วิรัตน์ แสงทองคำ : มองมิติสังคมเชิงเปรียบเทียบ ผ่าน “เซ็นทรัล”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สะท้อนมาจากความคิดและบทวิเคราะห์ ว่าด้วยเบื้องหลังปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวธุรกิจใหญ่ๆ ในสังคมไทย

อย่างกรณีธุรกิจใหญ่ เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักและมีนัยยะ พาเหรดเข้าตลาดหุ้น กรณีอ้างอิง ตั้งใจมองผ่านปรากฏการณ์กลุ่มเซ็นทรัลอย่างเฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับการได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุด ได้เดินแผนการเข้าตลาดหุ้นไทย

เปิดฉากขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว (26 กรกฎาคม 2562) “ในวันซึ่งผู้คนพุ่งกระแสสนใจทางการเมือง (อภิปรายนโยบายรัฐบาลใหม่) สะท้อนยุทธศาสตร์ใหม่ ธุรกิจใหญ่ไทย ว่าด้วยแผนการปรับตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่”

เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างๆ ว่าเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งเตรียมการมาล่วงหน้า สัมพันธ์กับอีกช่วงหนึ่งของการเมืองไทยที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งว่างเว้นมา 5 ปีเต็ม

อันที่จริงความสัมพันธ์กลุ่มเซ็นทรัลกับตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านๆ มาล้วนสัมพันธ์กับบริบททางสังคมอย่างแยกไม่ออก

เริ่มขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นขบวนเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ในช่วงเวลาเศรษฐกิจพองตัวครั้งใหญ่ หลังสิ้นสุดยุคสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน และโลกาภิวัตน์กำลังคืบคลานเข้ามา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยขยายตัวเติบโตช่วงใหญ่

กลุ่มเซ็นทรัลนำบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรมและอาหาร–บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เข้าตลาดหุ้น (ปี 2533) ช่วงเดียวกับ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS (ขณะนั้นเป็นกิจการร่วมทุน) จากนั้นตามมาด้วย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ธุรกิจสำคัญข้างเคียงในฐานะผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าปลีก (ปี 2538)

ส่วนกรณีล่าสุดซึ่งเว้นวรรคมาถึง 25 ปี บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ใช้เวลาเตรียมการต่อจากนั้นอยู่พักใหญ่ จึงได้ยื่นเอกสารและข้อมูลเป็นทางการ (filling) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. (1 ตุลาคม 2562)

จนมาถึงขั้นตอนสำคัญ เป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ 2563 เมื่อ ก.ล.ต.ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (26 ธันวาคม 2562)

 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว กลุ่มเซ็นทรัลเปิดแถลงข่าวครั้งใหญ่ สื่อต่างๆ นำเสนอกันอย่างครึกโครม “เซ็นทรัล รีเทล สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ค้าปลีกไทยสู่ระดับโลก เคลื่อนทัพใหญ่มุ่งสู่ “New Central New Retail”” (31 กรกฎาคม 2562) ถ้อยแถลงทางการ ควรบันทึก อ้างอิงไว้ (อ้างจาก www.centralgroup.com)

สิ่งที่ผมสนใจและเคยนำเสนอไว้คือการปรากฏตัวของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น อาจสะท้อนภาพอีกมิติหนึ่งของบริบท ว่าด้วยความสัมพันธ์ธุรกิจใหญ่กับโครงสร้างอำนาจทางสังคม ผ่านผู้คนซึ่งมีความสำคัญ

ทว่าสิ่งจับต้องได้ ควรให้ความสำคัญอย่างมาก น่าจะเป็นแนวคิดซึ่งสะท้อนภาพความเป็นไปทางสังคมที่กว้างขึ้น

“จากการที่ได้ร่วมทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างใกล้ชิด ผมเชื่อมั่นว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมและพร้อมที่สุดสำหรับเซ็นทรัล รีเทล ที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป จากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการเติบโตของ GDP พร้อมด้วยกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ขยายตัว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการเป็น 1 ใน 20 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก” อย่างที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานกรรมการเซ็นทรัล รีเทล กล่าวไว้ในถ้อยแถลงดังกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือข้อมูลและบทวิเคราะห์ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งนำเสนออย่างเป็นระบบ ปรากฏใน หนังสือชี้ชวนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผ่านการเห็นชอบของ ก.ล.ต. เป็นเอกสารสำคัญ (ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ 12 ธันวาคม 2562) เพื่อประกอบการพิจารณาของนักลงทุนในขั้นตอนการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน

ตามกระบวนการซึ่งงวดเข้า ในระยะใกล้ๆ นี้ มีงานสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง-งานนำเสนอข้อมูลการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “CRC” วันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

 

ข้อมูลอย่างย่อที่สำคัญซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลตั้งใจนำเสนอ จะมีตอนหนึ่ง ที่อ้าง Euromonitor International ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 อยู่ด้วย “CRC เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกผ่านรูปแบบที่หลากหลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีร้านค้าทั้งหมดประมาณ 1,922 ร้านค้าใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ CRC ยังได้ขยายความสำเร็จไปยังต่างประเทศ โดยเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ้น 9 สาขา และยังเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกข้ามชาติและค้าปลีกประเภท Hypermarket อันดับ 1 ในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในประเทศเวียดนาม ด้วยร้านค้าในรูปแบบต่างๆ จำนวน 133 ร้านค้า ใน 40 จังหวัด โดย CRC อยู่ในสถานะที่ดีในการจะก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกหลากหลายรูปแบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในภูมิภาคอื่นๆ”

Euromonitor International เป็นบริษัทด้านวิจัยการตลาด (market research firm) ระดับโลก มีฐานที่ London สหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อปี 2515 ซึ่งในหนังสือชี้ชวนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้อ้างถึงหลายต่อหลายตอน สะท้อนบทวิเคราะห์ทางธุรกิจ ให้ภาพเชื่อมโยงกว้างขึ้น อย่างที่ข้อเขียนในตอนนี้ตั้งใจนำเสนอ

มุมมองความเคลื่อนไหวที่เป็นไปในเชิงเปรียบเทียบ มิติที่กว้างและซับซ้อน โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจซึ่งมีขั้นพัฒนาการที่แตกต่างกัน จากอิตาลี สู่ไทย ไปยังเวียดนาม

 

ไทย โอกาสแห่งพื้นที่ โอกาสนอกกรุงเทพฯ

มุมมองว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจ มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจนอกกรุงเทพฯ ยังคงดำเนินไป

“Euromonitor International ผลิตภัณฑ์มวลรวมในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานครคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 46.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยในปี 2561 แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นที่พักอาศัยของประชากรประมาณร้อยละ 74.4 ของประชากรทั้งประเทศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้สังเกตเห็นปริมาณการใช้จ่ายของลูกค้าในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเริ่มมีการเติบโตมากกว่าการใช้จ่ายของลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทจึงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ในอีก 5 ปีข้างหน้า”

บทวิเคราะห์อย่างกว้างๆ อย่างสำคัญข้างต้นกล่าวไว้ในหนังสือชี้ชวน สัมพันธ์กับข้อมูลซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของค้าปลีก ซึ่งดำเนินไป “แม้ว่าลูกค้าจะต้องการความสะดวกสบายจากการซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น แต่คาดว่าการซื้อสินค้าในร้านค้าก็ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของลูกค้า โดยคาดว่าร้อยละ 93.4 ของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยในปี 2566 จะยังคงอยู่ในรูปแบบของการซื้อสินค้าในร้านค้าเป็นหลัก”

อ้างรายงานของ Euromonitor International อีกตอนหนึ่ง

 

เวียดนาม ชนชั้นกลางกำลังเติบโต

ธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามซึ่งมีอัตราการติบโตอย่างมาก สะท้อนภาพความเป็นไปบางสิ่งบางอย่างว่าด้วยความเป็นไปในภูมิภาคซึ่งเชื่อมโยงกัน เป็นฉากตอนต่อเนื่องและสัมพันธ์กับสังคมไทย

“จากรายงานของ Euromonitor International จำนวนของชนชั้นกลางในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 6.1 ล้านครัวเรือนเป็น 7.6 ล้านครัวเรือนในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2561 และคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8.3 ล้านครัวเรือนในอีก 5 ปีข้างหน้า”

“และจากรายงานของ Euromonitor International ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนามต่อหัว (GDP per capita) เติบโตขึ้นจาก 1,872 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2,538 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2561 ขณะพื้นที่ชนบทซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64.5 ของประชากรทั้งหมดในปี 2561”

 

อิตาลี กับตลาดนักท่องเที่ยว

กลุ่มเซ็นทรัล เจ้าของห้างสรรพสินค้า 9 สาขา ตั้งอยู่ใน 8 เมือง ในประเทศอิตาลี “ด้วยชื่อเสียง ความมีระดับ และประวัติที่สืบทอดมายาวนาน” โดยห้างสรรพสินค้าสำคัญ (Flagship store) ตั้งอยู่ในเมืองมิลานและกรุงโรม

“เป็นหนึ่งในแหล่งเลือกซื้อสินค้าชั้นนำในทวีปยุโรปสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้สามารถนำเอาผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในประเทศอิตาลีมาปรับใช้กับธุรกิจในประเทศอื่นๆ” รายงานและบทวิเคราะห์ภาพเชิงพัฒนาการซึ่งน่าสนใจ ดูเชื่อมโยงกับอุบัติการณ์ค้าปลีกในเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของโมเดลค้าปลีกอันครึกโครม เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเยือนประเทศไทย ซึ่งมีการคาดการณ์ในเชิงบวก “จะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 8.0 ในช่วงปี 2557 ถึง 2563”

เรื่องราวกรณีเซ็นทรัล น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ในฐานะเครือข่ายธุรกิจซึ่งสัมพันธ์กับผู้คนและปัจเจกในวงกว้าง ทั้งสังคมไทยและสังคมเปรียบเทียบ เชื่อว่าจะมีบทบาทมากขึ้นๆ เป็นลำดับ ในฐานะธุรกิจที่ยืดหยุ่น สามารถขยายจินตนาการและบทบาทได้อย่างกว้างขวาง ค่อยๆ ซ้อนทับและก้าวข้ามธุรกิจสำคัญดั้งเดิม