สุจิตต์ วงษ์เทศ /มะม่วงหวาน หนองแซง สระบุรี ชุมชนลาว พระเจ้าเสือ สมัยอยุธยา

บ้านมะม่วงหวาน สมัยอยุธยา น่าจะอยู่โดยรอบเมืองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ (วัฒนธรรมทวารวดี) ราวหลัง พ.ศ.1000 ปัจจุบันเป็นเขต ต.ม่วงหวาน อ.หนองแซง จ. สระบุรี [ภาพจากโดรนมติชน]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

มะม่วงหวาน หนองแซง  สระบุรี

ชุมชนลาว พระเจ้าเสือ สมัยอยุธยา

 

ม่วงหวาน ในชื่อ ต.ม่วงหวาน อ.หนองแซง จ.สระบุรี น่าจะกร่อนจากคำเต็มว่า มะม่วงหวาน หมายถึงแหล่งมะม่วงกินอร่อยกินดี

ที่สำคัญ ม่วงหวานน่าจะมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพระเจ้าเสือกรุงศรีอยุธยา กับผู้ดีลาวล้านช้าง-เวียงจัน ซึ่งมีบอกในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยสรุปว่าพระเจ้าล้านช้างเวียงจัน ถวายราชธิดาแด่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเสือรับไว้เป็นเทวี แล้วให้ข้าทาสบริวารที่ติดตามมาด้วยไปตั้งบ้านเรือนอยู่ “บ้านม่วงหวาน”  หรือ “ตำบลบ้านมะม่วงหวาน”

คำให้การขุนหลวงหาวัดกับคำให้การชาวกรุงเก่า ไม่บอกว่าบ้านม่วงหวาน หรือตำบลบ้านมะม่วงหวาน อยู่ตรงไหน?

แต่พบเมืองโบราณอยู่ ต.ม่วงหวาน อ.หนองแซง จ.สระบุรี ชวนให้เชื่อว่าเป็นถิ่นฐานลาวเวียงจันครั้งพระเจ้าเสือ เพราะเมืองโบราณนี้มีนิทานเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง กับเขาพนมยงค์ และพระเจ้าเสือ พบในนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่

 

บ้านม่วงหวาน ในคำให้การขุนหลวงหาวัด

 

“อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้นองอาจมีอำนาจนักหนา ทั้งทรงทศพิธราชธรรม มิได้เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองใด จนถึงพระยาสามนต์อันเป็นใหญ่อยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็เลื่องลือชาไปว่าพระองค์นี้ตั้งอยู่ในธรรม ทั้งมีฤทธิ์วิทยาและอาคม ทั้งพระเดชเดชาก็กล้าหาญนักหนา จึงแต่งพระราชธิดา มีพระนามเรียกพระตรัสนายกัลยาณีมาถวาย

อันพระบุตรีนั้นมีโฉมประโลมโสภางามนักหนา พระชันษานั้นได้สิบห้าปี กับพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก มาถวายด้วยใจจงรักภักดี ทั้งมีสวามิภักดิ์สมัครสมาคม จักเป็นที่พึ่งโพธิสมภารสืบไปเบื้องหน้า ครั้นมาถึงจึ่งถวายพระราชธิดา ทั้งเครื่องบรรณาการและราชสาส์น

อันพระองค์นั้นก็ทรงยินดีปรีดา จึ่งแต่งรับพระธิดาแล้วตั้งไว้เป็นที่มเหสีตามที่ตามเมืองน้อยใหญ่ พระองค์ก็ประพฤติตามโดยดีตามสวัสดี อันเป็นธรรมอันดี

แต่บรรดาพระยาแสนท้าวเหล่าลาวเมืองล้านชHาง ซึ่งมาเป็นการพระราชไมตรีนั้น แต่บรรดาอำมาตย์ราชเสนาที่มาทั้งสิ้นและไพร่พลทั้งนั้น ทั้งเหล่าผู้คนข้าไททั้งหญิงชาย อันเป็นบริวารของพระบุตรีทั้งสิ้น พระองค์ก็ประทานบำเหน็จรางวัลทั้งเงินทอง เสื้อผ้าและสิ่งของทั้งปวงเป็นอันมาก ประทานให้ครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วจึ่งตอบเครื่องบรรณาการโดยราชประเพณี ให้ไปกับพระเจ้าล้านช้างเป็นอันมาก

อันพระราชบุตรีนั้น พระองค์ปลูกตำหนัก และเรือนหลวงให้อยู่ตามถิ่นตามฐาน จึ่งเรียกว่าเจ้าตำหนักใหม่ อันบรรดาสมัครพรรคพวกผู้คนข้าไทของพระบุตรีทั้งสิ้นพระองค์ให้ถิ่นฐานเหย้าเรือน ทั้งวัวควายไร่นาและเรือกสวน อันที่บ้านนั้นเรียกว่าม่วงหวาน”

[คัดจากคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่า เรียก “ตำบลบ้านมะม่วงหวาน”]

 

มะม่วงหนองแซง

มะม่วงหนองแซง มีตำนานเป็นที่รู้ทั่วไป ว่าเกือบร้อยปีที่ผ่านมา พ่อเฒ่าทิมคนบ้านหนองน้ำสร้าง ได้ไปเยี่ยมญาติซึ่งบวชเป็นพระอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วไปพักอยู่กับพระหลายวัน ได้กินมะม่วงอร่อยจึงเก็บเมล็ดไว้ เมื่อกลับบ้านได้เอาเมล็ดมะม่วง 3 เม็ดมาฝากแม่เฒ่าคำ

แม่เฒ่าคำก็เอาเม็ดมะม่วงทั้งสามปลูกไว้ข้างยุ้งข้าวที่บ้านหนองน้ำสร้าง โดยไม่รู้ว่าเป็นเม็ดมะม่วงอะไร พอมะม่วงโตมีลูกออกมาในระยะใกล้เคียงกันทั้ง 3 ต้น

ต้นหนึ่งผลโตมาก คือมะม่วงหัวช้าง อีกต้นหนึ่งผลใหญ่เวลาสุกผิวส่วนทางหัวสีแดงจัด เรียกตลับนาค สำหรับต้นที่เหลือคือมะม่วงมัน เพราะรสชาติเวลากินเข้าไปแล้วมันผิดแปลกไปจากมะม่วงต้นอื่นๆ ไม่ว่าจะกินตอนไหน มันจะไม่เปรี้ยว เจ้าของเลยตั้งชื่อว่า “มะม่วงมัน” จากนั้นเพื่อนบ้านก็ขอพันธุ์ไปปลูก ต้นมะม่วงก็ค่อยๆ แพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

ปัจจุบัน อำเภอหนองแซง ชาวบ้านปลูกมะม่วงกันทุกครัวเรือน บ้างก็ปลูกเป็นอาชีพ ทำรายได้ปีๆ หนึ่งหลายหมื่นบาท

ผลมะม่วงมันหนองแซง มีผลคล้ายมะม่วงอกร่อง และคล้ายมะม่วงแก้ว ผลมีขนาดย่อมๆ ผิวสีเขียวนวลเกลี้ยง รสชาติของมะม่วงมันหนองแซงจะหวานกรอบ ไม่มีรสเปรี้ยว ทานได้ตั้งแต่ผลมะม่วงยังมีขนาดเล็ก

[สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี]

 

ประวัติอำเภอหนองแซง

ประวัติเล่าสืบมาว่าพลเมืองอำเภอหนองแซง ได้อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ตั้งถิ่นฐานใกล้หนองน้ำ ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตรเศษ และมีต้นแซงขึ้นงอกงามเขียวชอุ่มปกคลุมไปทั่วบริเวณโดยรอบหนองน้ำ ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “บ้านหนองแซง” โดยได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ.2480 ขึ้นกับอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภอในปี พ.ศ.2496

[เว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองแซง (http://district.cdd.go.th/nongsaeng/)]