เปลี่ยนผ่าน : สนทนากับ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ความแปรเปลี่ยนของ “สองนครา”

โดย พลวุฒิ สงสกุล

 

มติชนทีวีนัดพูดคุยกับ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ซึ่งในบทบาทนักวิชาการ เคยเสนอแนวคิด “สองนคราประชาธิปไตย” อันลือลั่น และยืนยงข้ามกาลเวลา

ตลอดจนบริบทการต่อสู้ทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา หลังวาระรำลึก 24 ปี เหตุการณ์ “พฤษภาคม 2535” อันถือเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดดังกล่าว

ลองรับฟังทัศนะของเอนกดูว่า ในปัจจุบันแนวคิดของเขายังใช้อธิบายสังคมการเมืองไทยได้อยู่หรือไม่?

และสถานการณ์ทางการเมืองไทยร่วมสมัยคลี่คลายไปสู่จุดใดแล้ว?

 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชนชั้นกลางเคลื่อนไหวออกมาล้มรัฐบาล?

ตอนยุคพฤษภาคม 2535 คนไทยจำนวนหนึ่งก็จะเข้าใจว่าชนชั้นกลางเท่านั้นที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนปัจจุบันก็เกิดความรู้สึกในเสียงส่วนหนึ่งของสังคมว่า ชนชั้นกลางเป็นพวกสนับสนุนเผด็จการ สนับสุนการยึดอำนาจ เป็นฐานรองรับทหาร ก็มองชนชั้นกลางในทางลบ

แต่จริงๆ ชนชั้นกลางก็มีทั้งบทบาทที่เป็นประชาธิปไตย และบทบาทที่แก้ไขประชาธิปไตย รวมทั้งบทบาทที่ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้ามองจากสายตาของอีกฝ่ายหนึ่งก็คือล้มรัฐบาลประชาธิปไตย มันก็มีบทบาทแบบนี้

ทีนี้อะไรที่เป็นตัวกำหนด ก็เป็นเรื่องความคิด จิตสำนึก และก็เรื่องความเข้าใจต่อการเมือง เข้าใจต่อประชาธิปไตยของชนชั้นกลางไทยด้วย

ซึ่งผมก็ได้พูดไปในหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่พูดหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในช่วงปี 2537-2538 ว่าชนชั้นกลางก็อย่าไปคิดว่าตนเองเป็นคนมีการศึกษา เข้าใจประชาธิปไตยถูกและดีกว่าชนชั้นล่าง และไปมองชนชั้นล่างเป็นพวกที่ไม่รู้อะไร เป็นพวกที่คล้อยตามเสียงของการอุปถัมภ์และเงิน

ตอนนั้น ผมก็ได้เสนอประเด็นซึ่งขัดหูคนในสมัยนั้นว่า “ประชาธิปไตยไทย” เอาจริงๆ มันมี “2 ฉบับ” คือ “ฉบับของชนชั้นกลาง” และ “ฉบับของชนชั้นล่าง” ซึ่งทั้งสองแบบอย่าไปมองว่าใครผิดใครถูก ต้องพยายามผสานกัน ปรองดองกัน

เพราะฉะนั้น ผมพูดเรื่องปรองดองมาตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว ไม่ได้เพิ่งมาพูดหรือมาทำช่วงเหลืองกับแดงเท่านั้น และการเมืองอย่าไปหามากนักว่าใครผิดใครถูก มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูป มันต้องโน้มเข้าหากันด้วย

ผมก็แนะให้ชนชั้นกลางต้องเข้าใจสังคมวิทยาของชนบท ต้องมองให้เห็นว่าทำไมคนชนบทจึงคิดอย่างนั้น อย่าไปมองง่ายๆ ว่าเพราะเขาไม่มีการศึกษา ส่วนคนชนบทก็ต้องเห็นใจชนชั้นกลาง อย่าไปคิดแต่ว่าชนชั้นกลางเป็นพวกน้อยนิดหยิบมือเดียว และเป็นพวกเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง

ชนชั้นกลางก็มีอะไรที่คิดถึงชาติบ้านเมืองอยู่ด้วย ไม่ได้เป็นผู้ร้าย หรือผู้ครองอำนาจ

 

ถ้าพูดว่าปัญหาของประชาธิปไตยไทยตอนนี้ คือชนชั้นกลางไม่พยายามเข้าใจชนชั้นล่าง จะพูดอย่างนั้นได้หรือไม่?

ชนชั้นกลางทั่วไปคงไม่คิดว่าจำเป็นจะต้องศึกษาให้เข้าใจชนชั้นล่าง เขาก็มีสูตรสำเร็จของเขาคือทำให้ชนชั้นล่างมีการศึกษาและทุกเรื่องจะจบเอง

ซึ่งอันนี้ก็น่าเป็นห่วง ถ้าชนชั้นล่างยังจะเป็นชนชั้นล่างอยู่อีกนาน แต่จะไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ถ้าชนชั้นล่างจะกลายเป็นชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวลูกหลานชนชั้นล่างก็คิดคล้ายๆ ชนชั้นกลางแล้ว

คือปัจจุบัน ชนชั้นล่างในประเทศไทย จะเป็นชนชั้นล่างไปอีกไม่นาน เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมันโตไปเรื่อยๆ ชนบทกำลังเปลี่ยนเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง การศึกษาที่เปิดกว้าง ใครๆ ก็จบปริญญาตรี/โท เป็นเรื่องปกติแล้ว และที่ตั้งของประเทศไทยมันเอื้อให้กับการท่องเที่ยว

พูดง่ายๆ คือเศรษฐกิจสังคมไทยมันยังเติบโตไปได้เรื่อยๆ มันยังไม่ตัน เพราะฉะนั้น เมื่อมันไม่ตัน มันเป็นแนวโน้มของประเทศที่มันพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ภาคชนบทและชนชั้นล่างมันจะลดลงไปเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าชนชั้นกลางด้วยกันจะไม่ทะเลาะกัน แต่มันก็ขัดแย้งแบบที่ชนชั้นกลางขัดแย้งกัน แต่จะไม่ใช่ที่ชนชั้นล่างขัดแย้งกับชนชั้นกลาง อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่คนที่คิดจากกรอบเดิมจะมองไม่ค่อยเห็น

ผมได้พูดไปตอนที่มีม็อบ กปปส. ว่าในประเทศไทย ขบวนการมวลชนมันไม่ได้ผูกขาดโดยชนชั้นล่างอย่างเดียว

เพราะดูขบวนแถวของ กปปส. ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นกลาง ขบวนแถวมันก็ใหญ่มากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ชนชั้นกลางก็เป็นมวลเหมือนกัน มันไม่ใช่คนจนเท่านั้นที่เป็นมวล

และตอนหลังก็มีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาพูดตรงกันว่า มันไม่มีชนชั้นล่างโง่เง่าบ้านนอกเหลืออีกแล้ว มันกลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง เพราะฉะนั้น ถ้าความขัดแย้งมันจะมีต่อไป ก็คือระหว่างชนชั้นกลางระดับล่างกับชนชั้นกลางที่มั่นคงแล้ว หรือความขัดแย้งของชนชั้นกลางด้วยกันในอนาคต

แต่ผมไม่มองว่าปัญหาความขัดแย้งจะอมตะนิรันดร์กาล ผมว่าไม่ ที่ว่าไม่ ไม่ใช่ว่าเราคิดได้ดีคิดได้ถูก แต่เพราะว่าความจริงของสังคมมันเปลี่ยนไป ความขัดแย้งแบบนี้มันจะคลี่คลายไป แต่มันจะมีแบบอื่นขึ้นมาได้

 

อะไรเป็นปัจจัยหลักให้ชนชั้นกลางออกมาเคลื่อนไหว ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เห็นคุณค่าประชาธิปไตย หรือไม่ชอบนักการเมืองในเวลานั้น?

อันนี้มันก็คงจริงทั้งหมด คือชนชั้นกลางไม่พอใจนักการเมือง ไม่พอใจระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ แต่มันก็สะท้อนเหมือนกันว่าคนที่อยู่ในที่สูง คนที่อยู่ในอำนาจ หรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตามไม่ค่อยทัน จัดการไม่ค่อยได้กับชนชั้นกลาง และภายหลังก็รวมถึงชนชั้นล่างด้วย มันก็เลยเป็นอย่างนี้

การเมืองไทยไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำอย่างเดียวหรอก ถ้าถูกกำหนดโดยชนชั้นนำอย่างเดียว มันไม่มีการยึดอำนาจ มันไม่มีการล้มอะไรหรอก การเมืองไทยมันถูกกำหนดโดยชนชั้นกลาง ระยะหลังมันถูกกำหนดโดยชนชั้นล่างด้วย

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ การเมืองไทยในเครื่องหมายคำพูดคือ “ก้าวหน้า” มันไม่ใช่การเลือกตั้งเท่านั้นที่กำหนด ไม่ใช่ขึ้นมาได้อำนาจจากการเลือกตั้ง แล้วก็จะสบายใจว่าไม่มีใครมาจัดการกับผมได้ ไม่ใช่ว่ายึดอำนาจโดยทหารและก็สบายใจว่าไม่มีใครมาไล่ผมได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น (หัวเราะ)

คนไทยเวลายอมก็ยอม เวลาไม่ยอมก็ไม่ยอม และก็ไม่กลัวตายด้วย ผมก็เห็นไม่กี่ประเทศ ที่ตายมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง

ถ้ามองบริบทปัจจุบัน มีโอกาสที่จะซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือไม่ ที่ชนชั้นกลางลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง?

ยังไม่ค่อยเห็น

 

ชนชั้นกลางยังพอใจรัฐบาล คสช. หรือกลัวว่านักการเมืองที่ไม่ชอบจะกลับมา?

ก็พอจะเป็นไปได้ รวมทั้งอาจจะกลัวทหารด้วย (หัวเราะ) มันหลายๆ อย่าง มันยังบอกไม่ได้ ตอบยาก

แต่เหตุการณ์สำคัญของการเมืองไทยมันไม่เคยมีใครทายได้ 14 ตุลาคม 2516 มันเกิดวันที่ 14 แต่วันที่ 1 ตุลาคม ถ้ามีคนมาถามผมว่าเมืองไทยจะเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลา หรือไม่ ผมก็จะตอบว่าเป็นไปไม่ได้ คนไทยกลัวจะตาย คนไทยกลัวทหาร คนไทยอย่างนั้นอย่างนี้ร้อยแปด

แต่แล้วมันก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ห่างกัน 14 วันเท่านั้น ตอนพฤษภาทมิฬ ตอนที่มีม็อบเกิดขึ้นหลายแห่งรวมทั้งที่ ม.ธรรมศาสตร์ ด้วย ผมยังไม่คิดเลยว่าจะกลายเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่ขนาดนั้น และก็ตายกันขนาดนั้น

การเมืองไม่เหมือนอะไรอย่างอื่น ปัจจัยมันเยอะ แต่ปัจจัยที่แน่นอนคือต้องให้มันรู้จักพอดีพอเหมาะ เมืองไทยมันยากที่ใครจะมีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว แต่ฝ่ายเดียว แต่พวกเดียว

สังคมและเศรษฐกิจมันทำให้อำนาจจริงๆ อยู่กับหลายมือมาก เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตาม คุณมั่นใจตัวคุณเองมากๆ เมื่อนั้นเริ่มจะเป็นลางสังหรณ์ที่ไม่ดี

แต่ถ้าคุณยังสนใจสร้างมิตรสร้างพวก และลดการคุยในหมู่ตัวคุณเองลงบ้าง ไปคุยกับกลุ่มอื่นๆ บ้าง อันนี้คุณมีแนวโน้มจะยั่งยืนสักหน่อย แต่ถ้าคุณคุยกันเองมากเท่าไหร่ มันจะยิ่งชัดขึ้นเท่านั้น แต่มันมักจะผิด เพราะว่าอำนาจมันอยู่กับหลายมือ คุณไม่รู้ว่ามืออื่นๆ เขาคิดอย่างไร

และเรื่องการเมือง เวลาคุยกันเองมันสนุก ช่วงหลังเลือกตั้ง พวกลูกพรรคจะรีบมารายงานหัวหน้ากันทันที ชนะแน่ครับหัวหน้าครับ เขตนั้นเราก็ชนะ เขตนี้เราก็ชนะ หัวหน้าพรรคบางคนไปนับรวมแล้ว พรรคเรามันได้เกินเก้าอี้ในสภาไปแล้วนะ (หัวเราะ)

เพราะฉะนั้น ผมก็ฝากในฐานะคนที่เคยทำอะไรมาพอสมควรว่าอย่าไปคุยกันเองมากนัก พยายามไปคุยกับคนอื่นๆ เขาบ้าง และก็ต้องสร้างอะไรที่มันไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างมันกลับไปเหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

ฝ่ายที่หลุดไปจากอำนาจ ก็อย่าไปคิดว่ามันจะกลับไปมีอำนาจได้แบบเดิม เหมือนก่อนยึดอำนาจ มันไม่กลับหรอก มันจะต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ แต่ละครั้งๆ ต้องปรับสมดุล

การเมืองไทยจึงไม่ใช่การเมืองที่เล่นง่าย ต้องฉลาดรอบรู้ ซึ่งเขาก็ปรับปรุงแก้ไขมาได้ แต่มันยังไม่ค่อยทันกับกระแสสังคม