วงค์ ตาวัน | การขยับของคนนับหมื่น

วงค์ ตาวัน

มีคำถามว่า การ “วิ่งไล่ลุง” ที่จัดโดยกลุ่มนิสิต นักกิจกรรม ซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมเกือบ 1.5 หมื่นคน ที่สวนรถไฟและอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จ ส่งผลสะเทือนทางการเมืองได้ดี รวมไปถึงการจัดแฟลชม็อบโดยพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีคนเข้าร่วมจนล้นพื้นที่สกายวอล์กย่านปทุมวัน เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2562 นั้น

เป็น 2 กิจกรรมที่ผู้คนมารวมตัวกันในเวลาสั้นๆ แต่สร้างความคึกคักให้กับประชาชนวงกว้างมากมาย

“ต่อจากนี้จะขยายไปสู่อะไร และจะนำไปสู่อะไร!?”

น่าจะมองได้ว่า เป็นสัญญาณเตือนถึงกลุ่มผู้กุมอำนาจว่า อย่าทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกหมดหวังกับการเมืองในระบบปกติ

ทั้งที่ประชาชนฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ยอมรับอำนาจ คสช.นั้น ล้วนแล้วแต่ต้องการให้การเมืองไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีเวทีสภาให้พรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประเทศชาติ และผลักดันประชาธิปไตยให้พัฒนาก้าวหน้า

เมื่อ คสช.ยอมคายอำนาจ ให้มีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ถือเป็นทางออกที่ดี

แต่แล้วผลการเลือกตั้ง กฎกติกาที่ประหลาดพิสดาร เริ่มทำให้เสียงของประชาชนที่แห่กันไปลงคะแนนเลือก ส.ส.ถูกบิดเบือน

“เช่น เสียง 250 ส.ว. กลับมีน้ำหนักเหนือกว่าเสียงของประชาชนหลายล้าน พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.อันดับ 1 กลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล”

หนักกว่านั้น พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมาแรงจนผู้มีอำนาจหวาดผวา ต้องถูกดำเนินคดีสารพัดข้อหา ทั้งที่เป็นเพียงพรรคฝ่ายค้าน ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหาร ยังไม่ได้ทำอะไรที่ผิดพลาดเลย

ทั้งเป็นไปได้มากว่า จะถึงขั้นผลักไสให้ออกไปจากเวทีการเมืองระบบสภา

“เพราะความหวั่นเกรงเอาเองว่า เป็นพรรคอันตราย ล้างสมองคนรุ่นใหม่ เป็นภัยต่ออะไรต่อมิอะไร!”

ทำให้บรรยากาศการเมือง ภายหลังเข้าสู่ประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง ผ่านไปได้ 8-9 เดือน จึงเริ่มเกิดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจของประชาชนส่วนหนึ่ง

“จนเริ่มต้องแสดงออกให้เห็นว่า ถ้าหากเสียงของประชาชนที่เลือก ส.ส.และพรรคการเมืองเข้าสภาเริ่มไม่มีความหมาย ก็ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องออกมาส่งเสียงเอง”

กลางเดือนธันวาคม 2562 จึงเกิดแฟลชม็อบ ที่กล่าวกันว่าเป็นการซ้อมใหญ่ ครั้งต่อไปจะเป็นของจริง

จากนั้น 12 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และมีการวิ่งไล่ ขยายไปอีกหลายจังหวัดด้วย ซึ่งแกนนำจัดกิจกรรมยืนยันว่า ในเดือนหน้าจะต้องมีอีกแน่นอน

ก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่า หากการเมืองในระบบรัฐสภา ภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ และอำนาจ คสช.ยังคงสืบทอดต่อมา ทำให้ประชาชนรู้สึกผิดหวังมากขึ้น

ถึงจุดหนึ่ง การออกมาส่งเสียงของประชาชนเองโดยตรง จะหนักหน่วงกว่านี้หรือไม่!?

ในวันวิ่งไล่ลุงนั้น อีกฟากฝ่ายที่เป็นกองเชียร์รัฐบาล ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็เชียร์ตั้งแต่ให้ คสช.เข้ามายึดอำนาจเมื่อปี 2557 แล้ว ก็ได้จัดกิจกรรมเลียนแบบเพื่อประชันกันคือเดินเชียร์ลุง เพื่อหวังตอบโต้กระแสฝ่ายไล่ลุง

แต่เพราะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อตอบโต้ จัดขึ้นมาตามหลัง จึงทำให้ไม่มีพลัง ไม่มีคุณค่าอะไร

ประเด็นใหญ่หลังเหตุการณ์วันนั้นที่ทั้งสังคมกล่าวขวัญกันก็คือ มีคนไปวิ่งไล่ลุงจำนวนมากมายจริงๆ แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับฝ่ายเดินเชียร์ลุงสักเท่าใด

ขณะที่ผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีในรัฐบาล พากันหยิบยกเอากิจกรรมไล่และเชียร์ขึ้นมาประกบควบคู่กัน เพื่อสร้างบทสรุปว่า กำลังสร้างความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองขึ้นมาอีกแล้ว ควรจะยุติกันได้แล้ว

“อ้างว่าเป็นการทำลายความสงบสุขของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ประเทศชาติต้องเสียเวลา”

นำมาสู่เสียงตอบโต้ทันทีว่า ถ้ามองว่าการเคลื่อนไหวของคนไม่ยอมรับรัฐบาล ทำให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลต้องออกมาบ้าง นี่คือการสร้างความขัดแย้งแตกแยกให้กลับคืนมา

ก็ต้องบอกว่า ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยที่เคยมีมาหลายปี และเป็นข้ออ้างของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหารของ คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น

“เอาเข้าจริงๆ ความขัดแย้งนั้นยังดำรงอยู่เหมือนเดิม เป็นมากว่าสิบปี ก็ยังมีอยู่ไม่แปรเปลี่ยน!”

นำมาสู่บทสรุปว่า วิธีการรัฐประหารไม่ใช่การแก้ปัญหา หนักกว่านั้นผู้ทำรัฐประหารก็ไม่ได้คิดเข้ามาสู่อำนาจเพื่อสลายปัญหาความขัดแย้งตามข้ออ้างแต่อย่างใด

เพราะปัญหาความขัดแย้งแตกแยก ที่แบ่งคนออกเป็น 2 สี 2 ฝ่ายนั้น ไปๆ มาๆ ฝ่ายหนึ่งจงใจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพื่อเรียกร้องให้กองทัพออกมายึดอำนาจ

การเข้ามาของกลุ่มทหาร จึงมองได้ว่าเป็นขบวนการเดียวกันกับม็อบฝ่ายหนึ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดคือการล้มประชาธิปไตย การทำให้นักการเมืองและฝ่ายประชาธิปไตยหมดสิ้นอำนาจ

ทั้งเมื่อก่อรัฐประหาร เข้ายึดอำนาจ ท่ามกลางข้ออ้างว่าเพื่อยุติความขัดแย้งแตกแยก แต่เพราะผู้รัฐประหารกับม็อบฝ่ายหนึ่งเป็นขบวนการเดียวกัน

“เมื่อได้อำนาจ ก็มีแต่จะกำจัดอีกฟากฝ่ายเป็นภารกิจหลัก

เอาเข้าจริงๆ คือ ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหา แต่เข้ามาเพื่อจะขุดรากถอนโคนอีกฝ่ายให้หมดสิ้นไป”

แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ แล้วลงเอยผู้มีอำนาจจากการรัฐประหารก็กลายเป็นคู่กรณีของประชาชนอีกฟากฝ่ายอย่างชัดเจนไปในที่สุด!

คณะ คสช. เป็นตัวอย่างสดๆ ที่เป็นรูปธรรมโจ่งแจ้ง โดยเมื่อเข้ามายึดอำนาจปี 2557 ได้ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า มาเพื่อสลายความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ให้สังคมไทยหันมาอยู่ร่วมกันอย่างเป็นพี่น้องกันเหมือนเดิม

“แถมออกประกาศ ออกคำสั่ง ที่มีเนื้อหาสาระ เสมือนว่าจะเข้าใจในต้นตอปัญหา และต้องการจะแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอความแตกแยก”

เช่น ประกาศยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีต่างๆ มีกระบวนการที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนว่ามีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคม และอาจมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนและนานาประเทศเกิดความเชื่อมั่น

“คสช.ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า คสช.มีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็น ศาล ป.ป.ช. องค์กรอิสระอื่นๆ อัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปท. รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมขอให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม และมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ”

นั่นคื คำแถลงอย่างเป็นทางการของ คสช. เมื่อ 5 ปีก่อน

“แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง กับกระบวนการยุติธรรม กระบวนการดำเนินคดีต่างๆ!?!”

พูดง่ายๆ ว่า ยุติธรรม 2 มาตรฐาน ที่ คสช.ยอมรับจากคำแถลงดังกล่าวว่ามีอยู่จริง และเป็นต้นตอความแตกแยก แถมมีนโยบายว่าจะต้องไม่มีอีก

“แล้วผลเป็นเช่นไร”

ทำไมจึงมีแฟลชม็อบ ทำไมจึงมีวิ่งไล่ลุง นำมาสู่ความหวาดผวาว่าประชาชนจะลงถนนอีกแล้วหรือ

วันนี้เป็นที่ห่วงใยกันมากว่า ปัญหายุติธรรม 2 มาตรฐานนี่แหละ จะจุดชนวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในสังคมไทยอีกครั้ง!