เจาะลึก…วิกฤตภาษาไทย ปัญหาใหญ่ ศธ. เกาไม่ถูกที่คัน???

เป็นประเด็นให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องกุมขมับกันอีกครั้ง หลังสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2559 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสอบข้อเขียนหรืออัตนัย วิชาภาษาไทย ชั้น ป.6 …

โดย นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ออกมาเปิดเผยว่า จากการตรวจกระดาษคำตอบอัตนัย วิชาภาษาไทย ของเด็ก ป.6 เบื้องต้นพบว่า นักเรียนเขียนและใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ คำควบกล้ำ การใช้การันต์

เช่น แทรก เขียนผิดเป็น แซก, นะคะ เขียนผิดเป็น นะค่ะ ซื่อสัตย์ เขียนผิดเป็น ซื่อสัตว์ ภาพยนตร์ เขียนผิดเป็น ภาพยนต์

รวมถึงยังมีการใช้ภาษาวัยรุ่น คำสแลงในการตอบข้อสอบด้วย เช่น ชิวๆ แซ่บเว่อร์ เป็นต้น

ดังนั้น สทศ. ในฐานะผู้จัดสอบ จึงรับเป็นแม่งาน ขอให้กรรมการที่ตรวจข้อสอบรวบรวมคำที่เด็กมักเขียนผิด หรือใช้ผิดความหมาย เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างสำนึกให้แก่เด็กในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง

เชื่อว่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก และจะทำให้เด็กใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

“ก่อนที่ สทศ. จะออกข้อสอบและจัดสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย ป.6 ได้มีการรับฟังความเห็นของครูและผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทำให้ในข้อสอบต้องเขียนคำสั่งให้ชัดเจนว่า ให้นักเรียนเขียนคำตอบตัวบรรจง ครึ่งบรรทัด ด้วยภาษาไทยมาตรฐาน (ภาษาไทยกลาง) เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะข้อสอบนี้เป็นข้อสอบที่ใช้กับเด็กทั่วประเทศหลายแสนคน แต่ในการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนส่วนใหญ่อนุญาตให้เด็กใช้ภาษาถิ่น จนเด็กเกิดความเคยชิน เชื่อว่าจะมีเด็กใช้ภาษาถิ่นในการตอบข้อสอบ ซึ่งก็พบว่ามีจริงๆ ทำให้ที่เด็กที่ใช้ภาษาถิ่นในการตอบคำถามไม่ได้คะแนน”

นายสัมพันธ์กล่าว

 

นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บอกไว้อย่างน่าคิดว่า การใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง จะโทษเด็กเพียงอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง

สังคมปัจจุบันเน้นใช้การสื่อสารผ่านสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้เด็กไม่รู้ว่าคำไหนใช้ถูกหรือใช้ผิด

ขณะที่โรงเรียนและครูก็ไม่สอน การใช้ภาษาไทยกลางที่ถูกต้อง เน้นให้เด็กค้นหาข้อมูลและสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหลัก

ทั้งที่โดยหลักการแล้ว เราควรให้เด็กเริ่มเรียนรู้การใช้ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของเราก่อน จากนั้นค่อยไปสู่การเรียนรู้สังคมอื่น

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ แม้แต่ข้อสอบที่ออกมา ก็ไม่ได้ถามเนื้อหาที่เป็นความรู้ในวิชาภาษาไทย หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง

ดังนั้น หากจะแก้ไขเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยครั้งใหญ่

“การแก้ปัญหานี้ ผู้ใหญ่ใน ศธ. ต้องเริ่มขยับก่อน หัวใจสำคัญอยู่ที่ครู โรงเรียนและครูจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้น ทุกอย่างจะเสียไปหมด ซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเรียนแล้วสอบด้วย เพื่อประเมินว่า เด็กมีความรู้และสามารถใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่แน่ใจว่า ทุกวันนี้ในโรงเรียนยังมีการเรียนการสอนวิชาคัดไทย และเขียนไทยอยู่หรือไม่ หากไม่มีก็อยากให้ฟื้นเรื่องนี้กลับคืนมาในห้องเรียน อยากให้โรงเรียนกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ หากเราไม่ให้ความสำคัญ ทุกอย่างก็จะแกว่งและเสียไปหมด”

นางกาญจนากล่าว

 

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวคล้ายกันว่า ปัญหานี้เกิดจากคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ทางแก้ปัญหาควรจะเริ่มต้นที่โรงเรียน ซึ่งต้องบังคับให้เด็กอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เล่ม แล้วนำเนื้อหามาพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยน คิดวิเคราะห์เนื้อหาร่วมกัน จะทำให้การอ่านหนังสือมีความสนุก ไม่น่าเบื่อ

โดยทางโรงเรียนและครูจะต้องคัดกรองหนังสือให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย หากทำได้ตามนี้ เด็กไทยจะอ่านหนังสือได้อย่างน้อย ปีละ 50 เล่ม เมื่ออ่านสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะมีความรู้ที่หลากหลาย สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุ มีผล

รวมถึงจะส่งผลให้เด็กซึมซับการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ส่งผลให้สามารถเขียนหนังสือ และใช้ภาษาไทยกลางได้ถูกต้องไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนเคยเสนอเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ ศธ. ซึ่งตนคิดว่าไม่ต้องไปทำเรื่องอื่น เพราะไม่มีผลเท่าการส่งเสริมการอ่าน และต่อให้สร้างห้องสมุดมากมายแค่ไหน

หากไม่มีเด็กเข้าไปใช้หาหนังสืออ่าน ก็ไม่มีประโยชน์

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลการทดสอบด้านการศึกษาของประเทศ สะท้อนสมรรถนะการอ่าน เขียน และทักษะการใช้ภาษาไทยของเด็กปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ ศธ. เองก็ยังแก้ไม่ตก หรือเกายังไม่ถูกที่คัน…

คงต้องรอดูผลสอบวิชาภาษาไทย ชั้น ป.6 ที่จะออกมาอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้อีกครั้ง ว่า การใช้ภาษาไทยของเด็ก เข้าขั้นวิกฤตมากน้อยแค่ไหน

และครั้งนี้ ศธ. ซึ่งเป็นแม่งานหลักในการดูแลการจัดการศึกษาของประเทศ คงต้องวางแผน กำหนดแนวทางแก้ปัญหานี้ครั้งใหญ่ เพราะไม่ว่าจะพัฒนาประเทศไปได้ดีแค่ไหน

หากคนไทยยังใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าความเป็นไทย แบบผิดบ้าง ถูกบ้างแล้ว

อาจจะทำให้วัฒนธรรมอันดีงามด้านภาษาไทยสูญหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน…