จรัญ มะลูลีม : มรดกปรัชญา-วิทยาศาสตร์จากอิสลาม ตกทอดถึงตะวันตก

จรัญ มะลูลีม

ร่องรอยของอิสลาม ที่มีต่อตะวันตกระยะแรก

ชาวมุสลิมเป็นคนแรกๆ หลังจาก Herodotus ที่สร้างความรู้สึกทางประวัติศาสตร์ขึ้นและเปิดศาสตร์ต่างๆ ด้านนี้ขึ้นต่อหน้าตะวันตก เนื่องจากอัล-กุรอานส่วนใหญ่มักกล่าวถึงอดีตทำให้ผู้อ่านคิดถึงการขึ้นการลงของชาติต่างๆ ในอดีต อัล-กุรอานเป็นแหล่งความรู้จึงทำให้เกิดความรู้สึกด้านประวัติศาสตร์ขึ้นในหมู่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม

พรอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่ชาวมุสลิมให้แก่ตะวันตกก็คือการสืบสวนเชิงวิทยาศาสตร์หรือการหาความจริงด้วยการพิสูจน์ด้วยเหตุผล การสังเกตและทดลอง

อิทธิพลของวิธีการของมุสลิมในการสังเกตและทดลองที่มีต่อตะวันตกได้ถูกยอมรับโดย Briffault, Roger Bacon หรือผู้มีชื่อในสมัยหลังก็ไม่ใช่อะไรนอกไปจากลูกศิษย์ของมุสลิม

วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งอำนวยประโยชน์อันสำคัญของอารยธรรมอาหรับแก่โลกสมัยใหม่แต่มีผลค่อนข้างช้า ไม่ใช่เฉพาะวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่นำยุโรปให้กลับมามีชีวิต ไม่มีแง่มุมของความเจริญของยุโรปแม้แต่อย่างเดียวที่หาร่องรอยของอิสลามไม่พบ

ที่แลเห็นได้ชัดเจนและสำคัญก็คือกำเนิดของพลังอำนาจของโลกปัจจุบัน นั่นคือธรรมชาติวิทยาและจิตวิญญาณเชิงวิทยาศาสตร์

 

การที่วิทยาศาสตร์ของเราเป็นหนี้ต่อชาวอาหรับมิได้อยู่ในการค้นพบทฤษฎีปฏิวัติต่างๆ ที่น่าตกใจ วิทยาศาสตร์เป็นหนี้ต่อวัฒนธรรมอาหรับมากกว่านั้นคือเป็นหนี้ความมีอยู่ของอิสลาม โลกโบราณเป็นโลกก่อนวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ของกรีกเป็นสิ่งที่มาจากต่างประเทศ ไม่เคยชินอยู่ในวัฒนธรรมกรีกอย่างทั่วถึงเลย

มีแต่ในเมืองอเล็กซานเดรียสมัยกรีกระยะหลังเท่านั้นที่มีงานด้านวิทยาศาสตร์กระทำอยู่ในโลกโบราณ สิ่งที่เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุโรปเป็นผลของจิตวิญญาณใหม่ของการสืบสวน วิธีการใหม่ในการสืบหา วิธีการทดลองสังเกตและวัดพัฒนาการของเลขคณิตในรูปแบบที่กรีกยังไม่รู้จักจิตวิญญาณนั้นและวิธีการเหล่านั้นถูกนำเข้าไปในยุโรปโดยชาวอาหรับ

ในตะวันตก แม้แต่ในศตวรรษที่ 9 หรือปีฮิจญ์เราะฮ์ที่ 15 แล้วก็ตาม ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็ยังถูกมองว่าเป็นศัตรูของศาสนา คำสอนของกลุ่มที่ถือตามอริสโตเติลและอเวอโรลจึงถูกห้าม Bruno ถูกเผา Kepler ถูกประหาร กาลิเลโอถูกบังคับให้ดื่มยาพิษ

แต่นักคิดมุสลิมได้ผสมผสานเหตุผลเข้ากับความศรัทธาและทำให้พวกเขาและนักคิดในยุโรปสามารถพัฒนาทั้งสองอย่างได้โดยไม่ถูกขัดขวาง

 

