เศรษฐกิจ / จากภัยแล้งถึงฝุ่นพิษ PM 2.5 สะเทือนดึงเศรษฐกิจประเทศ โจทย์ที่รัฐบาล ‘ลุงตู่’ ยังแก้ไม่ตก

เศรษฐกิจ

 

จากภัยแล้งถึงฝุ่นพิษ PM 2.5

สะเทือนดึงเศรษฐกิจประเทศ

โจทย์ที่รัฐบาล ‘ลุงตู่’ ยังแก้ไม่ตก

 

กลับมาเยือนอีกครั้ง สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ดูเหมือนว่าปีนี้จะหนักกว่าหลายปีที่ผ่านมา จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา บันทึกไว้ว่า ฤดูแล้งปี 2562/2563 จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุด และแห้งแล้งมากที่สุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในปี 2563 มีปริมาณ 43,137 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 61% ของความจุอ่างขนาดใหญ่ทั้งหมด น้อยกว่าปี 2562 ที่มีปริมาณอยู่ที่ 52,662 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 74% ของความจุอ่างขนาดใหญ่ทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการป้องกันและแก้ไขให้ถูกจุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 45,416 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,608 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 41% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,648 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 43% ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,952 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำติดลบแล้ว คือเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปริมาณน้ำใช้การ ติดลบ 111 ล้าน ลบ.ม. หรือมีปริมาณน้ำในเขื่อนติดลบ 6% ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล

แต่ทางภาครัฐให้ความมั่นใจว่าสถานการณ์ในเขื่อนดังกล่าวยังสามารถควบคุมได้ และยืนยันว่าประชาชนจะมีน้ำอุปโภคและบริโภค ตลอดฤดูแล้งแน่นอน

 

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่าไม่มีแหล่งน้ำสำรองหรือแหล่งน้ำต้นทุน และถึงแม้ว่าในพื้นที่เขตชลประทาน จะมีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำ หรือระบบชลประทานต่างๆ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย รัฐบาลจึงได้มีการวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุม พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

โดยแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 หรือระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2562 – 30 เมษายน 2563 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.

น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.

 

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 มีการระบายน้ำตามแผนไปแล้วจำนวน 7,144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนไปแล้วจำนวน 2,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% ของแผนจัดสรรน้ำฯ

ถึงแม้ทางภาครัฐจะระดมความช่วยเหลือกระจายไปในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และมีแนวโน้มจะประสบภัยแล้ว ทางศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการสำรวจสถานการณ์ดังกล่าว พบว่าผลกระทบด้านการเกษตร ภัยแล้งช่วงเดือนกันยายน 2562 ถึงปัจจุบัน มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 20 จังหวัด

ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ สุพรรณบุรี หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครนายก และสกลนคร

และคาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างเพิ่มเป็น 43 จังหวัด หากไม่มีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง

สำหรับผลกระทบการเกษตรในเบื้องต้น ด้านพืช จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่ามีพื้นที่ที่ประสบภัย ด้านพืช 21 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 252,377 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 2,267,702 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว 19 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 100,041 ราย พื้นที่เสียหาย 990,792 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 878,751 ไร่ พืชไร่ 111,546 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 495 ไร่

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,106.94 ล้านบาท รัฐบาลได้นำงบประมาณไปช่วยเหลือแล้ว มูลค่า 4.54 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะแรก จำนวน 556 ราย คิดเป็นพื้นที่ 4,072 ไร่ ส่วนด้านปศุสัตว์ จากการตรวจสอบ พบว่ายังไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ

 

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถือเป็นศูนย์แรกๆ ที่ออกมาประเมินความเสียหายจากภัยแล้ง โดยคาดว่าจะรุนแรงเทียบเท่ากับปี 2558-2559 ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูแล้งจะทำให้สูญเสียเม็ดเงินกว่า 8,000-10,000 ล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 0.03%

ขณะที่มุมมองของนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรืออีไอซี มองว่า อุปสงค์ในประเทศของภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อย แม้ว่าภาคส่งออกจะมีโอกาสฟื้นตัวแต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง จากหลายปัจจัยกดดันไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้ของภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งส่งผลให้เกิดหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงขึ้น และกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์

หากพิจารณาในเรื่องผลกระทบอย่างถี่ถ้วน ภาคที่เสี่ยงในการขาดแคลนน้ำที่สุด คือ ภาคกลาง จะได้รับผลกระทบจากจำนวนน้ำที่มีใช้อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก โดยเฉพาะข้าวและอ้อย

ส่งผลให้ในระยะต่อไป ราคาสินค้าทางการเกษตรจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตามปริมาณที่ลดลง มีผลต่อการส่งออกฉุดให้ปีนี้มีโอกาสติดลบไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา

เรื่องแล้งถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มองว่ารัฐบาลควรต้องดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน

 

แต่ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเผชิญปัญหา “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” เพราะขณะที่กำลังสาละวนกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนรับมือ จัดงบฯ เร่งด่วน โดยนำงบฯ กลางจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาทมาใช้ดำเนินการ และ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำทับอีกครั้งให้ทุกหน่วยงานเร่งทำงานแบบบูรณาการ

แต่ล่าสุดประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5 ที่คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงกำลังตื่นกลัวเนื่องจากส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ ขนาดนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องออกมาเทคแอ๊กชั่น สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายทั้งเรื่องภัยแล้ง และฝุ่น PM 2.5 โดยเร็ว

จะบอกว่าไทยกำลังเผชิญวิบากกรรมทางธรรมชาติก็ไม่ถือว่าผิด ทั้งภัยแล้งที่ดูจะยืดเยื้อและยาวนาน และเรื่องฝุ่นพิษหวนกลับมาประลองฝีมือของรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะหาวิธีใดมาแก้ไขสถานการณ์ จากเดิมที่สอบตกเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของประชาชนมาแล้ว

            เรื่องน้ำที่เปรียบเสมือนชีวิต กับเรื่องอากาศที่เป็นเหมือนลมหายใจของประชาชน คงต้องตามติดว่ารัฐบาล “ลุงตู่” จะแก้ตัว จัดการปัญหาได้หรือไม่…ดูกัน