การศึกษา / จับตา…ม็อบต้าน ‘โครงสร้าง ศธ.’ เผือกร้อนๆ…วัดใจ-ฝีมือ ‘ณัฏฐพล’

การศึกษา

 

จับตา…ม็อบต้าน ‘โครงสร้าง ศธ.’

เผือกร้อนๆ…วัดใจ-ฝีมือ ‘ณัฏฐพล’

 

การ “ปรับโครงสร้าง” กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง

เมื่อกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประกอบด้วย คณะผู้แทนศึกษานิเทศก์ (ศน.) บุคลากรกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) และบุคลากรกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา (ICT) ที่ขนทัพมากว่า 500 คน แต่งชุดดำแสดงเชิงสัญลักษณ์ บุก ศธ.คัดค้านการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.

หลังจากมีข่าวลือหนาหูว่า คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ที่มีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน จะถ่ายโอน ศน., ตสน. และ ICT ที่เดิมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะถูกถ่ายโอนไปอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

จึงรวมตัวมาเรียกร้อง ขอให้ล้มเลิกแนวคิด และนโยบายที่จะรวม ศน.ให้ไปปฏิบัติงานที่เดียวกับ ศธจ.!!

 

โดยกลุ่มผู้มาคัดค้านอ้างว่า หากให้ ศน.แต่ละสังกัดมารวมกันที่ ศธจ.เพียงแห่งเดียว ทำให้รูปแบบในการนิเทศไม่มีประสิทธิภาพ และจะทำให้ไกลจากครู และสถานศึกษา เสียเวลาในการเดินทาง เสียเงินงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน

เรื่องราวยังไม่ทันคลี่คลาย กลุ่มผู้อำนวยการ สพท.และข้าราชการครูฯ กว่า 1,000 คน พร้อมใจแต่งชุดดำ บุกยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายณัฏฐพล นายวราวิช และนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.เพื่อคัดค้านถ่ายโอน ศน.ไปสังกัด สป.ศธ.อีกครั้ง

พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ประกอบด้วย

 

1.นายประเสริฐต้องยุติบทบาทการจัดทำข้อเสนอปรับโครงสร้าง ให้รอจนกว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เพื่อป้องกันการดำเนินการที่ส่อไปในทางที่สร้างความอ่อนแอให้กับ สพท.

  1. การปฏิรูปโครงสร้างของ ศธ.ให้ใช้รูปแบบกระจายอำนาจให้พื้นที่มากที่สุด ให้คง สพฐ.และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 183 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 77 เขต รวม 260 เขตพื้นที่ฯ โดยไม่โอนย้ายกลุ่มใด
  2. จัดตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ.ก.ค.ศ.สพฐ.) และตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัด (อ.ก.ค.ศ.จังหวัด)
  3. เร่งดำเนินการออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) เป็นการเฉพาะกิจ โดยให้มีสาระสำคัญให้แก้ไขปรับปรุงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 17/2560
  4. กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2) ให้เป็นข้าราชการครูสายงานสนับสนุนการสอน และให้ใช้บัญชีเงินเดือน เงินวิทยฐานะ หรือเงินค่าตอบแทนอื่น เช่นเดียวกันกับข้าราชการครูสายงานการสอน
  5. ให้รีบประกาศจัดตั้ง สพม.ให้ครบทุกจังหวัดโดยเร็ว

และ 7. เพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษา จึงเห็นควรให้ ศน.ส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้ ศธจ.กลับคืน สพท. ทั้งนี้ จะได้มาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา

 

นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 และประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ สป.ศธ.ยกเลิกการจัดทำข้อเสนอดังกล่าว หากยังดันทุรังต่อไปโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริง และเหตุผล ครูพร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย จะยกระดับการเรียกร้อง และใช้มาตรการที่เข้มข้นต่อไป เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำซากของการปฏิรูปการศึกษา

ร้อนถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ออกมาโต้แย้ง ว่าขณะนี้การปรับโครงสร้าง ศธ.ยังไม่มีอะไรชัดเจน จะมาคัดค้านในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นทำไม

การแสดงออกถือเป็นสิทธิของทุกคน แต่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่คิดว่าการแสดงออกดังกล่าวจะช่วยพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร

และหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นการเมืองภายในหน่วยงานกันเอง

“อย่ากังวลไป หลายคนที่ไม่ทราบข้อมูล และฟังผู้นำที่พูดปลุกในเรื่องการเปลี่ยนแปลง จนทำให้แตกตื่นขึ้นมา ผมยืนยันว่าการทำงานทุกอย่าง ทำด้วยความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ศธ.คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง และการบริหารจัดการของ ศธ.ต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ทับซ้อน เป็นความสำคัญในลำดับที่ 2 ในส่วนของกลุ่มต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ผมขอให้รอข้อเสนอที่คณะกรรมการปรังปรุงโครงสร้าง ศธ.เสนอมาก่อน แล้วจะเห็นว่ามีผลกระทบหรือไม่”

นายณัฏฐพลกล่าว

 

เช่นเดียวกับนายวราวิช หัวเรือในการขับเคลื่อนปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ระบุว่า เหตุผลหนึ่งของการปรับโครงสร้าง ศธ.ครั้งนี้ เพราะการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่าง สพท.และ ศธจ.ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่นายณัฏฐพลจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ซึ่ง สพฐ.เสนอมาแล้วว่า อะไรที่ซ้ำซ้อนกันบ้าง และจะแก้ปัญหาอย่างไร อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางแก้ไข

แต่ไม่มีการย้ายคน ยืนยันว่าไม่มี ไม่มีนโยบาย ไม่มีแนวทาง ไม่มีความคิดแบบนั้น

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นว่า ศธ. “จำเป็น” ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโครงสร้างที่ทับซ้อน ศูนย์เปล่า และไม่เกิดประโยชน์

“เมื่อครูออกมาประท้วง จะมีผลต่อภาพลักษณ์ของครูด้วยว่าออกมาประท้วงเพื่ออะไร เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม ผลประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อผลประโยชน์ของเด็ก ออกมาประท้วงได้ แต่ต้องระมัดระวังด้วยว่า กำลังจะทำให้คนรู้สึกว่าครูกำลังมารักษาผลประโยชน์ของตนเองหรือไม่ มองว่าทั้ง ศธ., ครู และผู้แทนองค์กรครู ต้องยอมถอยกันบ้าง เพื่อเข้าใจ และมองเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน”

นายสมพงษ์ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม การคัดค้านการปรับโครงสร้าง ศธ.ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก

ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้อำนวยการ สพท.หรือผู้แทนครูหน้าเดิมๆ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ ศธ.คืนอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่าง สพท.และ ศธจ.โดยเฉพาะการคืนอำนาจตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่ให้ ศธจ.สั่งบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย จากเดิมเป็นอำนาจของผู้อำนวยการ สพท.

กระทั่ง “แกนนำ” บางคน ได้รับการ “โปรโมต” ตำแหน่ง จากเดิมเป็นผู้บริหาร สพท.ที่อยู่ในเขตพื้นที่ฯ ห่างไกล เข้ามาเป็นผู้บริหาร สพท.ที่อยู่ในเมืองใหญ่ และอนาคตมีแนวโน้มจะขยับไปอยู่ในจังหวัดที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีก…

จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากกลุ่มผู้อำนวยการ สพท.และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ที่ไม่เห็นด้วย ว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้ เพื่อ “ต่อรอง” ตำแหน่งให้กับตัวเองใช่หรือไม่??

เพราะไม่เคยมีสักครั้งที่ระบุว่าการเคลื่อนไหวทำเพื่อประโยชน์ของนักเรียน หรือแม่พิมพ์ แต่มุ่งประโยชน์ของกลุ่มตัวเองล้วนๆ…

กระทั่งนายณัฏฐพลอดรนทนไม่ไหว ซัดกลับแกนนำม็อบว่า การเคลื่อนไหวนำครูหรือบุคลากรทางการศึกษามาประท้วง ไม่ได้ช่วยให้การศึกษาพัฒนาขึ้น เพราะ “พูดแต่ประโยชน์ของตัวเองที่จะหายไป”…

     ต้องติดตามว่า การต่อต้านการปรับโครงสร้าง ศธ.ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะใจแข็ง ยึดหลัก “ประโยชน์” ตกอยู่ที่ “นักเรียน” เป็นอันดับแรกจริงๆ ตามที่ลั่นวาจาไว้หรือไม่ หรือจะยอมให้คนกลุ่มเดียว กดดันเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเองได้สำเร็จ??