีในภาพรวม ที่สำแดงผ่านสภาพจิตใจอันผุพังอ่อนล้าของปัจเจกบุคคล/ตัวละครนำชื่อ “คิมจียอง”

เอาเข้าจริง “คิมจียอง” จึง “ถูกเข้าสิง” (เหมือนมุขตลกร้ายช่วงต้นๆ เรื่อง) ในความหมายที่ว่าเธอเป็นดัง “ร่างทรง” หรือ “ตัวแทน” ซึ่งทำหน้าที่หลอมรวมปัญหาต่างๆ ของผู้หญิงเกาหลี มาเก็บกักเอาไว้ภายในร่างกาย-จิตใจของตนเอง

ก่อนจะระเบิดมันออกสู่โลกภายนอก ณ ท้ายที่สุด

Dracula

“Dracula” ฉบับล่าสุด ถูกผลิตเป็นมินิซีรี่ส์ 3 ตอนจบ เพื่อเผยแพร่ในช่องบีบีซีของสหราชอาณาจักร และแพลตฟอร์มออนไลน์เน็ตฟลิกซ์

ผู้สร้างสรรค์และเขียนบทซีรี่ส์ (ซึ่งดัดแปลงจากผลงานการประพันธ์ของ “แบรม สโตกเกอร์”) คือ “มาร์ก เกทิสส์” กับ “สตีเวน มอฟแฟต”

ใน “Dracula” เวอร์ชั่นปี 2020 สองตัวละครนำอย่าง “แดร๊กคูล่า” และ “แม่ชีแวน เฮลซิง” ได้พาคนดูไปปะทะสังสรรค์กับ “ความรู้” ชุดต่างๆ อาทิ ตำนาน, ความเชื่อทางศาสนา มาจนถึงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อันรายล้อมความสัมพันธ์แบบกึ่งมิตรกึ่งศัตรูของทั้งคู่

ซีรี่ส์เรื่องนี้อธิบายพฤติกรรมดูดเลือด (และไม่ดูดเลือด) ของท่านเคาต์เอาไว้อย่างแปลกใหม่-น่าสนใจ ว่านั่นคือการ (เลือก) ประมวลกลั่นกรองอารมณ์ ความรู้สึก ความรู้ และภูมิปัญญา ที่สั่งสมกันมาของมนุษยชาติ/เหยื่อหลากยุคหลายสมัย

หากวัดกันที่ความสนุก ซีรี่ส์สองตอนแรกน่าจะตอบโจทย์นี้ได้ดี ขณะที่ตอนสุดท้ายอาจมีความบันเทิงน้อยกว่า แต่ก็มีทีเด็ดอยู่ตรงการตั้งคำถามกับมายาคติ/ความกลัว ที่หลอกหลอนครอบงำบรรดาผู้คนซึ่งพยายามศึกษาทำความเข้าใจในตัวตน “อมตะ” ของแดร๊กคูล่า

กระทั่งตัวท่านเคาต์เองก็ยังเข้าใจอะไรบางอย่างผิดพลาดไปเพราะมายาคติเหล่านั้น

มือปืน/โลก/พระ/จัน 2

แม้หนังเรื่องล่าสุดของ “ยุทธเลิศ สิปปภาค” จะไม่สนุกสนานลงตัวเท่าภาคแรก แต่ก็มีบางองค์ประกอบที่น่าสนใจและสมควรถูกกล่าวถึง

ข้อแรก คือ มุขแป้กต่างๆ ของตัวละครที่สวมบทโดย “แจ๊ส ชวนชื่น” อาจบ่งชี้ว่าสังคมไทยในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งทั้งเย็นชาและเต็มไปด้วยความแตกร้าวไม่ลงรอย นั้นไม่มีพื้นที่หลงเหลือให้แก่เรื่องตลก/อารมณ์ขัน อันเคยเป็นเครื่องมือเปี่ยมประสิทธิภาพในการเยียวยาจิตใจผู้คน หรือเคยเป็นพาหนะที่พาผู้คนหลีกหนีออกจากโลกความจริง

ข้อสอง ตัวร้ายซึ่งเป็นชาวต่างชาติ/เอเลี่ยน อาจไม่ได้สื่อความหมายว่า “ฝรั่ง/ตะวันตก” คือภัยร้ายคุกคามสังคมไทยตามแนวทางของหนังภาคแรก (ที่สร้างขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540)

แต่บุคลิกลักษณะของตัวละครรายนี้/กลุ่มนี้ อาจเน้นย้ำให้เห็นถึง “ความเป็นอื่น” ที่ดำรงอยู่ในตัวตนของผู้มีอำนาจ ผู้ครอบครองกำลังอาวุธ ตลอดจนพ่อของลูกๆ

เมื่อผนวกกับบรรยากาศแปลกประหลาดและเรื่องราวผิดฝาผิดตัวในหนัง “มือปืน/โลก/พระ/จัน 2”

จึงคล้ายจะเป็นสัมพันธบทของกลอน “ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว” ที่ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เขียนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน