คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “เหตุผล” กับการให้คำสอนทางจริยธรรมของศาสนา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

บางครั้งนักศึกษาในชั้นเรียนของผมก็ตั้งข้อสงสัยกับระเบียบวิธีปฏิบัติหรือแบบแผนบางอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาและประเพณี รวมไปถึงระบบศีลธรรมทางศาสนาด้วย

เขามักขบขันเวลาใครอ้างเอาศีลธรรมทางศาสนาว่า เป็นสูตรสำเร็จในการบรรลุสู่ชีวิตที่ดีหรือสังคมที่ดี เช่น หากมีใครสักคนบอกว่า แค่ศีลห้าก็เพียงพอที่จะทำให้โลกนี้สงบสุข หรือปฏิบัติตามหลักศาสนาอะไรก็ตามแต่จะช่วยให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้นได้

แน่นอนครับ เมื่อกล่าวแบบนี้หลายคนย่อมไม่พอใจแน่ แต่นักศึกษาเขาไม่ได้คิดว่าสังคมมนุษย์จะอยู่ได้อย่างสงบสุขโดยไร้กฎระเบียบหรือจริยธรรมนะครับ เพียงแต่เขามุ่งแสวงหากฎกติกาทางจริยธรรมที่เป็นสากลพอจะก้าวข้ามลักษณะเฉพาะทางศาสนาต่างๆ และเป็นที่ยอมรับของทุกคนเท่านั้น ซึ่งก็อาจไม่ใช่ศีลธรรมตามแบบศาสนา

หลายครั้งพวกเขาคิดว่าศีลธรรมทางศาสนาอาจไม่ใช่คำตอบและอาจเป็นปัญหาเสียเองด้วยซ้ำ เช่น หลักจริยธรรมที่อาจขัดแย้งหรือสร้างความขัดแย้งเสียเอง เช่น มุมมองที่มีต่อการฆ่า ต่อสตรี ฯลฯ

เมื่อเป็นเช่นนี้ บางคนก็เลือกที่จะละทิ้งศาสนาที่ครอบครัวนับถือ ไม่ไปประกอบพิธีกรรมที่เคยทำ

พวกเขาเล่าว่าหลายครั้งคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ พ่อแม่ลุงป้าน้าอามักจะกังวล ว่าลูกหลานพอไม่มีศาสนา จะต้องกลายเป็นคนชั่วร้าย เพราะไม่มีศีลธรรมประจำใจ

ผมบอกเขาไปว่า ให้อธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังว่า ศีลธรรมหรือจริยธรรมในโลกนี้มันมีแบบของศาสนาและแบบที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น เคารพและให้เกียรติผู้อื่น เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของทุกคน มองว่าคนเท่ากัน ฯลฯ จริยธรรมเหล่านี้เป็นของโลกย์ๆ ไม่ได้เกิดมาจากศาสนา

การไม่ได้ถือเอาศีลธรรมทางศาสนาไม่ได้แปลว่าจะไม่ต้องถือศีลธรรมชุดนี้

 

และดังที่ผมเคยคุยไปหลายครั้ง หากศาสนาจะดำรงอยู่อย่างมีความหมายต่อผู้คนในปัจจุบัน ศาสนาต้องโน้มเข้าหาคุณค่าสากลดังกล่าว ในฐานะที่ตัวเองนับถือศาสนาก็ยังเชื่อว่า หากเราค้นหาและตีความคำสอนในศาสนาต่างๆ ก็อาจไปกันได้กับคุณค่าในโลกสมัยใหม่

นอกจากการสามารถเข้าร่วมกับคุณค่าสากลได้แล้ว ผมคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งไม่เอา หรือ “ไม่ซื้อ” ข้อปฏิบัติหรือคำสอนทางศาสนาโดยเฉพาะที่มาจากความเชื่อ ก็เพราะเขายังไม่เห็น “เหตุผล” ที่มากพอจะยอมรับได้

แม้ศาสนาจะเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเสียมาก เช่น ศรัทธา แต่ผมคิดว่าเหตุผลก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของศาสนาด้วย เพราะลำพังศรัทธาไม่ก่อให้เกิดศาสนิกใหม่ๆ ได้ อีกทั้งการยอมรับในวงกว้างก็จะน้อยลงตาม

เรื่องนี้เคยเป็นเรื่องใหญ่ๆ ของทุกศาสนามาทั้งนั้น เช่น คริสต์ศาสนาในสมัยกลางก็เริ่มด้วยการแสวงหาเหตุผลให้กับหลักคำสอนและความเชื่อทางศาสนา

เช่น การพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าด้วยระบบเหตุผล โดยไม่พยายามอ้างอำนาจจากคัมภีร์หรือความเชื่อเพียงอย่างเดียว

จึงเกิดมีงานของทั้งนักบุญออกุสตินุสหรือออกัสติน ที่ใช้ปรัชญาแบบเพลโตมาอธิบายพระเจ้า

หรือของนักบุญทอมัสอไควนัสที่ใช้ปรัชญาของอริสโตเติลมาใช้กับความเชื่อของคริสต์ศาสนา

ไม่ว่างานของนักคิดเหล่านี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าปรัชญาหรือเหตุผลจะมีสถานะเพียง “สาวใช้” ของเทววิทยาในยุคนั้น แต่อย่างน้อยๆ ในประวัติศาสตร์โบราณ ศาสนาก็พยายามที่จะใช้เหตุผลเข้มข้นเพื่อให้ผู้คนยอมรับมาแล้ว

 

ต้องบอกอย่างนี้ด้วยนะครับ เหตุผลในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการอธิบายในเชิง “วิทยาศาสตร์” หรือใช้กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ (อย่างที่มีคนพยายามทำกับศาสนาในบ้านเรา) เท่านั้น ในฐานะคนเรียนปรัชญา เราถูกสอนให้มองทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่เป็นกระบวนทัศน์ หรือความคิดรวบยอดแบบหนึ่ง ไม่ใช่ความจริงแท้หนึ่งเดียว หรือคำอธิบายความจริงของจักรวาลที่โต้แย้งไม่ได้ (แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามแคลมแบบนั้นก็ตาม โดยเฉพาะจากฝั่งศาสนา)

ดังนั้นเหตุผลคืออะไร เหตุผลคือระบบการอ้างข้อความเพื่อสนับสนุนว่าสิ่งที่เราเสนอนั้นเป็นจริง การอ้างเหตุผลจึงอาจมีทั้งที่สมเหตุสมผลหรือไม่สมเหตุสมผลก็ได้ ดังนั้น เมื่อใช้เหตุผลจึงเท่ากับเปิดโอกาสให้โต้แย้งกันได้อย่างเท่าเทียม และผู้อ้างเหตุผลก็ต้องพยายามเสนอเหตุผลอย่างดีที่สุด

พื้นที่ของการโต้แย้งโดยเหตุผลนี่แหละครับที่ทำให้ความคิดของมนุษย์งอกเงย ในพื้นที่นี้ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร ไม่มีใครสามารถอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของอะไรมาปิดปากอีกฝ่ายได้ และทุกคนเคารพต่อกติกาเดียวกัน

พื้นที่ของเหตุผล จึงเป็นพื้นที่ที่สังคมไทยต้องการมากๆ และมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่งั้นเราจะวนเวียนอยู่กับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ว่าจะในวัดวาอาราม ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หรือในระบบการเมือง

 

ที่จริง ที่ผมยกประเด็นทั้งจากประสบการณ์ในห้องเรียนและอะไรนู่นนั่นนี่มากมาย ก็เพียงเพราะผมมีความรู้สึกประทับใจต่อการแสดงธรรมของพระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช พระอาจารย์สำคัญของทิเบตในช่วงปีใหม่นี้

พระอาจารย์เดินทางมาแสดงธรรมที่มูลนิธิพันดารา หัวข้อเรื่องการปฏิบัติเจ็ดแขนงในฝ่ายมหายาน เช่น การยึดพระรัตนตรัย สารภาพอกุศลกรรม ตั้งโพธิจิตปณิธาน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นบุพกิจก่อนเริ่มทำพิธีอื่นๆ

แล้วท่านก็เทศน์มาเรื่องของการละอกุศลกรรมและการสั่งสมบารมีทั้งหกของโพธิสัตว์ แม้หลายคนจะเคยได้ฟังหรืออ่านสิ่งที่ท่านเทศนาจากหนังสือและครูบาอาจารย์ต่างๆ มาแล้ว แต่สิ่งที่ผมประทับใจคือวิธีการที่ท่านใช้ในการสอน

ผมเอ่ยกับวิจักขณ์ พานิช ซึ่งไปด้วยว่า ท่านสอนตามแบบนักปราชญ์ของ “นาลันทา” จริงๆ กล่าวคือพระอาจารย์ในยุคนาลันทา เช่น ท่านนาคารชุน จันทกีรติ อสังคะ วสุพันธุ ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นสายทั้งคำสอนฝ่ายมหายานและวัชรยาน มีความเจนจัดในเรื่องตรรกวิทยาหรือการอ้างเหตุผลมากๆ และมักแสดงชี้แจงเหตุผลเหล่านั้นในคำสอนเสมอ

เนื่องด้วยในสมัยนั้น พุทธศาสนาต้องอยู่ในบรรยากาศของการโต้แย้งทางความคิดหรือปรัชญาที่เข้มข้นจากหลากหลายสำนักทั้งพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ซึ่งต่างก็ต่อสู้ทางความคิดอย่างไม่ลดราวาศอกกันเลย

พระภิกษุทั้งหลายจึงจำต้องแม่นยำในเรื่องเหตุผลมากๆ เพราะจะไปอ้างความเชื่อหรือความศักดิ์สิทธิ์ในการโต้เถียงคงไม่ได้ อีกทั้งความซับซ้อนของคำสอนในพุทธศาสนาเอง โดยเฉพาะฝ่ายมหายาน วิชาตรรกวิทยาจึงเป็นวิชาบังคับสำคัญในนาลันทาและวิกรมศิลา สองมหาวิทยาลัยสงฆ์สมัยนั้น

เมื่อพุทธศาสนาไปสู่ดินแดนทิเบต ก็พาเอาความสำคัญของวิชานี้ติดไปด้วย

พระภิกษุทิเบตจึงต้องเรียนวิชาตรรกวิทยาอย่างเต็มที่ไปจนถึงระดับตรรกวิภาษคือโต้แย้งกันในทางตรรกะได้

 

ท่านพระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช เมื่อท่านต้องสอนเรื่องการละอกุศลกรรม ท่านไม่ได้แยกการสอนเฉพาะเรื่องจริยธรรมออกจากเหตุผลและที่มาของมัน ดังที่มักเป็นในการสอนศีลธรรมของบ้านเรา (ซึ่งราวกับศีลธรรมมันดีในตัวเองโดยไม่ต้องอธิบาย)

แต่ท่านไล่ไปตั้งแต่เรื่องรากฐานที่มาของการทำอกุศลกรรม ซึ่งเกิดจากยาพิษทั้งห้า (กิเลส) อันมีที่มาจากความหลงหรือความเข้าใจผิด และปลายทางของการทำอกุศลนำมาสู่ความทุกข์ได้อย่างไรโดยลำดับ

ครั้งหนึ่งเมื่อท่านสอนเรื่องการละวางความโกรธ ท่านไม่ได้เริ่มต้นจากการบอกว่าความโกรธมันไม่ดี แต่ท่านกลับให้เริ่มต้นจากการพิจารณาว่าคนที่เราเรียกว่า “ศัตรู” คืออะไร สารัตถะของมันอยู่ตรงไหน ความเป็นศัตรูมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงนามที่เราสมมุติขึ้นสวมกับบางคน (คนคนนั้นไม่ได้เป็นศัตรูกับทุกคน เขาอาจเป็นพ่อ แม่ หรือคนรักของใครสักคน)

ดังนั้น เมื่อเห็นว่าความเป็นศัตรูนั้นที่แท้จริงก็ “ว่าง” ความโกรธจึงไม่มีที่สำหรับที่มันจะมุ่งไปสู่ การละความโกรธจึงเป็นไปได้ด้วยการพิจารณาเหตุผลตามลำดับโดยไม่ต้องกดข่มหรือหนีมัน อย่างนี้เป็นต้น

ผมอาจยกตัวอย่างมาไม่ดีนักเพราะจริงๆ มีรายละเอียดอีกมาก แต่อย่างน้อยๆ คงแสดงให้เห็นว่า การเทศนาหรือการให้คำสอนทางศาสนาโดยเฉพาะเรื่องศีลธรรมแก่คนรุ่นใหม่ควรจะต้องมีเหตุผลรองรับ

ส่วนเหตุผลนั้นจะบกพร่องหรือดีอย่างไรค่อยถกเถียงกันต่อไปอีกยาวๆ

ที่จริงไม่ใช่แค่ในแวดวงศาสนาซึ่งอาจชอบเทศน์มากกว่าคนอื่นหน่อย แต่ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ในที่ทำงาน ในวงสังคมการเมือง หากเกิดข้อบังคับหรือแบบแผนปฏิบัติที่เกี่ยวกับจริยธรรม ผมคิดว่าการชี้แจงแสดงเหตุผลเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ

คนสมัยนี้ไม่น้อยแล้วนะครับที่ไม่ได้เชื่องหรือถูกชักจูงง่ายๆ

จะให้เขาเชื่อก็ต้องให้เหตุผลที่ฟังขึ้นด้วย