ต่างประเทศ : วิกฤตสหรัฐ-อิหร่าน ความขัดแย้งที่ยากจะยุติ

ในปี 2020 รัฐบาลสหรัฐเริ่มต้นทศวรรษใหม่ด้วยการส่งโดรนติดขีปนาวุธสังหารผู้นำทหารระดับสูงของอิหร่านอย่างนายพลคัสเซม โซไลมานี ซึ่งนับเป็นการลอบสังหารผู้นำทางทหารต่างชาติครั้งแรกของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความตึงเครียดระหว่างสองชาติปฏิปักษ์รอบใหม่

ความตึงเครียดดังกล่าวส่งผลร้ายอย่างไม่มีใครคาดคิด เมื่ออิหร่านออกมายอมรับว่าเกิดความเข้าใจผิดยิงเครื่องบินโดยสารสายการบินของประเทศยูเครนตก

กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 176 ราย

ด้านยูเครนเรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างเร่งด่วนและจ่ายเงินชดเชยให้กับเหยื่อซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน แคนาดา และยูเครน เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังอิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธเข้าใส่ฐานทัพสหรัฐ 2 แห่งในอิรักเพียงไม่กี่ชั่วโมง

คำถามสำคัญก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนี้?

 

หนึ่งในนั้น แน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาต้องแสดงให้เห็นถึงหลักฐาน “การวางแผนโจมตีอันมุ่งร้าย” ที่มีต่อชาวอเมริกัน ที่นำไปสู่การเอาชีวิตนายพลโซไลมานีให้ได้ คำถามซึ่งสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐก็ต้องการให้รัฐบาลสหรัฐตอบในเวลานี้

เช่นเดียวกับหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีกับ “ฟอกซ์นิวส์” เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาเช่นกันว่า โซไลมานีมุ่งเป้าโจมตีไปที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐจริงหรือไม่

และรัฐบาลสหรัฐมีเป้าหมายอื่นอีกหรือไม่ เมื่อมีรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐล้มเหลวในการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของอิหร่านอีกรายในเยเมนเช่นกัน

หนึ่งในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วกับชาวอเมริกันก็คือ ความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อผลสำรวจของยูเอสเอทูเดย์ พบว่าชาวอเมริกัน 55 เปอร์เซ็นต์คิดว่าการสังหารโซไลมานีทำให้สหรัฐอเมริกาปลอดภัยน้อยลง

ขณะที่ 57 เปอร์เซ็นต์คัดค้านการโจมตีแหล่งวัฒนธรรมอิหร่าน

ขณะที่ 53 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนให้สภาคองเกรสจำกัดอำนาจทรัมป์ในการสั่งการโจมตีทางทหารลง

 

แม้พันธมิตรสหรัฐอย่างชาติในยุโรปและนาโต้จะไม่สนับสนุนสหรัฐในการโจมตีใส่อิหร่าน เช่นเดียวกับการคัดค้านการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้วิกฤตระหว่างอิหร่านและสหรัฐสิ้นสุดลงง่ายๆ เมื่อทรัมป์ยังคงประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิหร่านเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกถอนตัวจากข้อตกลงอิหร่านและทำข้อตกลงใหม่ที่จะทำให้โลกปลอดภัยมากขึ้นกว่านี้

แม้โอกาสการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกาจะลดต่ำลงแล้วในเวลานี้ แต่ผู้นำอิหร่านยังคงผลักดันเป้าหมายที่เป็นวาระทางการเมืองของอิหร่านมาอย่างยาวนาน

นั่นก็คือการผลักดันทหารสหรัฐอเมริกาออกไปจากภูมิภาค

 

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ยืนยันว่าการดำเนินการทางทหารในแนวทางนี้ยังไม่เพียงพอ

สิ่งที่สำคัญก็คือการมีอยู่ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้จะต้องสิ้นสุดลง

ท่าทีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดี ที่มีแนวคิดทางการเมืองสายกลาง ผู้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 ด้วยนโยบายยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐและประชาคมโลกให้ดีขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ก็ส่งสัญญาณที่จะลดกำลังทหารในภูมิภาคตะวันออกกลางลงเช่นกัน ด้วยการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกนาโต้มีส่วนร่วมในกระบวนการตะวันออกกลางมากขึ้น พร้อมระบุว่า สหรัฐอเมริกามีอิสระทางพลังงานและไม่ได้ต้องการน้ำมันจากตะวันออกกลางอีกต่อไป

ท่าทีของทรัมป์ในอีกแง่ เป็นสัญญาณเตือนให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียที่เคยพึ่งพิงกำลังทหารสหรัฐ ต้องลดท่าทีปฏิปักษ์ และดำเนินการทางการทูตในเชิงเป็นมิตรกับอิหร่านมากยิ่งขึ้น

แม้ท่าทีของสหรัฐอเมริกาล่าสุดจะเป็นการส่งสัญญาณว่าพร้อมจะกลับสู่โต๊ะเจรจากับอิหร่าน และแสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย

ทว่ายังคงมีความกังวลว่า โอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งที่ไม่คาดคิดจนนำไปสู่สงครามในท้ายที่สุดนั้นก็ยังมีอยู่

 

ส่วนท่าทีของอิหร่านจะตอบสนองกับคำเชิญสู่โต๊ะเจรจาหรือไม่นั้น มัสซูเมห์ เอบเทการ์ รองประธานาธิบดีหญิงด้านผู้หญิงและกิจการครอบครัวอิหร่าน ตอบคำถามนี้เอาไว้กับซีเอ็นเอ็นว่า สำหรับนักปฏิรูปอย่างเธอเอง รวมไปถึงโมฮัมหมัด จาวาด ชารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน รวมไปถึงประธานาธิบดีรูฮานี รู้สึกว่าเวลาของการเจรจานั้นได้ผ่านไปแล้ว ผลจากการนำสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอย่างหนักหน่วง

“เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ต้องการสันติภาพและความมั่นคง ไม่ต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีการพหุภาคี โชคร้ายที่เวลาของการเจรจาได้ผ่านไปแล้ว”

ค่อนข้างชัดเจนว่าวิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านยังคงยากที่จะยุติ และยังคงมีคำถามอีกต่อไปเช่นกันว่า ภูมิศาสตร์ทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางนับจากวันนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

สหรัฐอเมริกาจะยังสามารถปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลามในอิรักและซีเรียอีกต่อไปได้หรือไม่ บทบาทของอิหร่าน รวมไปถึงรัสเซียในอิรัก จะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด