นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เผด็จการซ่อนรูปที่สั่นคลอน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตยไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทย แต่มีอยู่ในประเทศเผด็จการอื่นเกือบทั่วไปอยู่แล้ว แม้แต่ในเมืองไทยเอง ระบอบนี้ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น รัฐบาลสุจินดา คราประยูร ใน พ.ศ.2535 เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐประหาร รสช.จัดให้ร่างขึ้นภายใต้อำนาจของตน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหาร คปค.จัดให้ร่างขึ้นภายใต้อำนาจของตน ซ้ำยังอาศัยอำนาจทหารเพื่อฟอร์มรัฐบาลผสมให้เกิดขึ้นในค่ายทหาร

การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ระบอบเผด็จการทั่วโลก

เผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตยเช่นนี้อาจดำรงอยู่ได้ยาวนาน หากประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ (ทำให้ประเทศรวยขึ้น และรวยทั่วหน้ามากขึ้น) เช่น สิงคโปร์ ต่างจากเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ได้ซ่อนรูปประชาธิปไตยไว้เพียงพอ แม้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็พังสลายลง

อย่างไรก็ตาม เผด็จการซ่อนรูปที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจนั้นมีน้อยมากๆ (เพราะเหตุใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้) จึงจะหาเผด็จการซ่อนรูปที่มีเสถียรภาพทางการเมืองเท่าสิงคโปร์แทบไม่ได้

เผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตยถือกำเนิดและตั้งอยู่ได้ก็ต้องมีฐานมวลชน จะมากหรือน้อยก็ต้องมี แตกต่างจากเผด็จการโบราณที่ไม่มีฐานมวลชนเอาเลย ในหลายประเทศทั่วโลก ฐานมวลชนของเผด็จการซ่อนรูปมักเป็นกลุ่มคนที่เคยได้ประโยชน์จากระบอบที่ไม่ประชาธิปไตยอยู่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง คุกคามความมั่นคงของผลประโยชน์คนกลุ่มนี้ จึงหันไปสนับสนุนเผด็จการซ่อนรูป ที่ประกันความมั่นคงได้มากกว่าระบอบประชาธิปไตย

เผด็จการโบราณมักแสวงหาความชอบธรรมจากสถาบันตามประเพณีของสังคมนั้นๆ เช่น บาติสตาร์แห่งคิวบาได้ฐานสนับสนุนจากกองทัพและวีรบุรุษที่เคยต่อสู้เพื่อเอกราชของคิวบามาก่อน (ทั้งกับสเปนและสหรัฐ) ทำเนียบและเหรียญตราเต็มหน้าอกก็เป็นความชอบธรรมตามประเพณีที่เผด็จการละตินอเมริกามักใช้ประโยชน์เสมอ (สืบมาตั้งแต่ผู้ว่าการหรืออุปราชสเปนเคยใช้มา)

เผด็จการซ่อนรูปก็ยังใช้ความชอบธรรมตามประเพณีเช่นนี้อยู่ แถมยังบวกด้วยฐานมวลชน จึงเป็นเผด็จการที่สามารถซ่อนรูปในประชาธิปไตยได้ระดับหนึ่ง และมีความเข้มแข็งกว่าเผด็จการโบราณพอสมควร ในประเทศไทย พรรค พปชร.ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ชนะการเลือกตั้งได้ระดับนี้ก็ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จ แม้ไม่ปฏิเสธว่าใช้อำนาจรัฐในรูปต่างๆ เพื่อสร้างคะแนนเสียงอยู่ด้วยก็ตาม

เผด็จการซ่อนรูปจึงพร้อมจะผนวกเอาการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในความชอบธรรมของตน เพราะการเลือกตั้งอาจถูก “จัดการ” ได้ในระดับสูง (ผ่านองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มือของเผด็จการไม่เปื้อนด้วย) นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่เผด็จการร่างเอาไว้ก็ยังสามารถ “จัดการ” ให้ผลการเลือกตั้งไม่ใช่ปัจจัยตัดสินเด็ดขาดทางการเมือง (เช่น ให้ ส.ว.แต่งตั้งมีอำนาจเลือกนายกฯ, หรือให้อำนาจปลด รบ.ไว้กับองค์กรอิสระอื่นๆ, จนถึงที่สุดกองทัพก็ยังยึดอำนาจได้ง่าย) การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงพิธีกรรมที่แทบจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงในระบอบเผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตย

เพราะฐานมวลชนของเผด็จการซ่อนรูปนั้นมีจริง ไม่ว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงไร ทำให้ใช้พลังมวลชนในการขับไล่เผด็จการหรือการ “ลงถนน” ทำได้ยาก เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อ มวลชนจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองได้ง่าย

ในเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535 เมื่อเผด็จการสลายการชุมนุมของประชาชนบนถนนราชดำเนินด้วยความโหดเหี้ยมไปแล้ว แทนที่การ “ลงถนน” จะยุติลง กลับเกิดการชุมนุมในจุดอื่นๆ ของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีทีท่าว่าจะกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ได้ ในทางการเมือง ฝ่ายประชาชนกุมชัยชนะได้เด็ดขาด ไม่มีทางที่เผด็จการทหารในครั้งนั้นจะแปรเปลี่ยนความโหดร้ายที่ตนกระทำบนถนนราชดำเนินให้กลายเป็นวีรกรรม หรือแม้แต่ความจำเป็นไปได้

ความแตกแยกของมวลชนในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีฝ่ายใดมั่นใจได้ในการ “ลงถนน” ว่าจะสามารถกุมแต้มต่อทางการเมืองได้ตลอดไป หากการต่อสู้ยืดเยื้อเกิน 1-2 วัน คงจำกันได้ว่า การ “ลงถนน” ของเสื้อเหลือง, เสื้อแดง และสลิ่ม กปปส.ที่ผ่านมา ไม่มีใครกุมความชอบธรรมทางการเมืองได้เด็ดขาดสักฝ่ายเดียว

วัฒนธรรมของเผด็จการปัจจุบันเปลี่ยนมาสู่การซ่อนรูปประชาธิปไตย เอื้อต่อผลประโยชน์ของมวลชนระดับกลางและบนไปพร้อมกับผลประโยชน์ของพรรคพวกบริวารของตนเอง ยังอิงอาศัยความชอบธรรมตามประเพณีซึ่งก็ถูกคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันด้วย จึงพร้อมจะร่วมมือกับเผด็จการซ่อนรูป

ด้วยเหตุดังนั้น วัฒนธรรมของการต่อต้านเผด็จการจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

หมดยุคการ “ลงถนน” โดยพร้อมเพรียงเหมือนครั้ง 14 ตุลา, พฤษภา 35, แบบกรีก, หรือปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นเสียแล้ว หมดสมัยของการ “ปักหลัก” ประท้วงจนกว่าจะได้ชัยชนะ ในขณะเดียวกันก็หมดสมัยของพรรคมวลชนที่สามารถกุมเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งภายใต้เผด็จการซ่อนรูปป้องกันมิให้เกิดชัยชนะเช่นนั้นขึ้นได้ ทั้งโดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญและโดยอาญาสิทธิ์ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง

เรื่องของเรื่องจึงไม่ใช่ไม่ “ลงถนน” เพราะคนไทยยังโกรธไม่พอ แต่เพราะการ “ลงถนน” ไม่พอเสียแล้วต่างหาก เพราะถึง “ลงถนน” ไป นอกจากเสี่ยงเจ็บ-ตายเป็นเบือแล้ว ถึงชนะก็เปลี่ยนประเทศไปไม่ได้มากนัก อย่างที่คนไทยเคยชนะใน 14 ตุลา และพฤษภามหาโหด 2535 มาแล้ว แต่ในที่สุดทุกอย่างก็กลับมาเกือบเหมือนสภาพเดิมก่อนชนะ คนกลุ่มเดิมก็ยังคงควบคุมการเมืองได้เด็ดขาดเหมือนเดิม

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการต่อต้านเผด็จการมาหลายปีแล้ว และยิ่งเห็นชัดขึ้นในช่วงนี้ เพราะประสบความสำเร็จมากขึ้นจนโดดเด่น แฟลชม็อบบนสกายวอล์กของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ใช่แฟลชม็อบครั้งแรก แต่มีผู้จัดเพื่อประท้วงเผด็จการในรูปแบบต่างๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ คสช.ยังมีอำนาจเต็มมือกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ (เช่น สองปีก่อน ชุมนุมติดกระดาษโพสต์-อิทบนสกายวอล์ก) ซ้ำไม่ได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับแฟลชม็อบครั้งล่าสุดก็มีการจัดพร้อมกันโดยคนท้องถิ่นเองในเมืองอื่นๆ อีกด้วย “วิ่งไล่ลุง” เมื่อเร็วๆ นี้ก็ไม่ต่างจากกัน มีการจัดคู่ขนานโดยคนท้องถิ่นในเมืองอื่นอีกกว่า 20 แห่ง

ก็ไม่แปลกอะไร เมื่อคิดว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสังคม “เมือง” มานานแล้ว

(และผมอยากชี้ให้เห็นด้วยว่า แตกต่างจากการประท้วงปัญหาเฉพาะบางอย่าง ซึ่งมักปักหลักที่หน้าทำเนียบ)

การประท้วงลักษณะใหม่เหล่านี้ ประกอบด้วย การใช้สิทธิตามกฎหมายจนสุดขอบของบัญญัติทางกฎหมาย (ต้องเตือนไว้ด้วยว่า สิทธิตามกฎหมายไม่ได้ถูกนิยามโดยนักกฎหมาย แต่ถูกนิยามโดยสังคม ซึ่งมักจะผลักขอบของบัญญัติให้กว้างออกไปเรื่อยๆ) จนทำให้สิทธิตามธรรมชาติ (หรือที่มักเรียกกันว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน”) กลายเป็นตัวชี้นำความหมายของสิทธิตามกฎหมาย

