วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “เสีว์ยนจั้ง” ผู้จาริกสู่ชมพูทวีป

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (24)

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

ความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในสมัยถังในเบื้องแรกอาจเห็นได้จากศาสนสถาน ที่กล่าวกันว่า อารามของศาสนานี้สามารถสร้างและเห็นได้โดยทั่วไปทั้งในฉังอันและลว่อหยัง การตั้งอยู่ของอารามเช่นนี้ทำให้นึกเห็นได้ต่อไปว่า การศึกษาและบวชเรียนในศาสนานี้ย่อมเป็นไปอย่างกว้างขวาง

ถึงกระนั้น ความรุ่งเรืองนี้ก็ดูเหมือนไม่มีเรื่องใดที่ถูกกล่าวขานได้มากเท่าเรื่องราวของภิกษุที่มีสมณฉายาว่าเสีว์ยนจั้งอีกแล้ว

เสีว์ยนจั้ง (ค.ศ.602-664) เป็นสมณฉายาของเฉินฮุย หรือเฉินอี (ชื่อในพยางค์ที่สองอ่านได้สองเสียง) สมณฉายาคำว่าเสีว์ยน หมายถึง ลึกซึ้ง คำว่าจั้ง หมายถึงคัมภีร์ ซึ่งในบริบทของสังคมจีนจะหมายถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธและลัทธิเต้า

ดังนั้น ในเมื่อเสีว์ยนจั้งบวชในศาสนาพุทธ สมณฉายาของเสีว์ยนจั้งจึงหมายถึง ผู้ลึกซึ้งในคัมภีร์พุทธ และเมื่อแปลสมณฉายานี้เป็นคำสันสกฤตจึงมีผู้แปลเป็นว่า ไตรปิฎกธโร ด้วยคำว่า ธโร หมายถึง การทรงไว้ คำว่า ไตรปิฎกธโร จึงหมายถึง การทรงไว้ซึ่งไตรปิฎก

ซึ่งมีความหมายนัยเดียวกับคำว่า เสีว์ยนจั้ง

แต่กระนั้น ด้วยบทบาทของเสีว์ยนจั้งที่มีต่อศาสนาพุทธในจีนมีคุณูปการเป็นที่ยิ่ง จึงนอกจากสมณฉายานี้แล้วจึงยังมีฉายาอื่นอีกคือ ถังซันจั้ง คำว่า จั้ง ในฉายานี้แม้มีเสียงเดียวกับฉายาแรก แต่ก็มีตัวเขียนต่างกันและหมายถึงไตรปิฎก

ฉายานี้จึงมีผู้ให้คำเรียกว่าตรีปิฎก ที่มีความหมายนัยเดียวกับคำว่าไตรปิฎก และเป็นคำที่เหมาะจะเป็นฉายาของบุคคล ผิดกับคำว่าไตรปิฎกที่ฟังดูแล้วจะให้ความรู้สึกที่เป็นปกรณ์หรือคัมภีร์ (ดังจะเห็นได้จากฉายาไตรปิฎกธโร เป็นต้น)

จากเหตุนี้ คำว่าถังซันจั้ง จึงแปลได้ว่า ตรีปิฎกแห่งถัง (1)

นอกจากนี้ ภิกษุรูปนี้ก็ยังมีฉายาอื่นๆ อีกคือ เสีว์ยนจั้งซันจั้ง (ตรีปิฎกแห่งไตรปิฎกธโร) เสีว์ยนจั้งต้าซือ (ปรมาจารย์ไตรปิฎกธโรหรือท่านอาจารย์ไตรปิฎกธโร) และถังเซิง (ภิกษุแห่งถัง)

 

ฉายาที่ยกมานี้ล้วนสะท้อนความหมายไปในทางที่ว่า เสีว์ยนจั้งเป็นภิกษุที่มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถังและตรงกับยุคของถังไท่จง หรือเป็นผู้แปลไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากว่าตามความคุ้นชินแล้วดูเหมือนว่าฉายาถังซันจั้ง ดูจะเป็นที่แพร่หลายกว่าฉายาอื่น ทั้งนี้ก็คงมาจากเหตุที่ภิกษุรูปนี้มีผลงานแปลพระไตรปิฎกนั้นเอง

ชีวิตและบทบาทที่มีต่อศาสนาพุทธในจีนของเสีว์ยนจั้งจนเป็นที่กล่าวขานนั้น รู้ได้จากผลงานสองชิ้นคือ บันทึกเรื่องอัสดงคตประเทศแห่งมหาราชวงศ์ถัง (ต้าถังซีอวี้จี้) และ ประวัติภิกษุไตรปิฎกธโรแห่งมหาการุณยารามในสมัยมหาราชวงศ์ถัง (ต้าถังต้าฉือเอินซื่อซันจั้งฝ่าซือจ้วน)

เล่มแรกเขียนโดยเสีว์ยนจั้ง ส่วนเล่มที่สองเขียนโดยศิษย์ของเสีว์ยนจั้ง นั่นคือภิกษุฮุ่ยลี่ หลังจากเขียนแล้วเสร็จก็มีภิกษุที่เป็นศิษย์อีกรูปหนึ่งนำมาแก้ไขเพิ่มเติม แต่สาระสำคัญยังคงอยู่ที่ต้นฉบับแรก

แต่จะด้วยเรื่องราวของหนังสือทั้งสองเล่มหรือไม่ก็ตาม ต่อมาเมื่อถึงศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์หมิงจึงมีนักวรรณคดีชื่ออู๋เฉิงเอิน (ค.ศ.1500-1582 หรือ ค.ศ.1505-1580) นำเรื่องของเสีว์ยนจั้งมาผูกเป็นวรรณกรรมเรื่อง ซีโหยวจี้ (ท่องแดนตะวันตก) จนเป็นที่นิยมติดต่อกันมาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน

และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมายหลายภาษา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเป็นวรรณกรรมในแนวผจญภัยที่เต็มไปด้วยอภินิหาร (2)

แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงคติและปริศนาธรรมทางพุทธศาสนาเอาไว้อย่างลุ่มลึก (3) โดยชั้นหลังต่อมายังได้มีการเรียบเรียงเป็นฉบับการ์ตูนสำหรับเด็กอีกด้วย

ความนิยมนี้มีมากจนทำให้ผู้สร้างรูปเคารพของตัวละครบางตัวเพื่อกราบไหว้บูชา

 

กล่าวเฉพาะ บันทึกเรื่องอัสดงคตประเทศฯ แล้วได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ จารีตประเพณี และตำนานลัทธิหรือศาสนาของรัฐต่างๆ ถึง 111 รัฐที่เสีว์ยนจั้งได้พบเห็นระหว่างทางที่จาริกไปถึง และอีก 28 รัฐที่ได้ยินได้ฟังมา

บันทึกนี้จึงมีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของดินแดนแถบนั้น โดยเฉพาะเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือกับเอเชียกลาง

ส่วนผลงานแปลพระไตรปิฎกนั้น ต่อมาได้ทำให้ศาสนาพุทธในจีนขยายไปสู่ความเป็นเอตทัคคะด้านต่างๆ ของศาสนานี้ และยังแผ่ไปยังเกาหลีและญี่ปุ่นอีกด้วย

แต่กระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า ที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองด้วยบทบาทของเสีว์ยนจั้งและตรงกับยุคของถังไท่จงนั้น มิได้หมายความว่าถังไท่จงจะทรงให้การส่งเสริม เพราะแรกที่เสีว์ยนจั้งมีความตั้งใจจะจาริกไปชมพูทวีปเพื่อแปลพระไตรปิฎก และได้ขอประทานราชานุญาตจากถังไท่จงนั้น

คำขอของเสีว์ยนจั้งกลับไม่ได้รับราชานุญาต

จนคณะภิกษุที่จะร่วมจาริกไปด้วยต่างท้อถอยกันไป คงเหลือก็แต่เสีว์ยนจั้งเท่านั้นที่ยังคงไม่ละความตั้งใจ และได้ตัดสินใจหนีออกจากเมืองไปในที่สุด กล่าวอีกอย่าง หากเสีว์ยนจั้งไม่ตัดสินใจหนีเพื่อจาริกแล้ว บางทีผลงานตามที่กล่าวมาก็คงไม่ปรากฏให้เห็นก็เป็นได้

แม้ในประวัติพระถังซัมจั๋ง จะไม่ได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดถังไท่จงจึงไม่อนุญาตให้เสีว์ยนจั้งและคณะได้จาริกในครั้งนี้ก็ตาม แต่ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ได้ให้ข้อมูลโดยอ้อมไว้เช่นกัน ว่าในเวลานั้นถังเพิ่งตั้งราชวงศ์ขึ้นมาได้ไม่กี่ปี (ตรงกับปีที่ 3 ของถังไท่จง)

“…บ้านเมืองเพิ่งจัดขึ้นใหม่ เขตต์แดนราชอาณาจักรก็ยังไม่กว้างใหญ่ไพศาล จึงมีกฤษฎีกาห้ามมิให้ราษฎรออกไปยังดินแดนของพวกฮวน”

พวกฮวนในหนังสือเล่มนี้ก็คือชนชาติเติร์กที่งานศึกษานี้กล่าวมาโดยตลอด

การที่ถังไท่จงไม่อนุญาตให้เสีว์ยนจั้งและคณะจาริกไปยังชมพูทวีปจึงน่าจะมาจากเหตุนี้มากที่สุด แต่ครั้นเสีว์ยนจั้งกลับถึงจีนอีกครั้งหนึ่ง ถังไท่จงจึงทรงมีบัญชาให้เสีว์ยนจั้งบันทึกเรื่องราวของดินแดนชมพูทวีป จนกลายเป็นผลงานเรื่อง บันทึกเรื่องอัสดงคตประเทศฯ ดังกล่าว

จากเหตุนี้ แม้ถังไท่จงจะไม่อนุญาตด้วยเหตุผลที่ว่า แต่หากไม่ทรงมีบัญชาให้เสีว์ยนจั้งบันทึกเรื่องที่ว่าแล้ว บางทีผลงานเรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากบทบาทของเสีว์ยนจั้งแล้ว ก็ยังมีภิกษุรูปอื่นอีกจำนวนหนึ่งที่ต่างก็มีบทบาทในทำนองเดียวกัน และการที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในยุคนี้ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีศาสนสถานเกิดตามมาด้วย

ไม่เพียงศาสนสถานที่มีอยู่แต่เดิมจะถูกขยายต่อเติมเท่านั้น ศาสนสถานใหม่ๆ ก็ถูกสร้างขึ้นไม่น้อยเช่นกัน ที่ขึ้นชื่อไม่น้อยก็คือ ศาสนสถานถ้ำที่เป็นฝีมือมนุษย์ในหลายที่หลายแห่งที่ตกทอดให้เห็นมาถึงปัจจุบัน

การที่ถังมีบทบาทในการวางรากฐานให้แก่ศาสนาพุทธในจีนเช่นนี้ ในด้านหนึ่งย่อมสวนกระแสระบบการปกครองที่มีลัทธิขงจื่อเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่ถ้าหากศึกษาถึงภูมิหลังของราชวงศ์ถังที่มิได้เป็นชนชาติฮั่นโดยสมบูรณ์ และบรรพชนของตนก็สมาทานในศาสนาพุทธมาแต่เดิมด้วยแล้ว

บทบาทที่มีต่อศาสนาพุทธของถังก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้

ที่สำคัญ การที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองโดยสวนกระแสลัทธิขงจื่อมาได้นั้น ก็เพราะถังมิได้ปฏิเสธลัทธิขงจื่อในทางการเมือง ตรงกันข้าม ลัทธิขงจื่อยังคงเป็นรากฐานการปกครองที่มั่นคง แม้ลัทธินี้จะถูกลดความสำคัญลงไปบ้างในสมัยของจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน

แต่หลังจากนั้นก็ฟื้นกลับคืนมาได้ดังเดิม

————————————————————————————————–
(1) คำเรียกชื่อว่าถังซันจั้งนี้คือชื่อที่ไทยเราคุ้นเคยในคำว่า ถังซำจั๋ง (บางที่เขียนเป็น ถังซัมจั๋ง) ซึ่งเป็นเสียงจีนแต้จิ๋ว
(2) วรรณกรรมเรื่องนี้ในฉบับแปลภาษาไทยคือ ติ่น, พงศาวดารจีนเรื่อง ไซอิ๋ว เล่ม 1-8, วรรณเอดิเตอร์ ตุละวิภาคพจนกิจ บรรณาธิการแปล (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานจัดพิมพ์หนังสือชุดภาษาไทย, 2512). ในหน้า “นำเรื่อง” (หน้า ฉ) ของหนังสือแปลชุดนี้ได้ระบุชื่อผู้แปลว่า ติ่น เพียงพยางค์เดียว จึงน่าจะเป็นชาวจีน (ชาวไทยเชื้อสายจีน) ที่มีความรู้ภาษาจีนและไทยเป็นอย่างดี ไม่น่าที่จะเป็นนามปากกา อย่างไรก็ตาม หนังสือชุดนี้มิได้ระบุชื่อผู้แปลและบรรณาธิการแปลไว้ที่หน้าปกหรือใบรองปก หากแต่ระบุไว้ในหน้า “นำเรื่อง” ดังกล่าว
(3) ที่ว่าแฝงคติและปริศนาธรรมเอาไว้นี้หมายถึงว่า ตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ หากไม่เป็นสัญลักษณ์ทางธรรมก็จะเป็นการอธิบายธรรมได้ทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้อ่านที่ประสงค์ที่จะรู้ให้ลุ่มลึกกว่าความสนุกในทางวรรณกรรมแล้วจะเห็นได้เองว่า คติและปริศนาในวรรณกรรมเรื่องนี้มีความซับซ้อนมาก วรรณกรรมในแง่มุมนี้ศึกษาได้จาก เขมานันทะ (นามปากกา), เดินทางไกลกับไซอิ๋ว (กรุงเทพฯ : กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม, ไม่ระบุปีที่พิมพ์).