สุรชาติ บำรุงสุข | 2563 : รัฐบาลร่อแร่ เศรษฐกิจร่วงโรย ทุนใหญ่รุ่งโรจน์ กองทัพรุ่งริ่ง ต่างประเทศร้างรา ชาวประชาร่องแร่ง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การประท้วงก็เป็นหน้าที่”

ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน

ปี2563 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

เพราะสัญญาณต่างๆ จากปี 2562 บอกอาการหลายอย่างที่เป็นทิศทางของประเทศในอนาคต

บทความนี้จะนำเสนอแนวโน้ม 6 ประการของปีหน้า

รัฐบาล- ร่อแร่

หากพิจารณาจากสถานะของรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งในต้นปี 2562 แล้ว เห็นได้ชัดว่า ระบอบที่เกิดขึ้นเป็นการสืบสานจากรัฐบาลรัฐประหารเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหลักในรัฐบาล ตลอดรวมถึงตัวนโยบายที่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติ ล้วนเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากระบอบเดิมทั้งสิ้น

ระบอบที่เกิดขึ้นใหม่จึงเป็นเพียง “รัฐบาลทหารในระบอบเลือกตั้ง” ที่อาจจะมีความชอบธรรมมากขึ้นกว่าระบอบรัฐประหาร

แต่กระนั้นก็เป็นที่รับรู้กันว่า “ระบอบพันทางของรัฐทหาร” อาศัยอำนาจการรัฐประหารออกแบบกติการัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลทหารเดิมเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

และกติกาเหล่านี้ถูกสร้างด้วยวัตถุประสงค์เดียวคือ ไม่ว่าจะเลือกตั้งอย่างไร ฝ่ายค้านจะต้องไม่ชนะในเวทีการเมือง

แม้รัฐบาลทหารจะประสบความสําเร็จในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่

แต่รัฐบาลก็ไม่ชนะเด็ดขาด จนสามารถสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในระบอบรัฐสภาได้

ชัยชนะในสภาวะที่เสียง “ปริ่มน้ำ” บ่งบอกถึงเสถียรภาพของตัวรัฐบาลในอนาคตได้อย่างชัดเจน

เงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลมีอาการ “ลุ่มๆ ดอนๆ” ในกระบวนการทางรัฐสภา

และการลงเสียงในญัตติที่สำคัญจะส่งกลายเป็นความ “ระส่ำระสาย” ต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

หรืออาจกล่าวได้ว่าด้วยจำนวนเสียงเช่นที่เป็นอยู่นั้น อาการของรัฐบาลในการต่อสู้ในรัฐสภามีอาการ “ร่อแร่” เป็นอย่างยิ่ง

หากรัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยรูปแบบและวิธีการเดิม ไม่ว่าจะเป็นการดึงเสียงจากฝ่ายค้าน จะด้วยการดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองอย่างไรก็แล้วแต่ เพื่อให้เกิดสิ่งที่การเมืองไทยเรียกว่า “งูเห่า” (การย้ายข้างของฝ่ายค้านบางคน ด้วยมูลเหตุจูงใจบางประการ) แต่การแก้ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีเสียงก่ำกึ่งในรัฐสภาด้วยวิธีการเช่นนี้ สุดท้ายแล้วอาจจะต้องถึงขนาดของการจัดตั้ง “ฟาร์มงูเห่า” (หรืออาจเรียกเล่นๆ ว่า ต้องตั้ง “สถานเสาวภา” ในสภา)

ซึ่งนักการเมืองทุกคนรู้ดีว่าวิธีการดังกล่าวไม่ยั่งยืนและล้มเหลวได้ง่าย เพราะรัฐบาลจะต้องคอยดึงเสียงจากฝ่ายค้านให้ได้ทุกครั้งที่มีการลงเสียง

อีกทั้งยังคาดถึงแนวโน้มของการเป็นรัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้นำทหารนั้น เสียงเรียกร้องจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงเสียงร้องในเรื่องต่างๆ จาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเอง น่าจะมีมากขึ้นในปี 2563

ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลผสมในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาแล้ว และความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลผสมมาจากข้อเรียกร้องในฝ่ายพรรครัฐบาลเป็นสำคัญ

ประวัติศาสตร์ยังชี้ให้เห็นอีกประการว่า ความระส่ำระสายเริ่มจากการเมืองในพรรคฝ่ายรัฐบาล มากกว่าจะเป็นปัญหาที่มาฝ่ายค้านโดยตรง

ถ้าเช่นนั้นคำถามในปี 2563 จึงมีเพียงประการเดียวว่า ผู้นำทหารที่คุ้นชินกับการมีอำนาจในรัฐสภาที่มาจากการรัฐประหารนั้น จะทนไปได้อีกนานเพียงใดกับสถานการณ์ของความ “ร่อแร่ทางการเมือง” ของรัฐบาลเช่นนี้

และถ้าพวกเขาทนไม่ได้แล้ว พวกเขาจะเลือกทางเดินอย่างไรในปีใหม่นี้

เศรษฐกิจ-ร่วงโรย

ปัญหาสำคัญที่เกิดสืบเนื่องหลังจากการรัฐประหาร 2557 คือ การที่เศรษฐกิจไทยมีภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

อาการเช่นนี้ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถของระบอบทหารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ไม่เป็นจริง

ระบอบทหารกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ

แม้จะมีคำแก้ตัวว่า การถดถอยครั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีประเด็นสงครามการค้าเป็นปัญหาหลัก

แต่อาจจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เศรษฐกิจไทยถอยร่นก่อนเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของเศรษฐกิจโลกจึงมีความรุนแรงมากขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน

ดังนั้น ในสภาวะของการถดถอยทางเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดถึงผลที่เกิดทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

ด้านหนึ่ง หนี้ครัวเรือนทะยานตัวสูงมากขึ้น

และตามมาด้วย “หนี้เสีย” ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

แน่นอนว่าสัญญาณในระดับจุลภาคเป็นความน่ากังวล เช่นเดียวกับที่ภาวะเศรษฐกิจในระดับมหภาคที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด

และการประกาศปิดโรงงานและการปลดคนงานเป็นสัญญาณอันตรายที่ชัดเจนในเรื่องนี้

จนต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจจากรัฐบาลทหารจนถึงรัฐบาลทหารเลือกตั้งมีภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง

จนอาจต้องถือว่าเศรษฐกิจไทยกำลัง “ร่วงโรย” และอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศยาวนานกว่าที่คิด เพราะมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอีกด้วย

โดยเฉพาะเมื่อหัวรถจักรใหญ่ที่เป็นการส่งออกของไทยมีอาการ “ดับสนิท”

และเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 มีภาวะต่ำสุดในรอบห้าปี และยังสำทับด้วยปัญหาค่าเงินบาทแข็งที่ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยับไปข้างหน้าได้

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทหาร จนถึงแนวทางของรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งไม่แตกต่างกัน คือ ใช้นโยบายประชานิยมแบบ “แจกเงิน” ด้านหนึ่งเพื่อหาเสียงทางการเมือง และอีกด้านเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่การแจกเงินอย่างไร้วินัยการเงินการคลังเช่นนี้ ไม่ใช่ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้จริงแล้ว ยังก่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยอีกด้วย และเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลนี้กำลังติด “กับดักประชานิยม” ที่ใช้งบประมาณตามใจโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเสียงท้วงติง และเสียงประท้วงนโยบายประชานิยมที่เคยในรัฐบาลก่อนๆ กลับเปลี่ยนเป็นเสียงสนับสนุน

ดังนั้น อาการ “ร่วงโรย” ของเศรษฐกิจไทยจะเป็นแนวโน้มสำคัญในปี 2563 และถ้าอาการ “ร่อแร่” ของรัฐบาลในรัฐสภาส่งผลให้เกิดความระส่ำระสายทางการเมืองเช่นไร อาการ “ร่วงโรย” ก็จะเป็นความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจคู่ขนานไปด้วย

ทุนใหญ่-รุ่งโรจน์

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยนั้น เศรษฐกิจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในไทยกลับมีลักษณะเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากรัฐประหาร 2557 เศรษฐกิจของกลุ่มทุนใหญ่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

และอาจกล่าวได้ว่ารัฐประหารเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของทุนใหญ่ จนถึงปัจจุบันทิศทางที่ปรากฏชัดมีเพียงประการเดียวในการเมืองยุคนี้คือ ความ “รุ่งโรจน์” ของทุนใหญ่

แต่เศรษฐกิจภาคประชาชนกลับมีอาการ “รุ่งริ่ง” อันเป็นผลจากการถดถอยที่เกิดมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับภาวะวิกฤตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

การผสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มทหารและกลุ่มทุนใหญ่เป็นปรากฏการณ์สำคัญในปัจจุบัน และไม่ใช่แบบ “ทุนขุนศึก” ในยุคจอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์

แต่การผสมของ “เสนานิยม+ทุนนิยม” ที่จะเป็นฐานหลักให้แก่การดำรงอยู่ของ “ระบอบพันทางไทย” ในอนาคต และการผสมเช่นนี้จะยิ่งส่งผลให้กลุ่มใหญ่อาศัยฐานอำนาจของกลุ่มทหารในการสร้างประโยชน์ให้แก่ตน

ซึ่งจะยิ่งทำให้การพึ่งพาของสองกลุ่มเป็นพลังที่เข้มแข็งของปีกขวาจัดไทย และมีผลกระทบอย่างมากต่อสร้างประชาธิปไตยในอนาคต

กองทัพ-รุ่งริ่ง

หากพิจารณาหลังการเลือกตั้งแล้ว คงต้องยอมรับว่ากองทัพในปัจจุบันอยู่ในภาวะของการเป็น “ฝ่ายรับ” ทางการเมือง การออกมาแสดงท่าทีทางการเมืองของผู้นำกองทัพไม่เพียงแต่จะทำให้สถาบันทหารตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์ในเวทีสาธารณะเท่านั้น หากยังถูกตอบโต้จากหลายฝ่าย จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบกับสถาบันกองทัพเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ กองทัพยังเผชิญกับการเปิดข้อมูลในเรื่องต่างๆ ที่ยิ่งทำให้ภาพเป็นลบมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณทหาร เรื่องที่เกิดขึ้นในสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ประเด็นเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่ผู้นำทหารอย่างมาก

การเดินหน้าของระบอบรัฐสภาในปี 2563 จะยิ่งทำให้การตรวจสอบกองทัพในเรื่องต่างๆ มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างแน่นอน

และการตรวจสอบเช่นนี้จะยิ่งทำให้กองทัพในปีใหม่มีอาการ “รุ่งริ่ง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสายตาของสาธารณชน และจะยิ่งมองกองทัพในเชิงลบมากขึ้น

เพราะคงต้องยอมรับว่า กองทัพเองมีจุดอ่อนหลายจุดอ่อน และไม่เคยถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง

ฉะนั้น หากผู้นำกองทัพยังพยายามแสดงบทบาททางการเมืองเช่นในปี 2562 อาการรุ่งริ่งทางการเมืองจะยิ่งเป็นปัญหากับสถาบันทหาร

แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาก็คือ ผู้นำทหารตระหนักถึงอาการเช่นนี้หรือไม่ และพวกเขาจะยังคงเลือกเส้นทางเดิมที่ต้องการพากองทัพเข้าสู่สนามรบทางการเมืองต่อไปหรือไม่ในปีหน้า

ผู้นำทหารโดยกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม มักมีความเชื่อมั่นว่า “อำนาจปืน” จะเป็นพลังเดียวที่มีอำนาจมากที่สุดที่ใช้ในการควบคุมทางการเมือง และถ้าจำเป็นผู้นำทหารมักจะถือว่าตนเองมีอำนาจที่จะทำรัฐประหารเสมอ แต่อำนาจของการรัฐประหารก็ไม่ได้มีมากเหมือนเช่นในอดีต เสียงต้านระบอบทหารดังต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 แม้แรงกดดันจากต่างประเทศต่อรัฐประหารไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับกรณีพม่า ที่ต้องเผชิญกับการแซงก์ชั่นทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่แรงกดดันเช่นนี้ทำให้ระบอบทหารไทยไม่สามารถลอยตัวเช่นรัฐบาลทหารในยุคสงครามเย็น

ดังนั้น ในสภาวะที่สถาบันทหารมีอาการ “รุ่งริ่ง” หรือการตกเป็น “ฝ่ายรับ” ทางการเมืองนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในปีใหม่ เว้นแต่บรรดาผู้นำทหารจะยังเชื่อแบบเดิมว่า ไม่มีใครจะทำอะไรกองทัพได้ในทางการเมือง เพราะกองทัพมีฐานสนับสนุนหลักจากปีกขวาจัดเสมอ จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

แต่ผู้นำทหารควรต้องตระหนักว่า สภาวะแวดล้อมทางการเมืองไทยหลายอย่างได้เปลี่ยนไปเช่นกัน ทัศนะต่อบทบาทของทหารก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกันด้วย

จึงน่าสนใจว่าอาการรุ่งริ่งเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อระบบการเมืองไทยอย่างไรในปี 2563

ต่างประเทศ-ร้างรา

รัฐประหาร 2557 ไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล เสียงเรียกร้องจากรัฐบาลตะวันตกให้พาการเมืองไทยกลับสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยมีอย่างต่อเนื่อง

แต่รัฐบาลทหารไทยก็อาศัย “โล่การเมือง” จากรัฐบาลตะวันออกป้องกันตัวเอง และหวังอย่างมากว่า การเลือกตั้งในต้นปี 2562 จะเป็นการฟื้นประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย

แต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” อันทำให้ความพยายามในการสร้างเกียรติภูมิของไทยในเวทีสากลไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร แม้รัฐบาลจะอาศัยการเป็นประธานอาเซียนเป็นเครื่องมือทางการทูต แต่ก็ไม่เกิดผลจริงจัง

ประเทศไทยรับตำแหน่งประธานอาเซียนช้าเกินไป ระยะเวลาที่เหลือในครึ่งหลังของปี 2562 ไม่มากพอ และผู้นำรัฐบาลไทยก็มาจากรัฐบาลทหารเดิม ก็ไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก

อีกทั้งการพาประเทศเข้าไปใกล้ชิดกับปักกิ่งอย่างมากกลายเป็น “จุดอ่อนทางการทูต” ที่สำคัญ โจทย์ปีใหม่จึงต้องฟื้นภาวะ “ร้างรา” ด้านต่างประเทศของไทยให้กลับคืนมา

และการฟื้นนี้มีนัยถึงการฟื้นประชาธิปไตยควบคู่กันด้วย

ชาวประชา-ร่องแร่ง

ผลจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ และรัฐบาลก็มุ่งเน้นอยู่กับเพียงนโยบายประชานิยมแบบแจกเงิน และปัญหานี้ยังถูกโถมให้รุนแรงมากขึ้นจากสงครามเศรษฐกิจในเวทีโลก แต่ในอีกด้านดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่มี “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ” ที่แท้จริงในการแก้ปัญหาการถดถอยที่แก้ขึ้น การใช้นโยบายแบบ “แจก… แจก… และแจก” นั้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาของประชาชน

ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้ ชีวิตของประชาชนจึงมีอาการ “ร่องแร่ง” เป็นอย่างยิ่ง และเห็นได้ชัดจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ขยับตัวสูงขึ้นชี้ว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยประชานิยม ไม่น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง

สิ่งที่น่าสนใจในปี 2563 ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะทำให้เกิด “ขบวนการแจ๊กเก็ตเหลือง” ที่เป็นการประท้วงใหญ่ของประชาชนฝรั่งเศสจากปัญหาเศรษฐกิจ เกิดขึ้นในไทยได้หรือไม่ (ขบวนการนี้ไม่ใช่เสื้อเหลืองของปีกอนุรักษนิยมไทย ที่สนับสนุนการรัฐประหาร)

อีกตัวอย่างของการประท้วงใหญ่ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นที่ชิลี ที่คนเป็นจำนวนมากออกมาเรียกร้องหาความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ และปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก

การเรียกร้องของประชาชนไทยในประเด็นทางเศรษฐกิจ จึงเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งในปีใหม่นี้!