เปลี่ยนผ่าน : FACEBOOK LIVE กับการทำงานของสื่อมวลชน

โดย เบญจพร ศรีดี

การทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ในสังคมปัจจุบันนี้ คงหลีกหนีไม่พ้นเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการทำงาน

เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่อย่าง “FACEBOOK LIVE” สื่อมวลชนหลายสำนักข่าวจึงต่างนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในยุคที่ต้องทำงานแข่งขันกันด้วยความเร็วเป็นหลัก

ถึงแม้ FACEBOOK LIVE จะเข้าถึงผู้ใช้ในสังคมออนไลน์ ด้วยการเผยแพร่ภาพข่าวเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วที่สุด แต่หลายคนก็มองว่าหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจเกิดผลเสียได้

 

จากการพูดคุยกับ นายฐิติพันธ์ เย็นใจ อายุ 44 ปี ช่างภาพอาวุโส สำนักข่าวไทย ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการทำงานถ่ายภาพข่าวโทรทัศน์มานานกว่า 23 ปี

นายฐิติพันธ์เล่าถึงการทำงานของสื่อโทรทัศน์ว่า รูปแบบการทำงานในอดีตก็ไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก แต่เครื่องมือจะแตกต่างกันมาก

สมัยก่อน กล้องจะมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก อย่างเช่น การถ่ายภาพด้วยระบบยูเมติก ที่กล้องกับเทปบันทึกภาพวิดีโอนั้นจะแยกจากกัน ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก โดยช่างภาพจะเป็นผู้สะพายกล้อง มีผู้ช่วยช่างภาพทำหน้าที่สะพายม้วนเทปอันใหญ่ โดยมีสายเชื่อมต่อกัน จึงต้องทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคี

เพราะเคยมีเหตุการณ์ช่างภาพกับผู้ช่วยไปถ่ายภาพตำรวจวิ่งไล่จับคนร้าย แต่ช่างภาพกับผู้ช่วยต่างคนต่างวิ่งไปคนละทิศทาง สุดท้ายก็ดึงกันหกล้มตกคันนาทั้งคู่

ก่อนจะมีการพัฒนามาใช้ระบบอะนาล็อก และระบบที่ทันสมัยขึ้น รวมถึงการ์ดในการบันทึกภาพที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และมีความคมชัดมากขึ้นด้วย

ส่วนวิธีการทำงานข่าวโทรทัศน์ในอดีตนั้น กว่าวิดีโอที่บันทึกภาพจะออกสู่สายตาผู้รับชมผ่านโทรทัศน์ ต้องใช้เวลานานมากเพราะช่างภาพจะต้องนำภาพกลับมาส่งที่สถานีข่าวของตัวเอง ส่วนวิดีโอภาพข่าวต่างจังหวัด ก็จะถูกส่งมากับรถทัวร์ หรือเครื่องบิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการขนส่งหลายชั่วโมง

แตกต่างกับปัจจุบันที่มีการส่งวิดีโอภาพข่าวผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทันที รวมถึงการถ่ายทอดสดที่มีความรวดเร็วมากขึ้นด้วย เนื่องจากในอดีตการรายงานข่าวสดแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องเป็นประเด็นที่สำคัญจริงๆ และจะต้องมีรถถ่ายทอดสด 1 คัน รถปั่นไฟ 1 คัน พร้อมทีมข่าวอีกกว่า 10 คน ทั้งช่างภาพ ผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศข่าว โปรดิวเซอร์ ตัดต่อภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ โดยทีมข่าวจะเป็นผู้ออกไปตระเวนเก็บภาพข่าวมาส่งที่รถถ่ายทอดสด แล้วมาตัดต่อโดยมีโปรดิวเซอร์เป็นผู้ควบคุม

ก่อนจะถ่ายทอดภาพใดๆ ออกสู่สายตาผู้รับชมผ่านจอโทรทัศน์

 

แต่ในปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ รวมถึง FACEBOOK LIVE ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอข่าว โดยใช้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ก็สามารถถ่ายทอดสดได้แล้ว

นายฐิติพันธ์ ในฐานะคนข่าว มองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีในด้านของความรวดเร็ว และไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการนำเสนอ สามารถถ่ายทอดสดยาวแค่ไหนก็ได้ ตามที่อุปกรณ์จะเอื้ออำนวย

แต่ก็มองเห็นผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะภาพวิดีโอที่ถูกถ่ายทอดออกไปนั้น เป็นการถ่ายทอดสด ทุกภาพที่ผ่านหน้าจอออกไปอาจจะไม่มีการกลั่นกรองก่อนการนำเสนอที่ดีพอ เช่น การถ่ายภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ หากขณะที่ถ่ายทอดสดอยู่แล้วเกิดภาพที่ไม่เหมาะสม หรือสยดสยองเกินไป ก็ไม่ควรนำเสนอ

สื่อมวลชนที่ใช้งาน FACEBOOK LIVE จึงควรมีสติกับภาพที่ถ่ายทอดสดออกไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะช่างภาพส่วนใหญ่ เวลาถ่ายภาพ สติมักจะอยู่กับภาพนั้นๆ จนอาจลืมเรื่องราวและความเหมาะสมไปได้ โดยหากมาเห็นความผิดพลาดในภายหลัง และพยายามลบภาพนั้นทิ้ง ก็คงสายเกินการณ์

ช่างภาพอาวุโส สำนักข่าวไทย ยังเห็นว่าการทำข่าวโทรทัศน์ คือการทำงานเป็นทีม แม้ว่าในปัจจุบัน นักข่าว 1 คน จะมีความสามารถในการใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพวิดีโอ และนำเสนอข่าวสารได้ในเวลาเดียวกัน แต่ก็ควรมีผู้ทำหน้าที่คัดกรองและตรวจสอบคุณภาพของการทำงาน

เช่นเดียวกับการถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE ก็ควรมีการกลั่นกรองเนื้อหาสาระที่ผู้ชมจะได้รับ ตลอดจนพิจารณาถึงความเหมาะสมของภาพที่นำเสนอออกไป เพื่อให้เกิดการทำงานแบบมืออาชีพและทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ถึงแม้ FACEBOOK LIVE จะมีจุดเด่นตรงความรวดเร็วเป็นหลัก แต่ภาพที่นำเสนอกลับเป็น “ภาพดิบ” และในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่สามารถปรุงแต่งภาพเหล่านั้นได้ ดังนั้น การถ่ายภาพของช่างภาพสื่อโทรทัศน์ กับการถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE จึงไม่สามารถมาแทนที่กันได้อยู่ดี

ทั้งในเรื่องมุมมอง คุณภาพ และองค์ประกอบของภาพ

 

ขณะที่ในแง่มุมของกฎหมาย การถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE ก็จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังหลายด้าน ทั้งเรื่องภาพและเสียงที่นำเสนอออกไป รวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของผู้ที่รับชม

พันตำรวจเอกโอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กล่าวว่า การถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE ก็คือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีกฎหมายควบคุม สื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไปที่ใช้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ทั้งภาพที่นำเสนอ เช่น ภาพเด็กและเยาวชน ภาพลามกอนาจาร เสียงที่เผยแพร่ หากพบว่าองค์ประกอบเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย อาทิ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550, กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือ ความผิดหมิ่นประมาท

ผู้ที่นำเสนอก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนสื่อมวลชนที่นำ FACEBOOK LIVE มาใช้ถ่ายทอดสด หรือรายงานข่าวต่างๆ หากมีการนำเสนอการแถลงข่าวโดยทั่วไป ผู้ที่แถลงข่าวก็จะต้องระมัดระวัง หากมีการพูดหรือการนำเสนอสิ่งใด ที่องค์ประกอบเข้าข่ายความผิด ก็จะต้องถูกดำเนินคดี ส่วนสื่อมวลชนอาจไม่ต้องรับผิดชอบร่วม แต่อาจจะต้องไปเป็นพยานในคดี

แต่ถ้าเป็นการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ไม่ใช่การให้สัมภาษณ์โดยทั่วไป แล้วเกิดการกระทำความผิดเผยแพร่ออกไป สื่อมวลชนที่เป็นผู้นำเสนออาจจะต้องรับผิดชอบร่วม หรือเป็นพยาน โดยเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาพฤติการณ์ของคดีนั้นๆ ว่ามีเจตนาอย่างไร เป็นเรื่องสุดวิสัย พ้นวิสัย ที่จะสามารถห้ามปราม ป้องกัน ได้หรือไม่

ที่สำคัญ ในระหว่างการถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE ผู้ที่รับชมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่อท้ายได้ทันที โดยหากพบข้อความ (คอมเมนต์) ใดที่ไม่เหมาะสมและเข้าข่ายการกระทำความผิด ผู้ที่ดำเนินการถ่ายทอดสดจะต้องรีบนำข้อมูลนั้นออกทันที หรือลบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ยังไม่มีมาตรฐานแน่ชัดว่า คอมเมนต์ที่ไม่เหมาะสมต้องถูกเผยแพร่อยู่บนหน้าเพจนานเท่าใด จึงจะถือว่าผู้ดำเนินการถ่ายทอดสดมีส่วนร่วมในการกระทำผิด

โดยเจ้าหน้าที่ต้องดูที่เจตนา ว่าเป็นการพ้นวิสัย หรือการกระทำประมาท เพราะตามกฎหมายแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผู้ที่เผยแพร่นั้นจะต้องเป็นผู้รับชอบ แม้ว่าผู้อื่นจะเป็นผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น แต่เราก็คือผู้เผยแพร่อยู่ดี

ฉะนั้น การถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดผ่าน FACEBOOK ส่วนตัว หรือเพจต่างๆ ที่มีผู้รับชมจำนวนมาก จึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก

ส่วนผู้สื่อข่าวที่นำเสนอข่าวสารโดยถ่ายทอดสดผ่าน FACEBOOK LIVE นอกจากจะต้องระมัดระวังในการถ่ายภาพต่างๆ และต้องติดตามตรวจสอบความคิดเห็นของผู้รับชม ไม่ให้เข้าข่ายการกระทำความผิด เพื่อป้องกันตัวเองแล้ว

ยังควรต้องกำหนดประเด็นข่าวสารที่จะนำเสนอออกไป ว่ามีความสำคัญหรือไม่ หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านใดบ้าง

รวมทั้งควรคำนึงถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และกฎระเบียบข้อบังคับในการเผยแพร่ภาพของสถานที่นั้นๆ ด้วย