เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / ครูเอื้อ สุนทรสนาน

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

 

วันที่ 16 มกราคม ได้รับการประกาศให้เป็น “วันครูแห่งชาติ” วันที่เราจะได้รำลึกถึงบุญคุณครูที่เคยสอนสั่งเรามา

เรายกให้พ่อ-แม่เป็นครูคนแรก เพราะนอกจากจะให้กำเนิดเราแล้ว ยังได้เป็นคนตัดริบบิ้นทำการเรียนการสอนสำหรับวิชาชีวิตให้เราด้วย สอนด้วยธรรมชาติของการเป็นพ่อเป็นแม่

แค่การกอด ก็เป็นการสอนให้รู้ถึงความอบอุ่น ปลอดภัยได้

แค่การให้นม ก็เป็นการสอนให้รู้จักความหิว และความอิ่ม สอนให้รู้ว่านมมีคุณค่าอย่างไร เป็นทั้งอาหารกายและอาหารใจในกรณีที่เป็นนมจากแม่โดยตรง

ครูต่อมาก็คือ คนในครอบครัวที่แวดล้อมเรา คุณยายจะคอยเตือนเราให้ระวังของบนเตา ก็เป็นการสอนอย่างหนึ่ง คุณปู่ชอบพาเราปีนป่ายแบบผจญภัยเล็กๆ ก็เป็นการสอนให้รู้จักการเคลื่อนไหว ใช้มัดกล้ามของร่างกายในการทำสิ่งต่างๆ

ต่อมาที่เป็น “ครู” ในคำนามจริงๆ ก็คือ “คุณครูที่โรงเรียน”

เพราะท่านมีหน้าที่สั่งสอนอบรม ให้วิชาความรู้ และวิธีคิด การวางตัว การอยู่ในสังคม การรับมือกับปัญหาต่างๆ ตามวัยของเรา

ครูในวัยเด็ก อาจต้องคอยแก้ปัญหา “ครูครับ วิชัยล้อชื่อพ่อผม” หรือ “ครูคะ วรชิตแอบชอบหนูค่ะ”

ครูในหมู่นักเรียนวัยรุ่น อาจต้องคอยแก้ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น “ผมอยากลองน่ะครู โธ่ ใครๆ เขาก็สูบกัน” หรือ “สุดฤทัยห้องสี่ มันหาว่าหนูแย่งแฟนมันค่ะครู”

ต่อมาเมื่อสังคมของชีวิตเปิดกว้างขึ้น เราก็ได้พบครูในบริบทต่างๆ ทั้งที่เป็นคนที่ไม่ใช่ครูโดยตรงแต่ได้สอนอะไรให้กับเรา หรือเป็นคนที่เป็นครูทางอ้อม เพราะสิ่งที่เขาแสดงออกหรือผลงานของเขานั้นมีคุณค่าอย่างมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครู” ก็มี

 

วันครูปีนี้ผมขอเขียนถึงครูคนหนึ่งนะครับ เป็นครูที่ได้รับการยกย่องในระดับสากล มีความโดดเด่นด้านผลงานเป็นที่ยอมรับ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายหลายรุ่น

ผมกำลังพูดถึง “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์

“วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์…” เพลงคุ้นหูเราอย่างดีในช่วงต้นปีที่เพิ่งผ่านมา ก็เป็นหนึ่งในสองพันกว่าเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ใช่แล้วครับผมเขียนไม่ผิดหรอก ผลงานที่เป็นบทเพลงของครูเอื้อมีจำนวนมากเช่นนั้นจริงๆ

ถ้าคิดว่าว่าบทเพลงหนึ่งยาว 5 นาที 2,000 เพลงก็ปาเข้าไป 10,000 นาที เรียกว่าต้องฟังติดต่อกันโดยไม่หลับไม่นอนถึง 7 วันจึงจะฟังบทเพลงผลงานของวงสุนทราภรณ์ได้ครบ

แต่ปริมาณที่มากไม่สำคัญเท่า “คุณภาพ” ของผลงานของครูเอื้อ ที่ได้สร้างแนวเพลงของตนเองโดยการผสมผสานระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากลในยุคเมื่อ 80 ปีก่อนให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

 

จากหนุ่มนักดนตรียากจนคนหนึ่งที่ไต่เต้าจากการเล่นดนตรีธรรมดาๆ แต่ด้วยความมุ่งมั่นบวกกับพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ต่อมาก็ได้ขยับฐานะมาเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ และได้ออกมาตั้งเป็นวงดนตรีของตนเองที่ชื่อ “สุนทราภรณ์”

ที่โดดเด่นมากๆ คือบทเพลงสำหรับการเต้นลีลาศ เพราะเพลงของสุนทราภรณ์มีหลายจังหวะตามแนวของสากล ดนตรีเล่นได้หนักแน่น จังหวะชัดเจนหลากหลาย ทำให้คนในวงสังคมสมัยเมื่อ 60 ปีก่อนที่นิยมการเต้นลีลาศเวลาออกสังคม ต่างติดใจและเป็นแฟนเพลงสุนทราภรณ์ทั้งสิ้น

ครูเอื้อมีความสามารถในการแต่งทำนอง สำหรับเนื้อร้องนั้นส่วนใหญ่มาจากการเขียนของครูแก้ว อัจฉริยะกุล เรียกว่าเป็น “นักเขียนเพลงคู่บุญ” ก็ได้ที่จับคู่กันดังว่างั้นเถอะ

ทำนองของครูเอื้อมีความทันสมัย และออกจะล้ำสมัยมากๆ ในยุคนั้น มีหลากหลายแนวจนนักดนตรีในสมัยนี้เมื่อได้ไปศึกษาอย่างละเอียด จะยกนิ้วให้ถึงความเป็นอัจฉริยภาพด้านดนตรีของครูเอื้อ ที่ว่าบลูส์ ว่าแจ๊ซ หรือสะวิง อะไรนั่น ครูเอื้อก็มีมานานแล้ว และมีแม้กระทั่งจังหวะร็อก

ในความสมัยใหม่ของครูเอื้อ ก็ไม่ได้ทอดทิ้งความเป็นไทย เพราะเพลงรำวงดังๆ หลายเพลงก็มี รวมทั้งเพลงในจังหวะตะลุง หรือแม้แต่ผสมผสานกับเพลงลูกทุ่งก็มีมาแล้ว

 

บทเพลงของสุนทราภรณ์มีความโดดเด่นในเรื่องของ “คำร้อง” เพราะมีการใช้คำได้อย่างสวยงาม มีสัมผัสที่ไพเราะ และมีความหมายที่ลึกซึ้ง มีการเปรียบเปรยต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และมีรสนิยม

ในความเป็น “ครู” นั้น นอกจากจะเป็นครูของนักดนตรีแล้ว ยังได้ปั้นนักร้องขึ้นมาประดับวงการด้วยการร้องที่มีเอกลักษณ์มากมาย นักร้องที่โด่งดังมีชื่อเสียงในสมัยก่อน หลายคนก็เติบโตมาจากการปั้นและให้โอกาสจากครูเอื้อนั่นเอง เช่น รวงทอง ทองลั่นทม, มัณฑนา โมรากุล, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, วินัย จุลบุษปะ, ศรีสุดา รัชตะวรรณ, สมศักดิ์ เทพานนท์, บุษยา รังษี เป็นต้น

ครูเอื้อจะสร้างสรรค์บทเพลงที่เหมาะสมกับการร้องของแต่ละคน จนทุกคนมีบทเพลงดังๆ เป็นของตนเอง และมีแฟนเพลงติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น

ประมาณแนว BNK สมัยนี้เลยละ

 

ความเป็นอัจฉริยภาพของครูเอื้อนั้นได้รับการยอมรับในระดับสากล เพราะองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลกในโอกาสครบวาระ 100 ปีชาตกาลเมื่อปี 2553 ในวันที่ 21 มกราคม

โดยได้รับการยกย่องในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล เป็นความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและประเทศไทยอย่างมาก และนับได้ว่า “บทเพลงของสุนทราภรณ์” นั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไปแล้ว และแม้เมื่อครูเอื้อไม่อยู่แล้ว แต่ทายาทของครูเอื้อและมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้สืบต่อในผลงานอันเป็นอมตะนี้เรื่อยมา

ใครที่เป็นแฟนเพลงสุนทราภรณ์ตัวยง คงทราบดีว่าวงดนตรีสุนทราภรณ์ในปัจจุบันต้องเดินสายแสดงงานในทุกๆ เดือน บางเดือนที่เป็นช่วงเทศกาลนั้น

บางทีทั้งเดือนได้พัก 2-3 วันก็มี

 

และที่ใกล้ๆ นี้คือ ในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม มีการแสดงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวาระที่ครูเอื้อมีอายุครบ 110 ปี คอนเสิร์ตนี้มีชื่อว่า “110 ปีที่คิดถึง เพื่อสร้างเสริมพลังผู้สูงอายุไทย” อ.สง่า ดามาพงษ์ โต้โผผู้จัดงานนี้ร่วมกับมูลนิธิสุนทราภรณ์ฯ ได้เชิญทั้งนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นเก่ามาร้องเพลงให้ฟัง และก็มีนักร้องรุ่นใหม่ที่ยกมาเต็มวงด้วย

รวมทั้งนักร้องร่วมสมัยก็มี อย่าง ปอ อรรณพ, เท่ห์-อุเทน พรหมมินทร์

ไม่แน่ใจว่าบัตรหมดหรือยัง ท่านใดสนใจลองหาข้อมูลดูนะครับ

สวัสดีวันครู และขอเชิญชวนกันระลึกถึงพระคุณของครูกันนะครับ