ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มกราคม 2563 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]
เหรียญรูปเหมือน 2470
หลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก
พระเกจิดังเขาสมอคอน
“พระครูพุทธสราจารย์” หรือ “หลวงพ่อเภา พุทธสโร” วัดถ้ำตะโก ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี พระเกจิชื่อดังที่ชาวบ้านย่านตำบลเขาสมอคอน ต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธากันมาก รวมทั้งแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์
แต่ด้วยหลวงพ่อเภาไม่นิยมสร้างวัตถุมงคล ดังนั้น คณะศิษย์ซึ่งมีมากมาย จึงร่วมกันจัดสร้างขึ้นเองแล้วขอให้ท่านปลุกเสก ปรากฏว่ามีเพียง 2 รุ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างสูง
โดยเฉพาะรุ่น 2 ที่มีประวัติการสร้างชัดเจนกว่ารุ่นแรก เป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเภา
จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2470 เป็น 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญปฏิสังขรณ์วัด
ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหูเชื่อม
ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหันหน้าตรง ด้านล่างมีอักษรไทย เขียนคำว่า “พระพุทธสาราจารย์เภา วัดถ้ำตะโก”
ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์สี่เหลี่ยม รอบยันต์มีอักษรไทย เขียนคำว่า “ที่รฤึกในการกุศลปฏิสังขรณ์แลผูกสีมาวัดเขาวงกฎลพบุรี” ล่างสุดเป็นปีที่สร้าง “๒๔๗๐”
เป็นเหรียญที่นิยมและหายากในพื้นที่
เกิดเมื่อปี พ.ศ.2415 ที่บ้านใต้วัดอินทาราม อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ บิดาชื่อ นายขำ โยมมารดาชื่อ นางแสง
อายุ 6 ขวบ บิดามารดานำไปฝากเรียนหนังสือที่สำนักพระอธิการคง วัดอินทาราม พยุหะคีรี จนถึงอายุ 11 ขวบ จึงได้บรรพชา และศึกษาพระปริยัติกับพระอาจารย์คง จวบจนอายุ 20 ปี (พ.ศ.2435) เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี โดยมีหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์รับ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อเทศ พระอุปัชฌาย์ ที่วัดสระทะเล ในช่วง 12 ปีแรก ศึกษาพระปริยัติธรรม 2 ปีต่อมา ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ เดินทางไปเรียนพระปริยัติที่สำนักวัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี ของเจ้าคุณพระสุนทรมุนี (ใจ คังคสโร) ซึ่งเป็นสำนักที่ลือชื่ออยู่ในขณะนั้น และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่สำนักวัดทุ่งแก้วอยู่ 3 พรรษา
ต่อมาเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ศึกษาอยู่กับสำนักเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิวงศ์ (เหลียน) วัดสุทัศนเทพวราราม อีก 3 พรรษา
กระทั่งถึง พ.ศ.2442 จึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทาราม อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ อันเป็นภูมิลำเนาเดิม และช่วยพระอธิการคงแสดงธรรมและสอนพระปริยัติธรรมอยู่ 2 ปี
จนถึง พ.ศ.2445 มีจิตใจมุ่งในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านกราบลาพระอาจารย์คง ออกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวก เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน
ประมาณ พ.ศ.2446 เดินทางจากวัดท่าโขลง โดยข้ามคลองบางขามมาทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร ได้ไปพบสถานที่แห่งหนึ่งอยู่ที่บ้านพราน ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี มีสภาพเป็นวัดร้างเก่าแก่มาแต่โบราณ มีซากอิฐเก่าปรากฏอยู่ ที่หน้าถ้ำมีต้นตะโกอยู่ต้นหนึ่ง จึงเรียกกันว่า “ถ้ำตะโก”
ภายในถ้ำตะโก มีพระพุทธรูปศิลายืนขนาดความกว้าง 23 นิ้ว สูง 75 นิ้ว แกะสลักด้วยหินทราย พุทธลักษณะทรงเครื่องแบบลพบุรีศิลปะขอม
เมื่อกลับมาที่วัดท่าโขลง แสดงความจำนงแก่ชาวบ้านว่าจะไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำตะโก ชาวบ้านจึงได้ช่วยจัดเสนาสนะถวายตามกำลังที่จะทำได้ในขณะนั้น และได้มีพระภิกษุตามท่านมาด้วย 9 รูป ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม สร้างศาลาการเปรียญ หอฉัน ศาลาปากถ้ำตะโก และกุฏิเพิ่มเติมโดยลำดับ
พ.ศ.2451 วัดถ้ำตะโกก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดโดยสมบูรณ์แบบ พร้อมพัฒนาวัดปฐมพานิช อ.บ้านหมี่ และสร้างวัดเขาวงกฏ อ.บ้านหมี่ด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ด้วยกัน อาทิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ทั้งสองพระองค์ทรงเลื่อมใสหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง
สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จมาที่วัดเขาวงกฏได้พบหลวงพ่อเภา ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาและแนวทางในการปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงถวายปัจจัยเพื่อก่อสร้างวัดเป็นจำนวน 1,000 บาท
ซึ่งต่อมาปี พ.ศ.2470 หลวงพ่อเภาสร้างกุฏิขึ้นหน้าถ้ำคูหาสวรรค์ให้ชื่อว่า “ตึกบริพัตร” ใช้ชื่อตามนามของผู้บริจาค
ด้านสมณศักดิ์ของท่าน อ้างอิงจากรูปถ่าย ประกอบกับชื่อที่ปรากฏในเหรียญของท่านที่ทำขึ้นและเทียบเคียงกับพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เดียวกับหรือคล้ายกับท่าน พอจะอนุมานได้ว่าท่านคงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร และราชทินนามก็น่าจะเป็นพระครูพุทธสราจารย์
ด้านวิทยาคมของหลวงพ่อเภา เมื่อครั้งออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ได้พบและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาการต่างๆ กับพระเกจิผู้มากด้วยวิทยาคมหลายรูป จนมีวิทยาคมเข้มขลัง
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2474 เวลา 02.00 น. มรณภาพลงอย่างสงบ ที่วัดเขาวงกฏ ต.สนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
สิริอายุ 60 ปี พรรษา 40