เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | อาวุธคือพรของพรหม

ศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นชื่อควบรวมด้วยสองคำคือพราหมณ์กับฮินดู

ผู้รู้ว่าพราหมณ์ก็คือพรหม ที่หมายถึงสภาวะที่ไร้สภาวะ อันเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง

ส่วนฮินดูว่ากลายมาจากคำสินธุ อันเป็นชื่อของลุ่มน้ำที่ชาวอารยันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย เมื่อราว 3,500 กว่าปีมาแล้ว

คำว่าพรหมเป็นภาษาสันสกฤต มีในคัมภีร์อุปนิษัทว่า พรหมมีสองลักษณะคือ พรหมที่มิอาจใช้คำพูดอธิบายได้ กับพรหมที่สามารถใช้คำพูดอธิบายได้

พรหมที่มิอาจอธิบายได้ด้วยคำพูด ตรงนี้ตรงกับเต๋าของจีน เซนของญี่ปุ่น และสุญตาของพุทธ

ก็คือ สุญตาความว่าง นี่เอง

พรหม ในความหมายนี้จึงสำคัญยิ่ง

คัมภีร์อุปนิษัทมีข้อความในฉานโทคยะอุปนิษัทเปรียบเทียบด้วยเรื่องเล่าดังนี้

“ไปเก็บเอาผลไม้ของต้นไทรมาสิ”

“นี่ครับพ่อ”

“บิมันออกสิ”

“ผมบิมันออกแล้วครับพ่อ”

“เจ้าเห็นอะไร”

“เห็นเมล็ดเล็กๆ ครับพ่อ”

“บิเมล็ดเล็กๆ นั้นเมล็ดหนึ่งสิ”

“ผมบิเมล็ดหนึ่งแล้วครับพ่อ”

“ทีนี้เจ้าเห็นอะไร”

“ไม่มีอะไรเลยครับพ่อ”

พ่อจึงพูดว่า

“สิ่งที่เจ้าเห็นว่าไม่มีอะไร นั่นแหล่ะคือแก่นแท้ของเมล็ดนั้น และในแก่นแท้นั่นแหละมีต้นไทรใหญ่ จงเชื่อพ่อเถอะลูก ในแก่นแท้นั้นคืออาตมันของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ นั่นคือสิ่งที่จริงแท้ นั่นคืออาตมัน และเจ้าเองก็คืออาตมันนั่นแหละเศวตเกตุ”

ข้อความบทสนทนานี้คัดมาจากหนังสือ “ความรู้ศาสนาเบื้องต้น” จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ.2562

ความหมายของ “พรหม” ในที่นี้เป็นความหมายเดียวกับคำเต๋า เซน และสุญตา ดังกล่าวอันมิอาจอธิบายได้ด้วยคำพูด เพราะมันคือความว่าง เป็นความว่างก่อนจะบังเกิดมีอะไรเป็นอะไร

ที่อธิบายว่า พรหมคืออาตมัน อันหมายถึงตัวตนนั้นก็อาจหมายถึงการสมมุติ เรียกความว่างว่าเป็น “ตัวความว่าง” นั้นเอง

แง่เงื่อนตรงนี้สำคัญนัก

เพราะจากแง่เงื่อนนี้ ถูกใช้นำมาขยายความทั้งเพื่อประโยชน์แก่ความเข้าใจ และเพื่อประโยชน์แก่การนำไปปฏิบัติเป็นหลักธรรมในศาสนาตามลัทธินิกายต่างๆ ต่อไป

เช่น พุทธะ หมายถึง “สุญตา” ในความหมาย “อนัตตา” คือ “ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตน” โดยมิได้ปฏิเสธถึงความมีอยู่ของอัตตาหรืออาตมันนั้น

เช่นกันกับปรัชญาเต๋าที่เปรียบว่า “ความว่างของชามคือประโยชน์ของชาม ความว่างของห้องคือประโยชน์ของห้อง” เต๋าไม่ปฏิเสธถึงความ “มีอยู่ของความว่าง” หากมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของความว่างเป็นสำคัญ

เซนก็เช่นเดียวกัน คือเน้นที่การ “ประจักษ์รู้” ในตน ก่อนจะ “เป็นตน” อันปรุงแต่งดังยึดมั่นถือมั่นกันอยู่นี้

พรหมในความหมายสูงสุดก็เป็นเช่นนี้ คือมิอาจอธิบายด้วยคำพูดใดได้ เพียงกำหนดสมมุติว่าเป็น “อาตมัน” เพื่อประจักษ์ไว้เท่านั้น

คำพูดเป็นสมมุติสัจ คือ เป็นสิ่งสมมุติแทนสภาวะอันเป็นจริงเพื่อกำหนดรู้เป็นสำคัญ

สิ่งกำหนดรู้กลายเป็นเหตุของความเชื่อแล้วขยายผลเป็นการปฏิบัติ เป็นรูปแบบพิธีกรรมนานา กลายเป็นระบบกระบวนการ กระทั่งกลายเป็นลัทธิและองค์กร เป็นศาสนาที่รวบไว้ซึ่งวัฒนธรรม อารยธรรม ของสังคมนั้นๆ ขึ้นมา

ดังที่เห็นและเป็นอยู่

อย่างไรก็ดี ศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้นถือเป็นฐานของพุทธศาสนามาแต่เดิม ขณะพราหมณ์อธิบายหลักธรรมด้วยองค์อาตมันเป็นสำคัญ แต่พุทธอธิบายหลักธรรมขยายผลจากอาตมันหรืออัตตาให้เป็นอนัตตาอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยไม่ทิ้งฐานเดิม

ดังเช่นพุทธอธิบายว่าธรรมของพรหมคือพรหมวิหารสี่ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

พราหมณ์ฮินดูอาจดูความหมายของพระเทวพรหมได้จากอาวุธทั้ง 8 กร ดังนี้

1. คทา ความเที่ยงตรง

2. จักร การเวียนว่ายตายเกิด

3. ลูกประคำ การคิดทบทวน

4. สังข์ ใช้ประกอบพิธีกรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

5. หม้อน้ำ การภาวนา ทำสมาธิให้รู้จักตนเองว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร ชีวิตเกิดมาดับไปเป็นอย่างไร

6. ตำรา การเปิดความรู้ใหม่ การพิจารณาความรู้ การศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ

7. แว่นสุริยะ การมองไปในอนาคตเพื่อให้เกิดความไม่ประมาท

8. มือแตะที่หน้าอก หมายถึง การรู้จักตนเอง รู้จักหน้าที่

การไหว้พระพรหม เปรียบเสมือนการไหว้อาวุธ 8 ประการของพระพรหม หรือพรหมวิหาร 4 ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดกิเลสออกจากร่างกายและจิตใจ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

หลักปฏิบัติของแต่ละศาสนานั้นมีต่างกันไปนานา แต่หลักคิดลึกๆ ที่เป็นหลักธรรมแท้นั้นมักไม่ต่างกันเลย

แทบทุกศาสนา