จบที่ยังไม่จบ / ฉบับประจำวันที่ 24-30 มกราคม 2563

รอดถูกยุบพรรคไปอีกหนึ่งคดี
สำหรับพรรคอนาคตใหม่
หลังจากที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 21 มกราคม
ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้อง
มติดังกล่าว ทำให้พรรคอนาคตใหม่โล่งใจได้ระดับหนึ่ง
แต่จะถือว่าเรื่องนี้ได้ “จบ” ลงอย่างสิ้นเชิง
ก็ยังกล่าวได้ไม่เต็มปาก
เพราะอย่างน้องในคดีดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ว่า
การที่พรรคอนาคตใหม่เขียนข้อบังคับพรรคโดยใช้ถ้อยคำว่า (ยึด) “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”
รวมทั้งเขียนคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ว่า “พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”
ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า การใช้ข้อความในข้อบังคับของพรรคการเมือง
ควรมีความชัดเจน
ไม่คลุมเครือ
และไม่ควรแตกต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า
“ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
การที่พรรคอนาคตใหม่ระบุไว้เพียงว่า
“ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”
อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ
ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม เพื่อป้องกันความสับสนขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

ปรากฏว่า มีการขานรับจาก กกต.ทันที
ซึ่งนั่นอาจทำให้พรรคอนาคตใหม่ อาจจะต้องแก้ไขข้อบังคับพรรค
ยังไม่ทราบว่า กลุ่มที่จุดยืนตรงข้าม จะไปขยายผลในเรื่องนี้ให้บานปลายออกไปอีกหรือเปล่า
นั่นคือไปตอกย้ำว่าพรรคอนาคตใหม่ จงใจที่จะไม่ใช้ “ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
และอาจจะโหมประเด็น “ชังชาติ” และเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันขึ้นมาอีก
ต้องไม่ลืมว่า กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังไม่ไปไหน ยังมีเครือข่ายพร้อมที่จะตามถล่มพรรคอนาคตใหม่ต่อไป
ซึ่งนายปิยบุตรในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยอมรับว่า
“แม้วันนี้คำร้องยุบพรรคจะถูกยกออกไป แต่ก็ยังมีกระบวนการร้องยุบพรรค ยังมีนิติสงครามทำลายพรรคอนาคตใหม่อยู่”
นี่แหละทำให้เรื่องที่ควรจบ ไม่จบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ค้างคาอยู่ กรณีนายธนาธรกับพวกจัดการชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กหน้าห้างเอ็มบีเค เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา แล้วถูกดำเนินคดี
โดยตอนแรกตำรวจตั้งข้อหา 4 ข้อหา
คือ
1. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง
2. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้า-ออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ
3. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
4. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
แต่ภายหลังจากที่นายธนาธรและพวกเข้าให้ปากคำ
ตำรวจได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหาคือ ทำการชุมนุมสาธารณะในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวัง
ทำให้กรณีนี้เกี่ยวพันไปยังประเด็น “ละเอียดอ่อน” อีก
ซึ่งพร้อมจะบานปลายออกไปยังเรื่องอื่นได้ตลอดเวลา
นี่จึงเป็นการตอกย้ำถึงภาวะ จบแต่ไม่จบ อีกเรื่องหนึ่ง

และแน่นอน ที่ถูกคาดหมายว่าเป็นเรื่องที่ไม่จบ และเป็นเรื่องใหญ่ ที่ชี้เป็นชี้ตายสำหรับพรรคอนาคตใหม่
ถึงขั้นยุบพรรคอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในขั้นตอนที่พรรคอนาคตใหม่ขอยื่นขยายเวลาส่งพยานเอกสาร ไปจนถึงวันที่ 27 มกราคม
และกำลังรอ “ลุ้น” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้เปิดการไต่สวนหรือไม่
แม้พรรคอนาคตใหม่ จะมี เอกสารตีตรา “ลับ” จำนวน 4 รายการ ที่แสดงให้เห็นว่า กกต.ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี “ข้ามและผิดขั้นตอนทางกฎหมาย” ชัดเจนหลายเรื่อง และจงใจที่จะยุบพรรคทั้งที่ลากไปไม่ถึง เป็นตัวช่วย
มีข้อมูล จากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ออกมาร่วมวงแฉว่ามีพรรคการเมืองถึง 18 พรรค ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดังกล่าว
แต่ทำไมไม่มีการดำเนินคดีกับพรรคที่เหลือ
เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
ทั้งปมเอกสารหลุด และปมงบการเงิน ทำให้พรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนจะมีช่องทางในการต่อสู้ เพื่อไม่ให้ถูกยุบพรรคมากขึ้น
แต่กระนั้นก็คงไม่อาจจะมั่นใจใดๆ ได้
เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ด้วยหลายฝ่ายเชื่อว่า เป้าหมายที่จะ จำกัด-กำกัด-ขจัด พรรคอนาคตใหม่ ยังคงดำรงอยู่
เรื่องที่จบ จึงเหมือนไม่จบ ดังว่า
———————–