จัดขึ้นโดยผู้คนหลากหลาย แม้ในเมืองเดียวกัน แต่ละคนทำโน่นนิด ทำนี่หน่อย จนการประท้วงเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง ที่เรียกกันว่า “แกนนอน” ซึ่งไม่ควรหมายความเพียงมีแกนนำหลายคน แต่หมายถึงคนที่แทบไม่มีหน้าตาก็มีบทบาทร่วมด้วย เช่น แชร์ต่อกำหนดการประท้วงลงในหน้าเฟซบุ๊กของตน, ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่มาก ในประเทศไทยปัจจุบันยังเห็นแต่การใช้สื่อโซเชียล แต่ในภายหน้าคงมีการใช้แอพพลิเคชั่นอื่นๆ อีก เช่น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขยายเสียงเลย หากปราศรัยผ่านแอพพ์บางอย่าง และผู้ร่วมชุมนุมเปิดเสียงโทรศัพท์ของตนให้ดังพอแก่คนยืนข้างๆ ซึ่งไม่ได้นำโทรศัพท์มา ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ แม้แต่ผู้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมก็อาจฟังการปราศรัยได้ทั่วประเทศ (ยังไม่พูดถึงสนทนาแลกเปลี่ยนได้ด้วย)

ทำลายความชอบธรรมของเผด็จการ พร้อมกันไปกับทำให้กลไกของเผด็จการทำงานไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการปะทะอย่างที่สุด หากเกิดการปะทะขึ้นโดยฝ่ายเผด็จการ ก็ต้องทำให้เห็นความไม่ชอบธรรมของฝ่ายเผด็จการเอง “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ถูกละเมิด ซึ่งเท่ากับคนอื่นแม้ไม่ได้อยู่ในการชุมนุมก็โดนละเมิดด้วย

ความสำเร็จของการประท้วงลักษณะใหม่เช่นนี้ ไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนที่เข้าร่วมเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การได้พื้นที่ในสื่อต่างๆ ทั้งสื่อกระดาษและสื่อทางเลือก, การยังให้เกิดการประท้วงลักษณะนี้ในเวลาและพื้นที่อื่นต่อไปไม่สิ้นสุด พร้อมด้วยความคิดริเริ่มใหม่ๆ จากคนหลากหลายกลุ่ม

ทั้งหมดเหล่านี้ แม้ต้องอาศัยเวลายาวนานกว่าการ “ลงถนน” เพียงครั้งเดียว แต่ก็มีข้อดีที่เผยแพร่ความคิดออกไปสู่มวลชนได้กว้างขวาง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มุ่งจะเปลี่ยนระบบการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ใช่เพียงการขจัดผู้นำเผด็จการ ซึ่งมักเป็นเพียงหุ่นเชิดของผลประโยชน์อันไม่เป็นธรรมและสลับซับซ้อนเบื้องหลังเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการ “ลงถนน” เพื่อแตกหักเพียงครั้งเดียว

ในขณะเดียวกันก็ควรสำนึกด้วยว่า ชัยชนะบั้นปลายไม่ใช่ “การปฏิวัติ” กล่าวคือ ไม่อาจพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอะไรได้ดังการปฏิวัติ เพราะการเคลื่อนไหวเช่นนี้ดำเนินการโดยคนหลากหลายกลุ่ม ที่ไม่ได้ถูกปลูกฝัง (indoctrinate) ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน เป้าหมายจึงไม่ใช่การทำลายล้างกลุ่มผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังระบอบเผด็จการซ่อนรูป เราต้องการเพียงทำลายอำนาจผูกขาดทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น เพื่อทำให้เกิดระบอบการเมืองที่เปิดการต่อรองอย่างเท่าเทียมกันในหมู่คนทุกกลุ่ม มีระเบียบและกฎกติกาที่ทำให้ต่อรองกันได้โดยสงบและยุติธรรม

กลุ่มผลประโยชน์เบื้องหลังเผด็จการซ่อนรูปก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ปราศจากอำนาจพิเศษที่จะกีดขวางมิให้คนกลุ่มอื่นได้เข้ามาต่อรองเท่านั้น พวกเขาเองก็ยังมีโอกาสต่อรองในระบอบที่เปิดกว้างเท่ากับคนกลุ่มอื่น แต่เมื่อปราศจากอำนาจพิเศษ ก็อาจไม่ชนะไปทุกครั้ง จนทำให้พวกเขาอยากได้อำนาจพิเศษอย่างเดิมกลับมาใหม่ ซึ่งเราต้องต่อต้านจนสุดความสามารถต่อไป

และผมอยากเดาว่า ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดอีกนานทีเดียว