มนัส สัตยารักษ์ | มองความขัดแย้งอิหร่าน-สหรัฐ แล้วหันกลับมามองนักการเมืองวิวาทในไทย

เมื่อสหรัฐลอบสังหารนายพลอิหร่าน ทำให้มีถ้อยคำประโยคหนึ่งจากนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นคือ “การป้องกันตัวเองล่วงหน้า”

เมื่อพรรคฝ่ายค้านแพร่ข่าวจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทำให้มีข้อความประโยคหนึ่งเกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐบาล นั่นคือ “ห้ามอภิปรายย้อนยุค คสช.”

เหตุการณ์ลอบสังหารกับเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงถ้อยคำหรือข้อความทั้ง 2 ประโยคต่างเกิดขึ้นคนละมุมโลก ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของ “การสู้รับทางการเมือง” ของคน 2 ฝ่าย

เป็นถ้อยคำที่ย้อนแย้งและสวนทางกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ประโยคแรกมองไปยัง “อนาคต” แต่ประโยคหลังทำให้หวนย้อนไปนึกถึง “อดีต”

สหรัฐกับอิหร่านเคยเป็นมิตรที่ดีกันมาก่อน สหรัฐได้สัมปทานบ่อน้ำมันในอิหร่านจำนวนมาก ต่อมาในปี 1979 อิหร่านปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลาม กษัตริย์อิหร่าน (ซึ่งสหรัฐหนุนหลัง) ลี้ภัยไปอเมริกา

หลังการปฏิวัติรัฐบาลอิหร่านยึดสัมปทานบ่อน้ำมันรวมทั้งกิจการต่างๆ ที่สหรัฐควบคุมอยู่มาดูแลเอง ทำให้สหรัฐเสียผลประโยชน์ไปอย่างมหาศาล

ในปีเดียวกันนี้ นักศึกษาปฏิวัติมุสลิมอิหร่านบุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน จับเจ้าหน้าที่การทูต 52 คนไว้เป็นตัวประกันเป็นเวลา 444 วัน เพื่อกดดันสหรัฐให้ส่งพระเจ้าชาห์กลับมารับโทษที่อิหร่าน

เหตุการณ์นี้ทำให้ประเทศทั้งสองแตกหักจากความสัมพันธ์ทางการทูต

หลังจากนั้นก็กลายเป็นประเทศ “คู่แค้น” ตลอดกาล

สหรัฐกล่าวหาอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐจึงร่วมกับสหภาพยุโรปและสหประชาชาติคว่ำบาตร ซึ่งกลายเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานถึง 13 ปี แต่สามารถมาเคลียร์กันได้ในสมัยบารัค โอบามา เป็นประธานานธิบดีสหรัฐ โดยมีข้อตกลงว่าอิหร่านจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี แล้วจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

แต่เมื่อถึงยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานานธิบดี ทรัมป์อ้างว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีก สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงคว่ำบาตรอิหร่าน โดยขยายมาตรการไปถึงบริษัทเอกชนทุกสัญชาติที่ร่วมงานกับอิหร่านจะถูกคว่ำบาตรไปด้วย

หลังจากนั้นมีข่าวทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีกันไป-มา ตามประสาศัตรูในสงคราม

เมษายน 2562 ทรัมป์ขึ้นบัญชีกองทัพอิหร่านเป็น “องค์กรก่อการร้ายต่างแดน” อิหร่านก็ประกาศขึ้นบัญชีกองทัพสหรัฐเป็นกลุ่มก่อการร้ายเช่นกัน

นายพลอิหร่านที่ถูกสหรัฐลอบสังหารเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ที่ประเทศอิรัก คือ นายพลคัสเซม โซไลมานี มือขวาของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน นายพลโซไลมานีเป็นที่รักใคร่นับถือของชาวอิหร่าน ถึงกับเชื่อกันว่าเป็นผู้นำหมายเลข 2

หลังการลอบสังหารเป็นผลสำเร็จ โดยมีผู้ร่วมเสียชีวิตไปด้วย 7 คน รวมทั้งนายพลของอิรักและผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กระทรวงกลาโหมสหรัฐพยายามออกข่าวย้ำทำนองว่า นายพลโซไลมานีอยู่เบื้องหลังการยิงจรวดโจมตีฐานที่มั่นของทหารสหรัฐหลายครั้ง เพื่อให้เกิด “ความชอบธรรมในการป้องกันชีวิตคนอเมริกัน” ของทรัมป์

นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอเทรอดาม ให้ทัศนะต่อประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การป้องกันตัวเองล่วงหน้า” ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างให้การลอบสังหารกลายเป็น “สิ่งชอบธรรมทางกฎหมาย” ได้

โดยส่วนตัวผมไม่ชอบสงครามและไม่ชอบนายโดนัลด์ ทรัมป์อยู่แล้ว ดังนั้น จึงถูกใจกับคำว่า “การป้องกันตัวเองล่วงหน้า ไม่ใช่สิ่งชอบธรรมทางกฎหมาย” ของนักวิชาการด้านกฎหมายอย่างเป็นพิเศษ

หันมามองเหตุการณ์ในบ้านของตัวเองบ้าง ที่จะเป็นเหตุการณ์ให้เกิด “สงคราม” อย่างสหรัฐกับอิหร่านนั้นยังไม่มี

แต่ “วาทะ” ของแต่ละท่านในฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน กองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสื่อที่เป็นกลาง สื่อเลือกข้าง และสื่อโซเชียล ต่างล้วนเป็นวาทะที่จะก่อให้เกิด “วิวาท” แล้วขยายผลเป็น “สงคราม” ได้ทั้งสิ้น

เพียงแต่คนใดคนหนึ่งจะสวมใส่ความคิดและการกระทำตามแบบฉบับของโดนัลด์ ทรัมป์ ลงไปเท่านั้น เราก็จะได้สงครามทันที ไม่เชื่อลองจับคู่ให้พวกเขาพูดคุยถกเถียงกัน…

ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กับเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในประเด็น 6 ส.ว.ตามตำแหน่ง ที่มาจาก ผบ.เหล่าทัพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คุยกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลในเรื่อง “รัฐเชียงกง” ควบเรื่อง “อิเหนาเมาหมัด”

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในเรื่อง “ปี 2563 ปีแห่งการต่อสู้ของประชาชน” กับเรื่อง “แผ่นดินของเรา ในมุมมองด้านความมั่นคง”

สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรค รปช. คุยกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เรื่อง “วายร้ายตัวใหม่”

ข้างต้นเป็นเพียง 1 ใน 1,000 ของคู่ “วาทะ” ซึ่งสามารถสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การ “วิวาท” และขยายผลไปสู่สงครามเช่นเดียวกับสหรัฐและอิหร่าน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวดักคอพรรคฝ่ายค้านว่า พรรคฝ่ายค้านควรวางกรอบอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ (ในรอบเวลา 5 เดือน) เท่านั้น ไม่ควรอภิปรายย้อนหลังกลับไปสมัยรัฐบาล คสช.

คำ “ดักคอ” ของนายกรัฐมนตรีทำให้แกนนำพรรคฝ่ายค้านออกมาตอบโต้อย่างหนัก

“มติชนออนไลน์” ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้อ่าน มีผู้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทางทวิตเตอร์ออนไลน์จำนวน 1,682 ราย พบว่า ร้อยละ 91 ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ร้อยละ 9 เห็นด้วย

ส่วนผลสำรวจทางแฟนเพจของเฟซบุ๊ก มีผู้เข้ามาร่วมโหวตจำนวนสูงถึง 6,900 ครั้ง พบว่า ร้อยละ 95 ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ร้อยละ 5 เห็นด้วย

ในส่วนตัวผู้เขียนซึ่งมิใช่นักวิชาการทางกฎหมาย เพียงแต่ใช้สามัญสำนึกก็เห็นว่า รัฐบาลกำลังใช้วิธี “ป้องกันตัวเองย้อนหลังจากอดีต” สวนทางกับ “การป้องกันตัวเองล่วงหน้า” ของทรัมป์ ซึ่ง “ไม่ใช่สิ่งชอบธรรมทางกฎหมาย”

การย้อนหลังกลับไปอภิปรายรัฐบาล คสช. อาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่เชื่อเถิดว่าไม่มีใครกล้าฟ้อง เพราะในชั้นศาลพิจารณานั้น ศาลจะซักถามรายละเอียดในเรื่องที่ถูกอภิปราย!!