“อย่าหนีถ้าอ้างว่าเข้มแข็ง ไม่มีเงินก็เตรียมตัวไว้ บ้านถูกขายแน่นอน” ล้างบางกัมพูชาสไตล์

กิม ซก (คนกลาง) นักวิเคราะห์การเมืองคนสำคัญที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ / AFP PHOTO / TEP SONY

การเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับ “คอมมูน” ของกัมพูชา กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน เหลือเวลาอีกร่วม 4 เดือน

แต่ความเคลื่อนไหวเข้มข้นทางการเมืองชนิด “ล้างบาง” แบบ “ไม่ต้องผุดต้องเกิด” ที่กำลังเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญของการเลือกตั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจมากมายนัก

จู่ๆ เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านที่เต็มไปด้วยสีสัน ก็ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวที่หลงเหลืออยู่ และเป็นเพียงพรรคเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการเอาชนะพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้

สม รังสี ยืนยันว่าการลาออกครั้งนี้เป็นไปเพื่อส่วนรวม เพื่อรักษาพรรคเอาไว้ เพื่อรักษาการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2018 เอาไว้

เพราะรู้ดีว่า ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ร่างแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองของกัมพูชาของพรรครัฐบาลมีโอกาสผ่านสภาได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

แล้วร่างแก้ไขดังกล่าวก็ผ่านฉลุยจริงๆ เมื่อ 66 เสียงจากทั้งหมด 68 เสียงของซีพีพีลงมติเห็นด้วยโดยพร้อมเพรียง ขณะที่ 55 เสียงของซีเอ็นอาร์พีบอยคอตการประชุม ซึ่งใช้เวลาเพียง 90 นาทีก็แล้วเสร็จ

บทบัญญัติที่เพิ่มเข้ามาว่าด้วยคุณลักษณะของพรรคการเมืองก็คือข้อห้าม ไม่ให้ผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดทางอาญาเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย และเปิดโอกาสให้ศาลฎีกาสามารถพิพากษายุบพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนได้ นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมวรรคหนึ่งที่ให้อำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยสั่งระงับความเป็นพรรคการเมืองได้ หากสมาชิกพรรครายหนึ่งรายใดมีพฤติกรรม “ยุยงให้เกิดความแตกแยกในชาติ”

สม รังสี

สม รังสี ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ทั้งต่อตัว ฮุน เซน และพรรคซีพีพี เมื่อปี 2013 จนต้องเผ่นหนีออกไปปักหลักอยู่ในฝรั่งเศส และยังมีคดีคาศาลอยู่อีกหลายคดี

ฮุน เซน ยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ ผู้นำกัมพูชาบอกว่าถ้าศาลตัดสินให้ชนะ ก็จะเข้ายึดที่ทำการพรรคซีเอ็นอาร์พีเป็นสินไหมทดแทนทันที

เมื่อ สม รังสี ลาออก แกม สกขา ผู้ร่วมก่อตั้งซีเอ็นอาร์พีก็ต้องรับหน้าที่ “รักษาการหัวหน้าพรรค” ไปพลางก่อนจนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่พรรคในเดือนเมษายนนี้

แกม สกขา

ที่น่าสนใจก็คือ แกม สกขา ก็มีคดีความถูกสมาชิกพรรคซีพีพีฟ้องร้องอยู่เป็นหางว่าวเหมือนกัน

ความเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะนักการเมืองฝ่ายค้าน แต่กินความรวมถึงใครก็ตามที่ “บังอาจ” วิพากษ์วิจารณ์ “ผู้นำสูงสุดผู้เรืองอำนาจ” ด้วยเช่นกัน

ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังการลาออกของ สม รังสี นายกรัฐมนตรีประกาศฟ้องร้องเอาผิดกับ กิม ซก นักวิเคราะห์การเมืองคนสำคัญที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

วิทยุเอเชียเสรี ภาคภาษากัมพูชา บอกว่า ความผิดของ กิม ซก ก็คือ การกล่าวหาว่า ฮุน เซน และพรรคซีพีพีอยู่เบื้องหลังการสังหาร แกม เลย นักวิจารณ์การเมืองปากกล้าอีกรายที่ถูกมือปืนบุกสังหารอย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

กิม ซก ถูกจับกุมเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ หลัง ฮุน เซน แจ้งความดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหาย 500,000 ดอลลาร์

20 กุมภาพันธ์ พนมเปญโพสต์รายงานว่า อุน วันสัก นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สังกัดซีเอ็นอาร์พี วัย 25 ปี ผู้ก่อตั้ง ฟิวเจอร์ ฟอรัม องค์กรทางวิชาการและเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “ไอ เลิฟ แคมโบเดีย ฮ็อต นิวส์” เลือกที่จะหลบออกนอกประเทศ แทนที่จะไปพบศาลตามหมายเรียกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

เพราะรู้ดีว่าขืนเข้าไปมอบตัวกับกระบวนการยุติธรรมกัมพูชา ชะตากรรมจะลงเอยอย่างไร

กล พันนา ผู้อำนวยการคอมเฟล องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งกัมพูชา ยอมรับว่าสถานการณ์ “กวาดล้าง” อยู่ในขั้น “น่าวิตก”

ในขณะที่ ฮุน เซน กล่าวเตือนใครก็ตามที่บังอาจ “ก่อกวนความมั่นคงของชาติ” ว่าควร “เตรียมโลงศพเอาไว้ด้วย” และ

“อย่าหนี ถ้าอ้างว่าเข้มแข็ง ถ้าไม่มีเงินก็เตรียมตัวไว้ บ้านจะถูกขายแน่นอน”

นี่คือรสชาติของการเมืองกัมพูชาในเวลานี้