เปลี่ยนผ่าน : “ทุกข์” ที่ไม่อาจแก้ เมื่อ “ชาวหอ” ต้องก้มหน้ารับชะตากรรม อัตรา “ค่าน้ำ-ไฟ” ไร้เพดานควบคุม

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

โดย วิทวัส ปาลอินทร์

“แกรๆ เมื่อวานฉันจ่ายค่าน้ำค่าไฟรวมกัน หมดหลายพันบาทเลยแกร มาม่าตั้งแต่ต้นเดือนเลย เนี่ยฉันไปรู้มาด้วยนะ ว่าไอ้หอพักที่ฉันอยู่ เก็บค่าน้ำค่าไฟสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนดด้วยแหละ ฉันไปดูอัตราการเก็บค่าน้ำค่าไฟในเว็บมาแล้ว หอพักเก็บสูงกว่าที่กำหนดเยอะเว่อร์!”

บทสนทนาของคนอยู่หอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ที่ยกตัวอย่างมานี้ คงทำให้หลายคนอยากทราบว่า หอพักและอพาร์ตเม้นต์ต่างๆ เก็บค่าน้ำค่าไฟแพงได้ไหม?

และมีกฎหมายกำหนดอัตราค่าน้ำค่าไฟของหอพักหรือไม่?

จะเอาผิดอะไรได้บ้าง หากผู้อยู่อาศัยถูกเรียกเก็บเงินสูงเกินจริง?

ผู้เขียนจึงเดินทางไปสอบถาม ร้อยตรีไพโรจน์ คนึงทรัพย์ เลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว

ร้อยตรีไพโรจน์ อธิบายว่า การกำหนดค่าน้ำค่าไฟของบ้านเช่าหรือหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ ขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ บางที่ก็ใหญ่โตหรูหรา จึงมีค่าใช้จ่ายเยอะ บางที่ไม่ค่อยใหญ่หรือเล็กๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อย ดังนั้น มาตรฐานคงดูยากว่าจะเก็บกันอย่างไร

แต่การเก็บค่าน้ำค่าไฟจะดูจากอัตราที่มาจากต้นทางก่อน และมาคิดเฉลี่ยด้วยอัตราค่าใช้จ่ายของบ้านเช่า อพาร์ตเม้นต์ หรือหอพัก ที่ต้องจ่าย เช่น เรื่องน้ำอาจมีการจ่ายค่าไฟในการสูบน้ำขึ้นไปเก็บ มีช่างคอยดูแล มีระบบจ่ายน้ำ มีไฟ ค่าบริการ ติดหม้อแปลงไฟฟ้า มีช่างไฟดูแล จะต้องมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ซึ่งผู้ประกอบการจะนำสิ่งเหล่านี้มาหารก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการร้องเรียน สคบ. จะเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงว่า ต้นทุนเท่าไหร่กันแน่ ถ้าดูแล้วไม่ถึงกับน่าเกลียดก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ถ้าสูงเกินจริง เป็นการค้ากำไรจากผลต่างของราคา สคบ. จะเรียกผลต่างคืนผู้บริโภค

ส่วนเรื่องความผิด ถ้าเป็นเรื่องของการประปาหรือการไฟฟ้า หากอยู่ในพื้นที่ กทม. จะส่งให้การประปาหรือการไฟฟ้าเขตนั้นๆ เพราะมีกฎหมายเฉพาะในการดูแล แต่ถ้าเป็นเรื่องหอพักก็จะส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่ เมื่อผู้ร้องเรียนรับทราบการชี้แจงจากทางหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์แล้ว เรื่องก็จบ

สำหรับเรื่องบทลงโทษ สคบ. ไม่ได้มีบทลงโทษชัดเจน ขึ้นอยู่กับเจตนาผู้ประกอบการ แต่ สคบ. ยังมีกฎหมายอีกตัวที่พอจะนำมาช่วยในเรื่องดังกล่าวได้ คือการเรียกออกหลักฐานรับเงินของหอพัก บ้านเช่า อพาร์ตเม้นต์ ซึ่งมี 5 ยูนิตขึ้นไป และมีการเก็บเงินล่วงหน้าหรือค่าประกันเสียหาย

ถ้าเข้าเกณฑ์นี้ต้องออกหลักฐานรับเงินที่ สคบ. กำหนด ถ้าไม่ออกหรือออกไม่ถูกต้อง ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องค่าน้ำค่าไฟ สคบ. จะเรียกตรวจตรงนี้ด้วยเลย รวมถึงเรียกดูการเก็บภาษีย้อนหลังอีกทอด

เมื่อถามว่า ส่วนตัว สคบ. คิดว่าควรจะกำหนดเกณฑ์หรือเพดานในการจัดเก็บอัตราค่าน้ำค่าไฟในหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์เท่าไหร่

เลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยอมรับว่า จริงๆ คงพูดยาก เพราะขนาดของการประกอบธุรกิจมีตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จำนวนห้องไม่เท่ากัน การให้ความสะดวกหรือพื้นที่เดินทางก็ไม่เท่ากัน

เพราะฉะนั้น คงวางที่เป็นเกณฑ์ตรงๆ เลยได้ยาก ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ประกอบการมากกว่า ว่าประกอบการแล้วคิดเอากำไรหรือเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่

นอกจากนี้ ร้อยตรีไพโรจน์ ยังเสริมความรู้ให้ด้วยว่า หากเป็นกรณีบ้านเช่าและอพาร์ตเม้นต์ จะไม่สามารถเรียกเก็บค่าส่วนกลางได้

และมีบางครั้ง เมื่อผู้บริโภคจะย้ายออกจากหอพัก แล้วถูกเรียกเก็บค่าทำความสะอาดนั้น สคบ. ก็ยืนยันว่า ไม่สามารถเรียกเก็บค่าทำความสะอาดได้เช่นกัน เพียงแต่ผู้บริโภคต้องพยายามรักษาสภาพของห้องพักให้ใกล้เคียงกับเมื่อครั้งแรกเช่า

ส่วนการออกจากหอพักก่อนกำหนด ทางหอพักจะต้องคืนเงินค่าประกันห้องให้แก่ผู้เช่า หากมีผู้อื่นมาเช่าห้องอยู่ต่อในทันที เนื่องจากทางหอพักไม่ได้รับความเสียหาย

ส่วนการหักค่าเสียหายอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องของทางหอพักที่จะเรียกเก็บเป็นกรณีๆ ไป


ด้าน นายชาญ ปัทมวิภาค ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง ระบุว่า จุดต่างของการเก็บค่าไฟ ระหว่างหอพัก หรืออพาร์ตเม้นต์ กับคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุด คือ ให้ดูที่ “ความเป็นเจ้าของ” ของห้องพักนั้น

กล่าวคือ ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุด ความเป็นเจ้าของ คือ “ผู้ซื้อ” ซึ่งเมื่อซื้อคอนโดฯ หรือห้องชุดนั้นๆ มาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวแล้ว การใช้ไฟและจ่ายค่าไฟฟ้า ก็ต้องติดต่อกับการไฟฟ้าฯ โดยตรง

ส่วนกรณีหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ ความเป็นเจ้าของคือ “ผู้เช่า” ซึ่งเป็นผู้มาเช่าห้องเพื่ออยู่อาศัยจากทางผู้ดำเนินธุรกิจหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์อีกต่อหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้ดำเนินกิจการหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ ซึ่งเป็น “ผู้ให้เช่า” จึงต้องมีค่ารับผิดชอบ และคิดค่าบริการต่างๆ จาก “ผู้เช่า” เพื่อนำไปจ่ายให้การไฟฟ้าฯ อีกที

ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟจากเครื่องปั๊มน้ำในการสูบน้ำ ค่าไฟส่องสว่าง ลิฟต์ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกสบายอื่นๆ

โดยเบื้องต้น อัตราค่าไฟของการไฟฟ้านครหลวงมีการกำหนดและแบ่งแยกประเภทไว้เรียบร้อยแล้วว่า ประเภทใดอัตราค่าไฟเท่าไหร่ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ www.mea.or.th ซึ่งการคำนวณขึ้นอยู่กับปริมาณไฟที่ใช้ และจะจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า

ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวถูกควบคุมโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งจะมีการประเมินทุกๆ 4 เดือน

อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้านครหลวงยังไม่ได้เข้าไปควบคุมอัตราการจัดเก็บค่าไฟของหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ต่างๆ ในเชิงรายละเอียด

“การกำหนดอัตราหรือเพดานของค่าไฟให้อพาร์ตเม้นต์ ปัจจุบันยังไม่มี เพราะเป็นการบวกเข้าไปกับค่าบริการที่คุณเข้าไปซื้อบริการในการพักอาศัย และเป็นการตกลงระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ซื้อบริการ

“ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องเก็บแพงกว่าของหลวงอยู่แล้ว เพราะต้องนำมาจ่ายในภาพรวม แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการบริการและความพึงพอใจของผู้เช่าด้วย เพราะผู้พักอาศัยมีตัวเลือกจำนวนมาก หากไม่พอใจกับหอพักนั้นๆ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง กล่าวแนะนำ

ขณะที่ นางวัชรี ประสาทเขตต์การ รองผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า อัตราการเก็บค่าน้ำของการประปานครหลวง เป็นอัตราค่าน้ำเดิมที่คิดมานานกว่า 17 ปี แล้ว และเป็นราคาที่ถูกที่สุดในโลก คือใช้น้ำ 1,000 ลิตร คิดเพียง 8.50 บาท ในอัตราก้าวหน้า โดยสามารถดูเกณฑ์อัตราค่าน้ำได้ที่เว็บไซต์ www.mwa.co.th

อย่างไรก็ดี เมื่ออัตราค่าน้ำเข้าไปอยู่ในรูปแบบหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์แล้ว การประปานครหลวงไม่สามารถไปกำหนดอัตราค่าน้ำได้ เพราะเป็นเรื่องของหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ และเป็นการทำธุรกิจ

แม้ว่าการกำหนดอัตราค่าน้ำค่าไฟของหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ในสังคมปัจจุบัน การทำความเข้าใจซึ่งกันและกันย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า

เพราะแม้ว่าผู้พักอาศัยจะสามารถขอตรวจสอบและดำเนินการกับหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ได้ตามที่ สคบ. แนะนำ แต่หากประชาชนเอาแต่ก้มหน้าก้มตาฟ้องร้อง โดยไม่ศึกษาข้อมูลเสียก่อน สคบ. ก็จะต้องรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหอพักเป็นจำนวนมาก เพราะทุกคนจะอ้างสิทธิร้องเรียนขอตรวจสอบทุกหอพักหรืออพาร์ตเม้นต์ที่เข้าไปพักอาศัย

จนเกิดเป็นปัญหาที่ต้องฟ้องร้องกัน ทำให้ต้องเสียทั้งเงินและเวลาในที่สุด

ทั้งที่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและการยินยอมรับเงื่อนไขของผู้เช่าหรือผู้รับบริการ ซึ่งยังมีที่พักอาศัยอื่นๆ เป็นทางเลือกอีกมากมาย