วิเคราะห์ : สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของไทยรอบปี มีแต่แย่ลง ทำไม?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ประมวลภาพรวมสถานการณ์มลพิษประเทศไทยในรอบปี 2562 ตามคำแถลงของคุณประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปได้สั้นๆ ว่าสถานการณ์มลพิษประเทศนี้แย่ลง

ในคำแถลงแยกสถานการณ์มลพิษออกเป็นเรื่องๆ ตั้งแต่คุณภาพน้ำจืด น้ำทะเล คุณภาพอากาศ ไปจนถึงเรื่องขยะของเสีย

คุณภาพน้ำของแม่น้ำ 59 สายหลัก และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดีมากแค่ร้อยละ 2 เกณฑ์ดีร้อยละ 32 พอใช้ร้อยละ 48 เสื่อมโทรมร้อยละ 18

คุณภาพน้ำผิวดินในแต่ละภาคทั้งภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงเมื่อเทียบกับปี 2561

ภาคกลางเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่นๆ

5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ ลำตะคองตอนล่าง เจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ระยองตอนล่าง

 

คุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีมากเพียงร้อยละ 2 เกณฑ์ดี ร้อยละ 59 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 34 เกณฑ์เสื่อมโทรมร้อยละ 3 และเกณฑ์เสื่อมโทรมมากร้อยละ 2

พื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ได้แก่ เกาะล้าน จ.ชลบุรี บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง และอ่าวบางสนของเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันแม้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2562 แต่บริเวณอ่าวไทยตอนใน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน ยังเสื่อมโทรมมาก

สาเหตุเดิมๆ มาจากการปล่อยทิ้งน้ำเสียจากบ้านเรือน อุตสาหกรรม การเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีระบบจัดการของเสียระบายของเสียลงสู่แม่น้ำสายหลัก รวมทั้งระบบการจัดการน้ำเสียชุมชนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่สามารถรวบรวมน้ำเสียทั้งจากชุมชนโรงงานมาบำบัดได้

 

ด้านคุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไป มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหาคือ ฝุ่นละออง PM 2.5 ฝุ่นละออง PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561

พื้นที่กรุงเทพมหานคร เจอปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 หนักสุดจนต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งๆ ที่รู้ปัญหาว่ามาจากควันรถ แหล่งก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม แต่วิธีการแก้ปัญหากลับเชื่องช้า

ล่าสุดเพิ่งเข็นมาตรการสู้ฝุ่นพิษเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่รู้ว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่?

ส่วนพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนวันที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมากขึ้น จากเดิมในปี 2561 มีเพียง 34 วัน เพิ่มเป็น 59 วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 นับว่าสถานการณ์แย่ลงมาก

ขยะมูลฝอยทั่วประเทศเกิดขึ้นประมาณ 28.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3

ขยะที่ได้รับการคัดแยกเป็นขยะรีไซเคิลและขยะเอาไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เพียง 12.6 ล้านตัน หรือร้อยละ 44

 

สาเหตุปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ มาจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแฝงจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย การท่องเที่ยว และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่นิยมความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งสินค้าจากบริการสั่งซื้อออนไลน์สินค้าและบริการสั่งอาหาร

ปริมาณขยะมูลฝอยจึงเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 2 ล้านตัน นำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณแค่ 0.5 ล้านตัน

ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ของเสียอันตรายจากชุมชน จากการคาดการณ์เกิดขึ้น 648,208 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 421,335 ตัน และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ รวม 226,873 ตัน

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า การวางระบบการจัดการของเสียอันตรายชุมชน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีจุดรวบรวมในชุมชนและมีศูนย์รวบรวมในระดับจังหวัด ทำให้ของเสียอันตรายได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 104,526 ตัน หรือเฉลี่ยร้อยละ 16

แต่ในภาพรวมแล้วระบบการบริหารจัดการขยะถือได้ว่ามีประสิทธิภาพต่ำมาก

สาเหตุหลักๆ มาจากไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป ประชาชนยังขาดความตระหนักรู้ และ อปท.ไม่มีกฎระเบียบรองรับในการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป

รวมถึงยังไม่มีกฎหมายที่จะนำมากำกับดูแลให้ภาคเอกชนรับผิดชอบจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

กรมควบคุมมลพิษยังรายงานอีกว่า การจัดการมลพิษจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ มีการแจ้งรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษที่ระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่การใช้มาตรการเชิงบวกโดยการยกย่องชมเชยแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและเสริมสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสียในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการดูแลรักษาและปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ผลจากการดำเนินการใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษในปี 2562 รวมทั้งสิ้น 641 แห่ง

พื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 154 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 59 แห่ง ตรวจสอบพื้นที่คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 47 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 18 แห่ง สถานบริการ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 45 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 3 แห่ง

พื้นที่คลองเสื่อมโทรม กรุงเทพมหานคร ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 50 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 19 แห่ง

ที่น่าสังเกตคือ อาคารที่ทำการของทางราชการ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 162 แห่ง ปรากฏว่าปฏิบัติตามกฎหมายเพียง 47 แห่ง

นี่เป็นหน่วยงานราชการแต่กลับไม่สำเหนียกกับการบังคับใช้กฎหมาย

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ EEC ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 32 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 26 แห่ง

ผลการตรวจสอบแหล่งกำเนิดปฏิบัติตามกฎหมายมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น

กล่าวสรุป ภาพรวมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในด้านมลพิษยังย่ำแย่ และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะให้คนทั้งประเทศตระหนักรู้ว่าการร่วมกันรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