ลัทธินิยมความลี้ลับของยุโรปก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธินิยมความลี้ลับซึ่งแลเห็นได้ชัดว่ามีอิทธิพลของซูฟี (นักประสบการณ์ทางจิต) อยู่ Miguel Asin Palacios ได้ศึกษาอิทธิพลแนวความคิดของมุสลิมในเรื่องโลกหน้าที่มีต่อเรื่อง Divine Cornedy ได้พบอิทธิพลของอิบนุ อะรอบี ที่มีต่อ Dante ปรากฏว่าดังเต้ได้อ่านงานของนักปรัชญามุสลิม ที่แปลเป็นภาษาละตินหลายคน อย่างน้อยก็งานของอิบนุสินาและอัล-ฆอซาลี

หนังสือของพาลาซิออสประกอบด้วย 4 ภาคคือ

เปรียบเทียบเรื่อง Divine Comedy กับลัยละตุล-อิสรออ์ และมิอ์รอจญ์

กล่าวถึงส่วนประกอบของอิสลามในตำนานคริสเตียนสมัยก่อนดังเต้

ศึกษาและสรุปถึงการถ่ายทอดงานของมุสลิมไปยังยุโรปคริสเตียนโดยทั่วไป

ซูฟีมุสลิมนอกจากอิบนุ มะสัรรอฮ์ แห่งสเปน (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.883-931) และอะรอบีแล้วก็ไม่เป็นที่รู้จักกันดีในยุโรปเท่ากับพวกนักปรัชญา มะสัรรอฮ์เป็นผู้ตั้งสำนักคิดอิชรอกีจากสเปน ความคิดของสำนักนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังนักวิชาการ Augustinian เช่น Duns Seotus, Roger Bacon และ Raymont เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้จำนวนการศึกษางานของฮาริษ มุฮาสินี ได้เพิ่มขึ้นมาก ในปัจจุบันนี้ Corbin ได้พิมพ์งานส่วนใหญ่ของสุฮาวัรดี มักตุล ออกมาพร้อมทั้งต้นฉบับภาษาอาหรับและเปอร์เซีย เป็นที่สนใจมากของพวกนักปรัชญาแนวเอ็กซิสเตนเชียล และนักมานุษยวิทยาทางปรัชญา

 

อิทธิพลทางศาสนวิทยา

อิทธิพลของนักศาสนวิทยามุสลิมที่มีต่อตะวันตกนั้นแค่เป็นเรื่องรอง สาเหตุก็คือความตึงเครียดระหว่างสองศาสนานี้คืออิสลามและคริสต์ศาสนา ถึงกระนั้นก็ดี นักศาสนวิทยามุสลิมก็ยังเป็นที่รู้จักแก่ตะวันตกโดยอาศัยงานของนักปรัชญาโดยทางอ้อม

มีแต่งานของอัล-ฆอซาลีเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักโดยตรง ถึงอย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่องศาสนวิทยาของมุสลิมก็ยังมีอยู่น้อยในตะวันตกเป็นเวลานาน

ด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ (1) ข้อมูลเกี่ยวกับนักศาสนวิทยารุ่นแรกๆ นั้น เป็นแบบแหล่งที่สอง ไม่ได้รับไปจากงานของพวกเขาเอง (2) ครูเอกๆ ของขบวนการปรัชญา-ศาสนวิทยา หลังจากฆอซาลีไม่เป็นที่รู้จักกันอีกนาน

จนถึงศตวรรษที่ 19 นักวิชาการตะวันตกแทบจะไม่มีใครรู้จักงานฟัครุดดีน รอซี, ซัยฟุดดีน, อิบนุ ตัยมิยะฮ์, ศิรอญุดดีน อุรมาวี, ซัยยิด ซะรีฟ อัจ-ญูรญานี, สะอาดุดดีน ตัฟตนะซานี และคนอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวถึงอิทธิพลทางด้านศาสนวิทยาของมุสลิมที่มีต่อตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีการแปลงานสำคัญๆ เกี่ยวกับปรัชญาศาสนา อย่างเช่นเรื่องอิรฮาด ของอะบู อัล-มะอาลี (อิมาม อัล-หะเราะมัยน์) และหนังสือหลายเล่มโดยอิบนุตัยมิยะฮ์ เป็นภาษาฝรั่งเศส

และ Max Horten ยังได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับนักศาสนวิทยามุสลิมออกมาเล่มใหญ่อีกด้วย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ Louis Gardet กับ Anawati ก็ได้ออกหนังสือชื่อ Introduction a la Theologic Musulmane และ Albert Nader ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ La Systeme Philosophique des Mu tazita พิมพ์เป็นภาษาอาหรับและฝรั่งเศส

อัล-ฆอซาลีนั้นไม่เหมือนใคร เพราะเป็นทั้งนักปรัชญาและนักศาสนวิทยา อิทธิพลของเขาในตะวันตกจึงมีทั้งด้านปรัชญาและศาสนวิทยา

Palacios ได้เขียนถึงพัฒนาการทางความคิดของอัล-ฆอซาลีในตะวันตกไว้ว่ามีหลายขั้นตอน เช่น ชั้นแรก Raymond Martini ผู้เป็นพระนิกายโดมินิกันได้ขอยืมความคิดจากอัล-ฆอซาลีไปเขียน ต่อมา St.Thomas ได้ใช้ข้อความของอัล-ฆอซาลีไปใช้ในหนังสือที่ Contra Gentiles

ปัญหาที่ St.Thomas ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากอัล-ฆอซาลีก็คือความคิดที่ว่าด้วยความจำเป็นเพื่อพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า ความรู้ของพระเจ้า ความเรียบง่ายของพระเจ้า พระนามของพระเจ้า คุณลักษณะของพระเจ้า พระดำรัสของพระเจ้า ปาฏิหาริย์ในฐานะที่เป็นพยานถึงความจริงของการเป็นศาสดา และการฟื้นคืนชีพของคนที่ตายแล้ว ในตอนปลายสมัยกลางอิทธิพลของอัล-ฆอซาลียิ่งสำคัญมาก

ความสัมพันธ์ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างปรัชญาของมุสลิมกับคริสเตียนเพราะการแปลหนังสือของอัล-ฆอซาลีโดย Gundisalous จากงานของนักวิชาการใหญ่นี้ (และภายหลังจากคำแปลของ E.Gilson) ปรากฏว่าอิบนุสินามีอิทธิพลต่อตะวันตก 2 ทางคือ (1) โดยงานของเขาเองโดยตรง (2) โดยทางอ้อมจากการอาศัยงานของอัล-ฆอซาลีที่แปลโดย Gundisalous

อิทธิพลของอัล-ฆอซาลี มีต่อไปจนถึง Pascal คำอภิปรายเกี่ยวกับการปกป้องศาสนาที่อัล-ฆอซาลีใช้มากและรู้จักกันในตะวันตกได้ถูก Pascal ขยายความครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่อง Pensies ของเขา ข้อความในการถกเถียงนี้มุ่งหมายจะให้ผู้ไร้ศรัทธาแลเห็นว่าไม่มีความขัดกันอยู่เลยในการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนากับการเชื่อว่าโลกหน้าอาจไม่มี

ทั้งอัล-ฆอซาลีและปาสคัลพยายามหาวิธีที่จะกำจัดภาวะความสงสัยในลัทธินิยมความลี้ลับ ทั้งคู่มองหามันในความบันดาลใจของพระเจ้าในฐานะที่เป็นผลผลิตของคุณธรรมด้านศีลธรรมและความรักศาสนาซึ่งปลอดจากข้อพิจารณาด้านเหตุผลอื่นๆ

พลังแห่งความบันดาลใจนี้พระเจ้าทรงประทานให้แก่ผู้มีศรัทธา แลเห็นได้ชัดว่ารากฐานแห่งทฤษฎีของปาสคัลในเรื่อง “ตรรกะของหัวใจ” นั้นมีอยู่แล้วในความคิดของอัล-ฆอซาลีเกี่ยวกับ “นัยน์ตาใจ”

Palascios กล่าวว่า ทั้งๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันระหว่างคนทั้งสองนี้ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ด้วยคือปาสคัลมิได้กล่าวถึงปัญหาอย่างเปิดเผยแต่กล่าวอ้อมๆ แต่อัล-ฆอซาลีศึกษาปัญหาเป็นรายละเอียดอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน