ธงทอง จันทรางศุ | วันวาร-วันนี้

ธงทอง จันทรางศุ

ปีใหม่พุทธศักราช 2563 ผ่านพ้นไปได้ไม่กี่วัน ผมและเพื่อนๆ จำนวนรวมประมาณยี่สิบกว่าคนก็ตื่นเต้นคึกคักขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

เพราะเรามีนัดหมายจะไปเที่ยวประเทศอินเดียด้วยกันในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้

จุดหมายปลายทางคือรัฐราชสถาน และจะไปใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แถวนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์เต็มก่อนจะบินกลับมาเมืองไทย

ทุกวันนี้การที่จะปลีกเวลาจากความวุ่นวายของหน้าที่การงานที่ทำอยู่เป็นประจำไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศหรือไปต่างประเทศก็ตาม ดูเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ เขาก็ทำกัน

บนเงื่อนไขว่าไม่มีปัญหาเรื่องการเงินการทอง แถมบางคนหนักข้อยิ่งกว่านั้นคือ ยอมเป็นหนี้เพื่อจะได้ไปเที่ยวก็มีด้วยเหมือนกัน

หลายคนเมื่อปฏิทินปีใหม่มาถึงมือก็รีบพลิกเปิดดูปฏิทินเป็นจ้าละหวั่น เพื่อตรวจสอบว่าเดือนไหนมีวันหยุดยาวสามวันสี่วันบ้าง จะได้วางแผนการท่องเที่ยวประจำปีให้ถูกต้อง

ผมเข้าใจว่าตอนนี้หลายคนก็มีแผนการท่องเที่ยวสำหรับวันมาฆบูชาและเลยไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว

ความนิยมเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและไปไหนไกลๆ อย่างนี้ ท่านทั้งหลายจะแปลกใจไหมครับ ถ้าผมจะบอกว่าเป็นความคิดอย่างตะวันตก ที่คนไทยเราเพิ่งจะรู้จักคุ้นเคยกันมากเมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง

และว่าไปทำไมมี ชาติตะวันตกหรือฝรั่งทั้งหลายก็เพิ่งเที่ยวกันก่อนหน้าเราไม่นานนัก

ที่เป็นอย่างนี้เพราะการท่องเที่ยวต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสองสามอย่าง

ข้อแรกซึ่งมาเป็นลำดับต้นเลยทีเดียวคือความสะดวกสบายในการเดินทาง

ข้อสองซึ่งตามมาติดๆ คือที่พักสำหรับแรมคืน

ส่วนข้อสามผมยังนึกไม่ออก ติดเป็นการบ้านเอาไว้ก่อนแล้วกัน ฮา!

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือความคิดว่า “ชีวิตต้องการการท่องเที่ยว” ความคิดอย่างนี้เป็นเรื่องใหม่จริงๆ สำหรับคนไทย เมื่อครั้งปู่ย่าตาทวดของเรา อาจจะมีการเดินทางท่องเที่ยวบ้างแต่ก็ต้องเจือด้วยการบุญการกุศล หรือยกเรื่องการบุญการกุศลมาเป็นธงนำเสียด้วยซ้ำ

เรียกอย่างโบราณว่าเป็น “การเดินทางแสวงบุญ”

ย้อนหลังไปถึงประมาณกรุงศรีอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าชาวกรุงคิดออกไปนอกกรุงก็น่าจะหนีไม่พ้นไปไหว้พระบาทพระฉายที่สระบุรี หรือผมจะแถมพระแท่นดงรังที่เมืองกาญจน์ให้อีกแห่งหนึ่งก็ยังได้ นอกจากนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนได้อีก

ชาวสยามแต่ก่อนเมื่อเวลาต้องเดินทางนั้นถ้าไม่ใช่การแสวงบุญก็ต้องเป็นเรื่องไปรบทัพจับศึก หรือมีธุระสำคัญ เช่น ต้องไปทำมาค้าขายหรือไปตามหาญาติที่สูญหายไปนานปี

คำว่า “ท่องเที่ยว” ไม่เคยอยู่ในพจนานุกรมมาก่อน

หนังสือนิราศที่ท่านผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านแต่งเอาไว้เป็นมรดกทางวรรณคดี แทบทุกเรื่องล้วนเป็นงานนิพนธ์ที่เขียนขึ้นระหว่างเดินทัพ หรือไปแสวงบุญทั้งสิ้น

การที่อยู่ดีๆ ใครคนหนึ่งจะบอกลาญาติพี่น้องแล้วบอกว่าจะไปเที่ยวพัทยา หรือไปเที่ยวเชียงใหม่ โดยไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากการไปเที่ยว ไปเที่ยวแท้ๆ ไม่มีอะไรอื่นเจือปน เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตของชาวเรา

ไปบอกใครอย่างนี้ เขาต้องหาว่าเราเป็นบ้าไปแล้วทั้งนั้น

การเดินทางท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเมื่อฝรั่งเข้ามาเมืองไทย

พอดีกันกับที่ยุคสมัยนั้นการเดินทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น มีเรือกลไฟ มีรถไฟ มีถนนหนทางเกิดขึ้น การเดินทางจากถิ่นที่อยู่เพื่อไปเยี่ยมชมธรรมชาติ วิถีชีวิต หรือสถานที่น่ารู้น่าชมต่างเมืองจึงเกิดขึ้นตามมา

สถานที่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเองก็ต้องพัฒนาเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีที่พัก มีร้านรวงและมีอาชีพหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เดินทาง

พูดถึงเรื่องการเที่ยวทะเลโดยเฉพาะ ในต้นสมัยรัชกาลที่ห้า ลำพังแต่เพียงการได้นั่งเรือออกไปพ้นจากปากน้ำเจ้าพระยา ได้เห็นท้องทะเลแล้วไปค้างแรมที่เกาะสีชังหรืออ่างศิลาก็ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์ของชีวิตแล้ว

ทางราชการก็เอื้อเฟื้อโดยการสร้างเรือนพักแรมขึ้นสำหรับผู้คนสามารถเข้าพักอาศัยโดยเสียค่าใช้จ่ายบำรุงสถานที่ตามสมควร แต่ต้องจองล่วงหน้านะครับ

ต่อมาสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลจึงเกิดขึ้นตามแนวอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีเรื่อยๆ ลงไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นึกถึงค่ายหลวงหรือพระราชวังเป็นตัวอย่างก็ได้ มีตั้งแต่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญในตอนต้นรัชกาลที่หก พระราชนิเวศน์มฤคทายวันในรัชกาลเดียวกันแต่เป็นตอนปลายรัชกาลจนถึงรัชสมัยรัชกาลที่เจ็ด หัวหินจึงทะยานขึ้นมาติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

ส่วนชายทะเลฝั่งตะวันออกนั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามวันเวลาเช่นเดียวกัน

ศรีราชาดูจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลที่คลาสสิคและมีความเป็นมาเก่าแก่ไม่แพ้กันกับแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งตะวันตกที่ออกชื่อมาแล้วข้างต้น

ไม่ต้องถอยหลังไปไกลมากหรอกครับ ตอนต้นรัชกาลที่เก้า ไม่น่าจะมีใครนึกถึง “พัทยา” อยู่ในหัวสมองได้เลย ในความรับรู้ของผมเมื่อตอนเป็นเด็ก พัทยาเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ระหว่างเส้นทางไปสัตหีบซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนจำนวนมากกว่าเพราะสัตหีบเป็นฐานทัพเรือสำคัญมานานปีแล้วพัทยามาบูมขึ้นก็ช่วงสงครามเวียดนามนี้เอง

เพราะทหารอเมริกันที่ได้หยุดพักผ่อนจากการทำสงครามคร่ำเคร่ง ทางราชการอเมริกันเขาส่งมานอนเล่นอยู่ที่พัทยาครับ

สู้กับคนไทยพอรอดชีวิตแล้วค่อยกลับไปสู้กับญวนต่อ

โรงแรมตามต่างจังหวัดของเราในอดีตล้วนตั้งใจทำขึ้นเพื่อรองรับนักเดินทางที่ไปธุระปะปังเสียมากกว่าการทำโรงแรมเพื่อการพักผ่อน

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ทำแต่พอซุกหัวนอนได้ คนส่วนใหญ่ถ้าสามารถหาที่พักตามบ้านญาติได้ ย่อมสมัครใจที่จะอยู่บ้านญาตินั้นมากกว่าการไปอยู่ที่โรงแรมซึ่งฟังดูเป็นแหล่งอโคจรอย่างไรก็ไม่รู้

ตรงกันข้ามกับโรงแรมสมัยนี้ ซึ่งหรูหราและน่าโคจรเป็นที่สุด

เห็นไหมครับว่าในช่วงเวลาเพียงแค่ร้อยปีเศษ คนไทยเราสามารถปรับตัวเข้ากับการท่องเที่ยวได้อย่างน่ามหัศจรรย์

มีทั้งที่ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวเอง ไปเที่ยวทั้งในประเทศและนอกประเทศ (เช่นผม)

รวมตลอดถึงปรับตัวเข้ากับอาชีพบริการนักท่องเที่ยวที่มีมากมายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกิจการบริษัททัวร์โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของ กิจการรถเช่า ฯลฯ จนกระทั่งทุกวันนี้รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศไปแล้ว

แต่น่าสังเกตนะครับว่า การท่องเที่ยวแบบแสวงบุญยังเหลือร่องรอยอยู่ในชีวิตของคนไทยจำนวนไม่น้อย

ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนต้นคิดขึ้น แต่การตระเวนไหว้พระเก้าวัดสิบวัดในช่วงปีใหม่ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี

บางคนกลับถึงบ้านตอนเย็นแล้ว ล้มตัวลงแผ่สองสลึง จับต้นชนปลายไม่ถูกอยู่แล้วว่าไปวัด วัดไหนก่อนหลังกันอย่างไร พระนอนพระนั่งก็แยกไม่ไหวแล้ว เพราะเยอะแยะเกินจะทรงจำได้ครบถ้วน

นี่ผมจะไปเที่ยวราชสถาน เมืองอินเดียเจ็ดวันเจ็ดคืน พอกลับมาถึงเมืองไทยคงมีอาการคล้ายคลึงกันกับการไหว้พระเก้าวัดสิบวัดเป็นแน่

เอาปราสาทโน้นมารวมกับปราสาทนี้ มหาราชาองค์นั้นมาบวกกับมหาราชาองค์นู้น

ขอให้ผมรอดชีวิตกลับมารายงานข่าวนะครับ