อภิญญา ตะวันออก : สมเด็จ-กษัตริย์ กับกฎหมายฉบับหนึ่ง

อภิญญา ตะวันออก

เรื่องมีอยู่ว่า พระราชวังเขมรินทร์ยังมิทันจะคลายโศก เมื่อพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพี่นางนโรดม บุปผาเทวี สิ้นสุดลงไปเพียงไม่กี่วัน พลันรัฐมนตรีกรมการวังก็นำอนุสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นมาถวาย

ทรงรั้งรออยู่จนสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ในที่สุดอนุกฤษสัญญาว่าด้วยพรมแดนเขมร-เวียดนาม (ฉบับเพิ่มเติม) ก็ได้รับการลงพระหัตถเลขา เมื่อทรงทราบดีว่า นี่เป็นกฎหมายที่สมาชิกสภาพรรคประชาชนกัมพูชาได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว พระองค์ก็เพียงแค่ลงพระนามเป็นอันสิ้นสุดไปตามหน้าที่

และสำหรับการต่อสู้ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานกว่า 3 ทศวรรษ

หนักหนาตั้งแต่สมัยนโรดม สีหนุ ปฏิเสธแต่ครั้งที่ยังไม่กลับประเทศเป็นกษัตริย์ ตลอดจนตัวแทนการเมือง นักกฎหมาย ประชาชนบางฝ่ายที่ถูกจองจำและเสียชีวิตจากกฎหมายฉบับนี้

ในบางรายนั้น เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว ยังกึ่งถูกขับออกนอกประเทศกัมพูชาเลยทีเดียว

ดังนั้น การต่อสู้กับการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนบางฝ่ายไม่อาจยินยอมได้

แต่พระบาทบรมนาถสีหมุนีก็ทรงยินยอมไปแล้ว

โดยทรงทราบหรือไม่ว่า นี่เป็นเรื่องบูรณภาพและดินแดนแห่งกัมพูชา ที่อาจสูญเสียเป็นพื้นที่มหาศาล จากการลงนามของพระองค์และผลของกฎหมายฉบับนี้

ทรงยินดีหรือไม่ว่า การกระทำดังกล่าวในรัชกาลของพระองค์จะส่งผลอย่างไรบ้าง?

ทรงตระหนักด้วยหรือไม่ว่า ในการไม่ยับยั้งต่อกฎหมายฉบับนี้ จะเท่ากับผลลัพธ์ที่เรียกว่า “ผลาญชาติ” มิทางใดก็ทางหนึ่ง

และทรงมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง?

 

พลันความรู้สึกของฉันที่มีต่อ “เปรียะปรอเจียกุมาร์” หรือเจ้าชายน้อย (2511) แสดงนำในบทยุวกษัตริย์แห่งอาณาจักรเก่าแก่ ทรงถูกศัตรูปองร้าย แต่ก็คลาคลาดเพราะประชาชนสนับสนุนและกุศลอันดีงามนั้นเสมอ

ทว่าตรงข้ามอย่างมากกับชีวิตในภาพยนตร์ที่มีแต่เกื้อหนุนประชาราษฎร์ ภายใต้พระเศวตฉัตรทองของปีที่ 15 แห่งการครองราชย์ ราชวงศ์นโรดมดูจะพยายามธำรงรักษาราชสำนักตามจารีตนิยมอย่างน่าชื่นชม ในท่ามกลางที่พระบาทบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงได้ฉายานามว่าเป็น “ปักษาน้อยในกรงทองของสมเด็จฯ ฮุน เซน”

ผู้ให้การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

แม้จะถูกจำกัดบทบาทในการเข้าถึงประชาชนคนรุ่นใหม่ การเสื่อมความศรัทธาจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ที่เคยคาดหวังให้พระองค์แทรกแซงการเมืองอันวิกฤตเป็นครั้งครา แต่ราวพระองค์ไม่เคยได้ยิน หรือมิฉะนั้นก็เสด็จไปจีนเป็นการหันหลัง

ฤๅพระองค์ต้องวางองค์เป็นกลางอย่างเคร่งครัด?

แต่นั่นก็เท่ากับว่า ทรงสนับสนุนสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้ทำการบางกรณีอย่างไม่มีความเป็นกลางด้วยหรือไม่?

เพราะไม่เคยบิดพลิ้วเลยในสิ่งที่สมเด็จเสนอ แม้แต่กรณีที่จะเพิกเฉย แต่ก็ทรงสนองตอบ

ทรงแสดงถึงภารกิจที่เป็นครอบครัวเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่เหลือไว้แม้แต่ฝ่ายใดจะกลั่นกรอง

ถึงตอนนี้ คำกล่าวหาที่ว่า ทรงลอยตัวเหมือนอยู่เหนือกฎหมาย ไม่เคยปกป้องพสกนิกรผู้ถูกจองจำจากคดีการเมือง

แลบัดนี้ ทรงตระหนักแล้วหรือไม่ ว่าฝุ่นละอองใต้พระบาทเหล่านี้ต่างหากที่ช่วยพยุงกษัตริย์ไว้ให้ลอยตัวเหนือปัญหาทมๆ จนกลายเป็นพระอนุกฤษฉบับสิ้นหวัง และชาวกัมพูชาพากันติดโบว์ดำหน้าโซเชียล

นัยทีว่าถูกเหยียบย่ำจิตใจจากกฎหมายฉบับนี้

 

ย้อนไปอีกว่า ความขัดแย้งยาวนานอันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เริ่มแต่ในปี พ.ศ.2533 ที่ “ข้อตกลงว่าด้วยพรมแดนเขมร-เวียดนาม” ถูกนำไปหารือเบื้องต้นกับว่าที่กษัตริย์สีหนุ หากสนธิสัญญาปารีสยังผลให้ข้อตกลงฮุน เซน ฉบับนี้มีอันตกไป

ถูกร่างมาตั้งแต่ พ.ศ.2523-2528 เล่าลือกันตั้งแต่สมัยนายแปน โสวัน เป็นนายกรัฐมนตรี (2523) จนถูกปลดและนำตัวไปจองจำในฮานอย จนนายจัน ซี (2525) ที่เสียชีวิตกะทันหันในรัสเซีย

มาสำเร็จเป็นฉบับร่างในสมัยฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (2528) และได้หยิบยกในการเจรจารอบนอก ทว่าอนุสัญญาฉบับนี้ก็ยังมีลมหายใจ

มิพักว่า ความวิบัติในรัฐสภาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง ยืดเยื้อและไม่ลงรอยในกรณีใด แต่อนุสัญญาฉบับนี้ก็ยังเดินหน้าต่อไปในต่างกรรมต่างวาระ

ย้อนไปในปี 2548 กรณีนายกึม สกขา แห่งพรรคสิทธิมนุษยชน นายมง สุนงโด นักข่าวอิสระ และชาวกระแจะผู้เคลื่อนไหวราว 30 ราย ทั้งหมดถูกจับเข้าคุกเป็นเวลาตั้งแต่ 8 เดือนถึงปีเศษด้วยข้อหาประท้วงปัญหาพรมแดนเวียดนาม

และยังผลให้อนุสัญญาเขมร-เวียดนามฉบับเดิมถูกแขวนค้างเติ่งต่อไป

กระทั่งเมื่อพรรคกู้ชาติ/สงเคราะห์เชียดชนะเลือกตั้ง 2556 และได้ที่นั่งใกล้เคียงกับพรรคของสมเด็จฯ ฮุน เซน เราจึงได้เห็นความขัดแย้งเรื่องนี้ปะทุอีกครั้ง

โดยนายอน สำอาง ส.ส.สงเคราะห์เชียดที่นำแผนที่พรมแดนสมัยอินโดจีน, เงื่อนไข, อัตราส่วนต่อพื้นที่ที่น่าจะยึดโยงเป็นหลักฐานในการเจรจาปัญหาพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

การงัดหลักฐานบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของสำอางที่สร้างความสนใจต่อชาวเขมรทางโซเชียลนี้ได้กลายเป็นภัยร้ายแรงต่อตน เมื่อฮุน เซน ใช้กฎหมายความมั่นคงที่ไม่ต่างจาก ม.44 ของไทยจับกุม ส.ส.ผู้ไร้เอกสิทธิ์คุ้มครองท่านนี้ ไม่เว้นแต่ที่เขาถือพาสปอร์ตพลเมืองฝรั่งเศส

อน สำอาง นอนคุกลากยาวหลายปีกว่าที่คิด และจนแล้วจนรอดในการถวายฎีกาเพื่อขออภัยโทษจากกษัตริย์สีหมุนีก็ไม่เคยสำเร็จ กระทั่งพรรคสงเคราะห์เชียดถูกยุบ สำนักข่าวต่างประเทศถูกกวาดล้าง และการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2561 เสร็จสิ้น

พรรคประชาชนกัมพูชากลับมาฟอร์มรัฐบาลอีกครั้ง และทุกอย่างที่กำลังเป็นไปอย่างเรียบร้อย จู่ๆ อน สำอาง ก็ได้รับการอภัยโทษด้วยเงื่อนไขอันเจาะจงว่า เขาจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและอยู่ประเทศกัมพูชาอย่างไม่มีกำหนด

อน สำอาง กลับฝรั่งเศสอย่างถาวร เขาหายไปจากการรับรู้ของผู้คนและแวดวงการเมือง ราวกับรักษาไว้ซึ่งเงื่อนไขแห่งอิสรภาพ ทว่ามันคือความร้าวลึกในพรรคสงเคราะห์เชียดต่างหาก

แต่ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับรองอีกครั้ง อน สำอาง ก็ละเมิดกฎข้อนั้น

“ระบอบฮุน เซน ควรให้ความชัดเจนว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ขัดแย้งกับกฎบัตรที่กัมพูชาได้รับการรับรองจากสหประชาชาติตามสนธิสัญญากรุงปารีส” อน สำอาง ให้สัมภาษณ์ผ่านเอเชียเสรีด้วยท่าทีใหม่แบบนักวิชาการ

ถูกแล้ว เสรีภาพที่ถูกจำกัดไว้ของอน สำอาง คงจะไร้ความหมาย เมื่อเทียบกับบูรณภาพดินแดน และนั่นคือความเจ็บปวดของชาวเขมรจำนวนหนึ่ง

 

ให้น่าคิดว่า ตลอดระยะเวลายาวนานของนิยาม นักการเมืองผู้บ่อนทำลายชาติ จากปัญหาพรมแดนที่เรื้อรังยาวนาน และผ่านกรณีผู้ประสบเคราะห์กรรมจำนวนมาก แต่มีอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ต้องเล่นเกมลากยาวกับกฎหมายฉบับนี้ถึง 34 ปีเล่า?

อย่างไรก็ตาม ฉันกลับให้ข้อสังเกตว่า การขับพรรคฝ่ายค้านออกนอกประเทศ ตลอดจนการมาถึงของทุนจีนบนพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ของกัมพูชา ที่ปูพรมในทุกจังหวัด ขนาบพรมแดนเวียดนามตั้งแต่รัตนคีรี กระแจะ จรดจังหวัดมณฑลคีรี

เป็นดีลพิเศษที่กัมพูชาจะเปิดซิงให้จีนพัฒนาเขตชายแดนตะวันตกทั้งหมดของกัมพูชา ที่หยุดนิ่งการพัฒนามากว่า 3 ทศวรรษ!

นับเป็นความสำเร็จของฮุน เซน ในการปิดดีลครั้งใหญ่ระหว่างตนกับฮานอย ในแบบที่คนน้อยมากจะเข้าใจ เช่นเดียวกับการเข้ามาของจีนในเขตพื้นที่เปราะบางทาง “รัฏฐาธิปัตย์” อันเรื้อรังยาวนาน ตั้งแต่สมัยสีหนุถึงพล พต ที่ล้วนแต่ประสบชะตากรรมจากการกระทำอันสุดโต่ง

แต่มันจบลงอย่างสมบูรณ์แล้วอย่างสันติภาพในสมัยกษัตริย์สีหมุนี-สมเด็จฯ ฮุน เซน โดยมิพักว่าจะเป็นทางออกของอำนาจที่ผิดเพี้ยนหรือไม่?

ประเทศใคร-ประเทศมัน