เปิดศึกข้อมูล 7 สนช. “พรเพชร” มึน “ไอลอว์” งง พิสูจน์ ใคร? ไม่บ้าก็เมา!

หากเรื่องธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย เป็น “เผือกร้อน” ในมือรัฐบาล

กรณี 7 สนช. ก็เป็นเผือกร้อนในมือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

เป็นเช่นนั้น เพราะไม่เพียง นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา จะแสดงความเห็นตรงไปตรงมา “ถ้าผมเป็นประธาน สนช. ตอนนี้ ก็จะขอลาออก”

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วย นายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.

ให้เอาผิด สนช. ทั้ง 7 คน

รวมถึง นายพรเพชร และ นางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. ฐานอนุมัติใบลาประชุมจำนวนหลายพันใบโดยไม่ตรวจสอบ

กรณี 7 สนช. ยังมีลักษณะการแกล้งมึน ต่อข้อมูลของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ อันเป็นต้นเรื่องทั้งหมดอีกด้วย

ย้อนกลับไปดูข้อมูลไอลอว์ ซึ่งนำสถิติเข้าประชุมเพื่อ “ลงมติ” ใน 2 ช่วงเวลามาเปิดเผย คือ ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2559 และวันที่ 1 เมษายน – 29 มิถุนายน 2559

อันเป็นเวลาช่วงละ 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 9 (5) บัญญัติไว้

“ถ้าสมาชิกไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม ให้สมาชิกภาพการเป็น สนช. สิ้นสุดลง”

และตามข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อที่ 82

“สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน ให้สมาชิกสภาพสิ้นสุดลง”

พบว่าสมาชิกอย่างน้อย 7 คน มาลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แต่ละรอบ อาจเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพได้ ยกเว้นว่ายื่นใบลา

 

หากถามถึงบทบาท นายพรเพชร วิชิตชลชัย ต่อกรณี 7 สนช. เป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าทำหน้าที่อย่างยอดเยี่ยม ไม่เสียแรงที่ คสช. มอบความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธาน สนช.

ถึงจะมีชื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปรากฏเป็น 1 ใน 7 สนช. แต่ภายใต้การดูแลของนายพรเพชร ก็น่าจะทำให้ใครบางคนวางใจเป็นอย่างยิ่ง

“ไม่บ้าก็เมา” คือข้อสรุปที่นายพรเพชรตอบโต้ไอลอว์ ที่นำเสนอข้อมูล 7 สนช. ขาดลงมติเกินที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม สนช. กำหนด

นายพรเพชร หยิบยกข้อมูลอีกชุดขึ้นมาหักล้าง

ว่าจากการตรวจสอบในปี 2557 มีการประชุม 33 ครั้ง ปี 2558 จำนวน 76 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 84 ครั้ง และปี 2560 เพิ่งประชุมไป 11 ครั้ง รวม 4 ปี 204 ครั้ง

จึงเป็นไปไม่ได้ที่มีสมาชิกขาดประชุม 400 วัน และประธานอนุญาตให้ลาประชุม 394 วัน

“ไปเอาตัวเลขมาจากไหน ถ้าผมทำอย่างนั้นก็บ้าแล้ว สมควรตาย” ประธาน สนช. ระบุ

ไม่ใช่แค่นายพรเพชร ไอลอว์เองก็น่าจะมึนเช่นกัน

เพราะข้อมูลที่ไอลอว์นำมาเปิดเผย ไม่ได้กล่าวถึงจำนวน “วันเข้าประชุม” แต่กล่าวถึงจำนวน “การลงมติ”” ในช่วงเวลา 2 รอบ รอบละ 90 วัน

นอกจากนี้ การที่สำนักงานเลขาธิการ สนช. ส่งหนังสือชี้แจงมายังไอลอว์ ก็รู้ว่าเป็นการกล่าวถึงการลงมติต่อรอบ 90 วัน ไม่ใช่การขาดประชุม

เพื่อความโปร่งใส ไอลอว์ยังเรียกร้องให้ประธาน สนช. ตรวจสอบและเปิดเผยการลงมติย้อนหลังและก่อนหน้าของสมาชิกทุกคน เพิ่มเติมจากกรอบที่ตรวจสอบไปเบื้องต้น

รวมทั้งเปิดเผยจำนวนการลาและใบลา ให้สื่อและประชาชนร่วมตรวจสอบ

เพราะเชื่อว่าจะมีสมาชิก สนช. มากกว่า 7 คน ที่ขาดการลงมติ จนอาจสิ้นสุดสมาชิกสภาพได้

 

ความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในประเด็น 7 สนช. จะโดย “ตั้งใจ” หรือ “ไม่ตั้งใจ” ก็ตาม

ไม่ได้สะท้อนผ่านคำให้สัมภาษณ์ของ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เท่านั้น ยังสะท้อนผ่านคำแถลงของ นางวรารัตน์ อติแพทย์ ในฐานะเลขาธิการ สนช.

นางวรารัตน์กล่าวว่า จากสถิติการลงมติในรอบปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2559 มีจำนวนลงมติ 1,264 ครั้ง สมาชิกต้องลงมติไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 421 ครั้ง

ซึ่งผลตรวจสอบพบว่า มีสมาชิก 4 ใน 7 คนตามที่ไอลอว์ระบุ ลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 จริง แต่เนื่องจากลาประชุมถูกต้อง จึงไม่นับว่าขาดลงมติ

สมาชิกทั้ง 4 คือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. ลงมติ 398 ครั้ง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 214 ครั้ง พล.ร.อ.ณะ อารีกิจ ผบ.ทร. 230 ครั้ง และ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผอ.สำนักงบประมาณ 387 ครั้ง

อีก 3 คนที่ลงมติเกิน 1 ใน 3 ได้แก่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกลาโหม ลงมติ 428 ครั้ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ 656 ครั้ง และ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีต เสธ.ทร. 646 ครั้ง

ข้อมูลตรวจสอบดังกล่าวนำมาสู่การแถลงของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมการวิสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. อีกทอดหนึ่ง ยืนยันว่าสมาชิก สนช. ทั้ง 7 ยื่นลาและได้รับอนุมัติถูกต้อง

ดังนั้น การลงมติจึงไม่ได้นับเพราะถือว่าลาแล้ว เป็นไปตามข้อบังคับของ สนช.

แต่ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงข้อมูลการลงมติของ 7 สนช. ตามที่สำนักงานเลขาธิการ สนช. นำมาชี้แจง เป็นข้อมูลสถิติตัวเลขในรอบ 1 ปี

เป็นคนละสถิติตัวเลขที่ไอลอว์นำมาเปิดเผยตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 82 กำหนดให้สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมเกินกว่า 1 ใน 3 ในรอบเวลา 90 วัน ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ เว้นแต่ได้ยื่นใบลา

เมื่อฝ่ายหนึ่งวัดจากรอบ 1 ปี แต่อีกฝ่ายวัดจากรอบ 90 วัน

ผลนับจำนวนการลงมติของ 7 สนช. จึงไม่ตรงกัน

 

เมื่อฟังจากคำให้สัมภาษณ์และถ้อยแถลง ไม่ว่าจากประธาน สนช. เลขาธิการ สนช. หรือโฆษกวิป สนช.

ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากว่าผลสอบของคณะอนุกรรมการแสวงหาพยานพลักฐานที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ตั้งขึ้น จะออกมาว่า

7 สนช. ทำถูกต้อง ไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุด

แต่สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในการทำให้ผลออกมาเช่นนั้น ควรเก็บไปคิด คือคำพูดของ นายพิชัย รัตตกุล

แม้จะมีข้อบังคับ สนช. กำหนดให้ขาดการลงมติเท่าไหร่ก็ได้หากยื่นใบลา แต่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมายไปบังคับใช้ในสังคม ต้องมีความรับผิดชอบ ยึดหลักการทำหน้าที่ตามกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดีกว่าอยู่ทำหน้าที่ต่อไปภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ศักดิ์ศรี