สมหมาย ปาริจฉัตต์ : โอเน็ตได้เท่าไหร่ไม่ว่า แววตามีสุขก็ผ่านแล้ว (9)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายการ กพฐ.สัญจร แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษ ผ่านสถานศึกษา 3 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนเฉพาะความพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนทั่วไปที่จัดการเรียนรวมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ปิดฉากลงด้วยเวทีประชุมนอกสถานที่ในวันรุ่งขึ้น

ผู้แทน กพฐ.ทั้งสี่สายรายงานสิ่งที่พบเห็น ความประทับใจ สะเทือนใจ ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อเรียกร้อง

และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้กับสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู พี่เลี้ยง และชุมชนที่เกี่ยวข้อง

 

เริ่มจากสายเอ เยี่ยม 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น โรงเรียนกาวิละอนุกูล สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก และพิการซ้อน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล

นุชากร มาศฉมาดล นักการศึกษาจากดินแดนที่ราบสูง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กพฐ.ผู้ทรงคุณวุฒิ สายผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สะท้อนคิดอย่างน่าสนใจ

สิ่งที่พบผู้บริหารมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เช่น จัดทำโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาการศึกษาพิเศษ (พิการซ้อน) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ

ผู้บริหารเปิดโอกาสให้ครูมีส่วนร่วมการออกแบบงาน มีการวางแผนเตรียมนักเรียนให้กลับสู่ครอบครัว ชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม มีเครือข่ายต่างประเทศ (Perkin) ในการจัดการเรียนการสอนของครูไม่แพ้ต่างประเทศ ทำให้เด็กมีความสุข มีนักเรียนไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศหลายประเทศ ทั้งด้านกีฬาและวิชาการ

ประเด็นที่อยากเพิ่มเติมก็คือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น

ส่วนการวัดความสำเร็จของนักเรียนที่ยังยึดติดกับผลทดสอบโอเน็ต สะท้อนถึงผลกระทบจากระบบที่เป็นอยู่ คำถามคือใช่หรือไม่ ขณะที่มีเด็กได้เป็นนักเรียน นักกีฬาทีมชาติไปเรียนภาษาจีนและอื่นๆ ได้ดี

ถามว่าเด็กเหล่านี้ผลการทดสอบโอเน็ตได้เท่าไหร่ สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของเด็ก น่าจะอยู่ที่ความสามารถของเด็กว่าทำอะไรได้มากกว่าคะแนนโอเน็ต

ครูมีจิตวิญญาณดีมาก ทุ่มเท ให้กำลังใจ ดูได้จากแววตาเด็กมีความสุขก็ผ่านแล้ว ทำให้มองเห็นอนาคต เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม

 

ต่อไปที่โรงเรียนกาวิละ เด็กพิการ 120 คน กินนอนในหอนอนของโรงเรียน ทำเค้กกล้วยหอมอร่อยมาก อร่อยในความรู้สึกจริงๆ เด็กเขาสามารถทำได้ไม่แพ้ญี่ปุ่นเลย เพราะใส่ใจเข้าไปในขนมนั่นเอง

เด็กออทิสติก 90 คน มีเด็กที่ตีกลองสะบัดชัยได้ยอดเยี่ยม ครูโยผู้สอนเป็นคนตาบอด มีวงโย วงดนตรีเป็นของตัวเอง อยากมาสอนเด็กในโรงเรียน มีเอกชนผู้ใจบุญจ้างให้มาสอนที่กาวิละ

ส่วนห้องคอมพิวเตอร์มาจากโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา อาจารย์สุรภี โสรัจจกุล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบางกอกพัฒนา กทม. เป็นกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ไปเยี่ยมโรงเรียนในสายนี้ เด็กๆ จำได้ ดีใจกันใหญ่ เป็นคนมอบคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนเขา แต่โรงเรียนก็ยังขาดบุคลากร อยากได้ครูพยาบาล คณะผู้เยี่ยมชมเลยเสนอว่า ติดต่อสำนักสาธารณสุขเทศบาลเชียงใหม่ก่อนดีไหม ถ้าคอยในระบบ ไม่รู้จะได้เมื่อไหร่

ที่โรงพยาบาลมหาราช นอกจากเป็นโรงพยาบาลรักษาคนป่วยแล้วเปิดเป็นศูนย์การเรียนเด็กในโรงพยาบาล เด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง 30 คน แต่มีเด็กแค่ 2 คนคอยดูแล แต่ก็ทำให้เด็กมีความสุขได้

เด็กที่คอยดูแลเด็กป่วยเล่าให้ฟังว่า เด็กๆ เจอหน้าครูก็ดีใจ เหมือนมีคนมาเยี่ยมไข้ตลอด

“หนูเข้าไปทำงานใหม่ๆ ไม่มีครูพี่เลี้ยง ทำอะไรไม่เป็น เลยไปเต้นระบำให้เด็กดู เด็กมีความสุข หากมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมาสอนก็ดี แต่การที่เป็นแค่ศูนย์การเรียน ไม่ใช่สถานศึกษา การขออัตราไปเติมเลยยังเป็นไปไม่ได้ จะให้นักศึกษาการศึกษาพิเศษจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มาฝึกไม่ได้ เพราะไม่ใช่สถานศึกษา มหาวิทยาลัยก็ยังสั่งไม่ได้ ถ้าทำในลักษณะขอความช่วยเหลือ ทำข้อตกลงกับคณะทันตแพทย์กลับทำได้ แปลกไหม ทั้งๆ ที่อาสาสมัครมาดูแลคนป่วย ไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ไปอยู่เป็นเพื่อน ไปเข้าใจเขาเป็นหลัก”

คณะศึกษาดูงานสายเอ ถ่ายทอดเรื่องราวจนวงประชุมมองเห็นภาพ

 

“สิ่งที่พบประเด็นเหมือนกันหมดทั้งสามแห่งที่ไปเยี่ยมเยียน ก็คือ อยากได้บุคลากร”

“ภารกิจอะไรที่เราสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้ การเพิ่มหรือขอบุคลากรอาจไม่จำเป็น หากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังให้ไม่ได้”

“ก็น่าคิด โรงเรียนเด็กตาดี กลับมีให้ก่อน เด็กพิการ ต้องการการดูแล สนับสนุน มีอุปสรรค”

บทสะท้อนคิดจากคณะผู้เยี่ยมเยียน ชื่นชมผลการดำเนินงานของทั้งสามแหล่งเรียนรู้ ผลิตสื่อได้จากการรับบริจาค อุปกรณ์ต่างๆ ฝึกให้เด็กทำได้ ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ สร้างแรงบันดาลใจให้อยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วกลับมาช่วยที่โรงเรียน

ฉะนั้น สิ่งที่ สพฐ.ควรเพิ่มเติม สำคัญที่สุดคือกำลังใจครับ

เสียงปรบมือตอบรับดังขึ้น ก่อนคณะดูงานสายต่อไปจะถ่ายทอดเรื่องเล่า ความสามารถพิเศษของคนพิเศษ น่าสนใจไม่แพ้กัน