อำลาอาลัย ‘John Baldessari’ เจ้าพ่อแห่งศิลปะคอนเซ็ปช่วล ชายผู้แต้มจุดกลมลงบนใบหน้าผู้คน

เมื่อต้นปี 2020 นี้ ศิลปินคนสำคัญผู้หนึ่งของวงการศิลปะเพิ่งอำลาจากโลกนี้ไป

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า จอห์น บัลเดสซารี่ (John Baldessari)

ศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวอเมริกันที่ได้รับการยกให้เป็น “เจ้าพ่อแห่งศิลปะคอนเซ็ปช่วล” (Godfather of Conceptual Art) ผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงจากการทำงานสร้างสรรค์หลากสื่อหลายแขนงที่เปิดหนทางใหม่ๆ ให้กับวงการ และมีบทบาทอย่างมากต่อพัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยจนกลายเป็นอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

เดิมทีในช่วงต้นยุค 1960 บัลเดสซารี่เริ่มต้นเส้นทางศิลปะด้วยการทำงานจิตรกรรมนามธรรมที่เน้นในการแสดงพลังความเคลื่อนไหวของสีสันเส้นสายและฝีแปรง

แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 60 เขาเริ่มต้นทำงานที่ใช้ภาพถ่ายเก็บตกและถ้อยคำลงไปบนผืนผ้าใบ เพื่อตั้งคำถามและสมมุติฐานเกี่ยวกับการทำงานจิตรกรรมร่วมสมัย

เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า เวลาเขาทำงานศิลปะ เขามักตั้งคำถามว่ามันถูกทำขึ้นมาได้อย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นการวาดตัวหนังสือลงบนผืนผ้าใบแล้วเรียกมันว่าเป็นงานจิตรกรรม ดังเช่นในผลงาน Tips For Artists Who Want To Sell (1966-1968) ที่เขานำชีตประกอบการสอนในชั้นเรียนเกี่ยวกับ “เคล็ดลับสำหรับศิลปินผู้ต้องการขายงานศิลปะ” มาทำเป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบ

Tips For Artists Who Want To Sell (1966 – 1968), ภาพจากhttps://bit.ly/2NsYUfM

ซึ่งมีเนื้อหาเชิงเสียดสีเหน็บแนมเกี่ยวกับความเป็นสินค้าของงานศิลปะ ในรูปแบบของข้อความ “ฮาวทู” ได้อย่างสนุกสนานครื้นเครงอย่างยิ่ง

หรือผลงานในปี 1967 อย่าง “Wrong” ภาพถ่ายที่เขาจงใจจัดให้องค์ประกอบในภาพไม่สมดุล เอียงกระเท่เร่ และใส่ข้อความกำกับลงไปใต้ภาพว่า “WRONG” (ผิดพลาด) ภาพวาดนี้จงใจเสียดสีแดกดันการสอนเทคนิคกลเม็ดเคล็ดลับการถ่ายภาพที่เราเห็นในหนังสือภาพถ่าย ด้วยถ้อยคำเชิงประชดประชันที่ใส่อยู่อย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน

Wrong (1967), ภาพจากhttps://bit.ly/2QYhEpM

บัลเดสซารี่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ทำไมเราต้องมีมาตรฐานที่คอยตัดสินความถูกต้องดีงามในภาพถ่ายหรือแม้แต่งานศิลปะ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจสำหรับเขาก็คือ ความคิดนั้นไม่มีผิดหรือถูก ความงามขึ้นอยู่กับสายตาและทัศนคติของแต่ละคน เขาไม่ชอบการที่ใครมาคอยบอกว่า “คุณทำแบบนี้ไม่ได้”

เพราะสำหรับเขาแล้ว เขามักคิดว่า “แล้วทำไมจะทำไม่ได้ล่ะ?” มากกว่า

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 บัลเดสซารี่หันมาสนใจแนวทางของศิลปะคอนเซ็ปช่วล (อันที่จริงเขาทำงานในแนวทางแบบนี้มาก่อนที่จะรู้ว่ามันเรียกว่า “ศิลปะคอนเซ็ปช่วล” เสียด้วยซ้ำไป) โดยเขาจุดไฟเผาผลงานศิลปะที่เคยทำมาในช่วงก่อนปี 1967 ทิ้งเกือบทั้งหมด ในโครงการศิลปะที่มีชื่อว่า Cremation Project และเก็บขี้เถ้าของผลงานที่ถูกเผาเอาไว้ในโกศรูปร่างเหมือนหนังสือปกหนัง

I Will Not Make Any More Boring Art (1971), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจาก https://mo.ma/2ROuCFK

เขายังประกาศถ้อยแถลงอันลือเลื่องว่า “I Will Not Make Any More Boring Art” (กูจะไม่ทำงานศิลปะที่น่าเบื่อออกมาอีก)

หลังจากนั้นในปี 1971 เขาก็ทำงานภาพพิมพ์ในชื่อเดียวกันออกมา ซึ่งถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกภาพเขากำลังเขียนประโยคนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนฟิล์มหมดม้วน

บัลเดสซารี่ยังทำงานกับภาพถ่าย, สื่อสิ่งพิมพ์ และวัสดุจากสื่อโฆษณาอย่างโปสเตอร์และป้ายโฆษณาบิลบอร์ด เพื่อวิเคราะห์ว่าวิธีการสื่อสารสาธารณะยอดนิยม (ในยุคนั้น) ทำงานอย่างไร

เขาหยิบเอาภาพถ่ายเก็บตก, ภาพนิ่งจากภาพยนตร์และโทรทัศน์ และของสะสมอายุสั้นจากวัฒนธรรมป๊อปอย่างใบปลิว โบรชัวร์โฆษณาต่างๆ จากหลายแหล่งมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันโดยไม่มีความเชื่อมโยง รวมถึงเติมถ้อยคำที่ขัดแย้งกับภาพเพื่อเล่นสนุกกับความสัมพันธ์ระหว่างภาพและภาษา ด้วยการจับคู่เปรียบภาพตลกๆ เข้ากับถ้อยคำง่ายๆ เพื่อบิดเบือนความหมายและตั้งคำถามกับความเป็นลิขสิทธิ์ในการทำงานสร้างสรรค์และงานศิลปะ

Fissures (Orange) and Ribbons (Orange, Blue): With Multiple Figures (Red, Green, Yellow), Plus Single Figure (Yellow) in Harness (Violet) and Balloons (Violet, Red, Yellow, Grey), (2004) ภาพจากhttps://bit.ly/3773WX

เขายังปิดใบหน้าของบุคคลที่อยู่ในภาพเหล่านั้นด้วยจุดสีกลมๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสติ๊กเกอร์วงกลมป้ายราคาสินค้าที่เขาเคยใช้ทำงานกราฟิก ผลงานชุดนี้ของเขายั่วล้อ บิดเบือน สร้างความหมายใหม่ให้กับภาพถ่ายเหล่านั้นอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ด้วยการสำรวจว่าภาพถ่ายทำหน้าที่สื่อสารกับผู้คนได้อย่างไร และกระตุ้นความทรงจำของผู้ชมให้รำลึกถึงที่มาที่ไปของพวกมัน

Money, with Space Between (1994), ภาพจากhttps://bit.ly/3a8Cpq

นอกจากการเล่นสนุกทางความคิด อันเป็นลักษณะสำคัญของศิลปะคอนเซ็ปช่วลแล้ว ความสดใสสนุกสนานในผลงานของเขาก็ยังสะท้อนอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะป๊อปอาร์ต หรือการปะติดจับคู่เปรียบภาพจากต่างแหล่งที่มาอย่างไร้ความเชื่อมโยงเอง ก็สะท้อนวิธีการทำงานศิลปะแบบอัตโนมัติจากจิตไร้สำนึกเช่นเดียวกับศิลปะเซอร์เรียลลิสต์อีกด้วย

บัลเดสซารี่ยังทำผลงานประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะจัดวาง วิดีโออาร์ต ภาพยนตร์ ไปจนถึงบิลบอร์ด และศิลปะดิจิตอล เขายังทำงานศิลปะบนบัตรเครดิต หรือแม้แต่ทำงานศิลปะในรูปแบบของแอพพ์บนสมาร์ตโฟนก็ยังมี

In Still Life, 2001-2010 แอพฯศิลปะของบัลเดสซารี่, ภาพจากhttps://bit.ly/361G06

อาทิ ผลงาน in still life 2001-2010 แอพพลิเคชั่นที่บัลเดสซารี่ร่วมพัฒนาขึ้นกับบริษัท ForYourArt สำหรับเล่นในสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต

เดิมทีผลงานชิ้นนี้เป็นงานศิลปะเชิงโต้ตอบ (Interactive art) ที่เขาทำขึ้นเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Los Angeles County Museum of Art (LACMA) โดยเขาแขวนภาพจำลองแบบดิจิตอลของภาพวาดหุ่นนิ่ง Banquet still life ของอับราฮัม ฟาน เบเยเรน (Abraham van Beyeren) ศิลปินชาวดัตช์ในยุคศตวรรษที่ 17 เอาไว้เคียงข้างกรอบดิจิตอลที่ว่างเปล่า และเชิญชวนให้ผู้ชมเคลื่อนย้ายเอาวัตถุในภาพวาดหุ่นนิ่ง (ดิจิตอล) ของฟาน เบเยเรน ไปสร้างภาพวาดหุ่นนิ่งในแบบของพวกเขาเองในกรอบว่างเปล่าข้างๆ และยังพิมพ์รูปที่พวกเขาทำขึ้นให้เอากลับบ้านไปได้ด้วย

ต่อมาผลงานชิ้นนี้ก็กลายเป็นแอพพ์ให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดไปใช้ในไอโฟนหรือไอแพด เพื่อสร้างหุ่นนิ่งจากวัตถุต่างๆ ในภาพวาดของศิลปินชาวดัตช์ในยุคโบราณผู้นี้ขึ้นมาใหม่ในแบบของตัวเอง

และยังสามารถเซฟและแชร์ภาพเหล่านั้นออกไปได้ ถึงแม้แอพพ์นี้จะปิดตัวไปแล้ว แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของบัลเดสซารี่ในการเอาศิลปะออกจากกำแพงหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์มาใกล้ชิดกับชีวิตผู้คนได้เป็นอย่างดี

บัลเดสซารี่มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวมากว่า 300 ครั้ง และนิทรรศการแสดงกลุ่มมากว่า 1,000 ครั้ง ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

เขาได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลสิงโตทองคำเกียรติยศ (Golden Lions for Lifetime Achievement) จากเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 53

ผ้าขนหนูชายหาดที่ออกแบบโดยบัลเดสซารี่ (2011), ภาพจากhttps://bit.ly/2Nw3f1

นอกจากจะเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะแล้ว เขายังมีบทบาทในฐานะครูสอนศิลปะผู้ทรงอิทธิพล การถ่ายทอดแนวความคิดอันลึกซึ้ง แต่ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนานผ่อนคลาย และการนำนวัตกรรมและสื่อสมัยใหม่อย่างภาพถ่าย, งานโฆษณา, ภาพยนตร์, วิดีโอ ไปจนถึงสื่อมัลติมีเดียมาใช้ในชั้นเรียนของเขา ส่งแรงบันดาลใจทางความคิดต่อลูกศิษย์ลูกหาหลายต่อหลายคน

อาทิ ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman), เดวิด แซลล์ (David Salle), บาร์บารา บลูม (Barbara Bloom), เจมส์ เวลลิ่ง (James Welling), แจ๊ก โกลด์สตีน (Jack Goldstein), ทรอย บรันทัช (Troy Brauntuch) และบาร์บารา ครูเกอร์ (Barbara Kruger)

ซึ่งต่างก็กลายเป็นศิลปินผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อวงการศิลปะในฐานะศิลปินกลุ่ม Pictures Generation ที่หลอมรวมจุดเด่นของศิลปะป๊อปอาร์ตและคอนเซ็ปช่วลเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อมจนกลายเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่สำคัญที่สุดกระแสหนึ่งในยุคหลังสมัยใหม่

 

“แต่ก่อนผมมักจะคิดว่าการทำงานศิลปะเป็นกิจกรรมที่ไม่ต่างกับการสำเร็จความใคร่ และไม่ได้ช่วยอะไรใครได้จริงๆ แต่หลังจากผมได้ไปสอนในแคมป์เยาวชนที่ส่งเด็กมาเรียนศิลปะแทนการส่งเข้าเรือนจำ และได้เห็นว่าเด็กๆ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมองว่าไร้ค่าเหล่านั้น รักและใส่ใจศิลปะมากกว่าผมแค่ไหน ผมก็เปลี่ยนความคิด พวกเขาทำให้ผมเชื่อว่าศิลปะมีคุณค่าบางอย่างในสังคม ถึงแม้ตัวผมจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่มันก็เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้ผมเชื่อว่าศิลปะก็สามารถทำอะไรดีๆ ได้เหมือนกัน ผมเพียงต้องการเหตุผลว่าศิลปะไม่ใช่อะไรที่เป็นแค่เรื่องของตัวผมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง”

จอห์นบัลเดสซารี่ (2016), ภาพถ่ายโดย Nicole Shibata ภาพจาก John Baldessari Estate https://bit.ly/2tpTue

จอห์น บัลเดสซารี่ เสียชีวิตในวันที่ 2 มกราคม 2020 ที่บ้านของเขาในเมืองเวนิส แคลิฟอร์เนีย เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานและแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้นแก่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง

ข้อมูล

http://www.baldessari.org/, https://bit.ly/3abPNKf, https://bit.ly/2QUQuQi, https://bit.ly/2TpteM9