หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “อีริค ฟรอมม์” : อำนาจนิยม สังคมมาโซคิสต์ และผู้นำซาดิสต์ (จบ)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1เรากำลังพูดถึงฟรอมม์ และเขาพูดถึงสังคมเยอรมนีในช่วงนาซี รวมถึงเผด็จการฟาสซิสต์ที่แผ่อำนาจอยู่ในยุโรป

ฟรอมม์ชี้ให้เห็นว่า คนเรามีวิธีหลบหนีไปจากเสรีภาพที่ได้มาจากการแยกตัวออกจากธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา ด้วยการหลอมตัวเองเข้ากับบางคนหรือบางสิ่งที่อยู่นอกตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ มีความเข้มแข็ง โดยที่ตัวเองมิได้มีอำนาจและความเข้มแข็งจริงๆ

มันคือการหา “สายสัมพันธ์” ใหม่มาแทนของเดิม

ความสัมพันธ์ชนิดนี้ประกอบด้วยคนสองฝ่าย หนึ่งคือ-ผู้ต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น สองคือ-ผู้ยินดีถูกกระทำโดยอำนาจที่สูงส่งกว่า

หนึ่งคือ-ผู้มีความต้องการแบบซาดิสต์

สองคือ-ผู้มีความต้องการแบบมาโซคิสต์

2ในบางสังคมสามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้คนรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย ไร้พลัง ควบคุมอะไรต่างๆ ในชีวิตไม่ได้ จึงต้องพึ่งพิงคนอื่น และพึ่งพาอำนาจที่เหนือกว่าตลอดเวลา

ผู้สยบยอมและต้องการถูกกระทำโดยอำนาจเช่นนี้คือคนที่มีความต้องการแบบมาโซคิสต์

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในคนคนเดียวกันมักมีแนวโน้มที่ตรงกันข้ามปรากฏอยู่ด้วยเสมอ นั่นคือคนที่เป็นมาโซคิสต์ก็มักมีแนวโน้มแบบซาดิสต์ด้วย นั่นคืออยากให้คนอื่นพึ่งพิงตัวเอง อยากมีอำนาจเหนือผู้อื่นอย่างเด็ดขาด หรือต้องการให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ อับอายขายหน้า ดูแคลน

ราวกับว่า เมื่อตัวเองถูกกระทำโดยคนที่สูงกว่าก็มีนิสัยอยากกระทำคนที่ต่ำกว่าต่อเนื่องลงไปเป็นทอดๆ แต่เราจะไม่เห็นการแสดงออกอย่างชัดเจน เพราะความต้องการแบบซาดิสต์นั้นมักถูกเคลือบทาด้วยเหตุผลว่า ฉันปรารถนาดี และด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นคนดี มีเจตนาดี โดยที่ตัวคนคนนั้นเองก็อาจไม่รู้ตัว

ฟรอมม์บอกว่า เหตุผลบังหน้าที่พบบ่อยคือ “ที่ผมต้องมีอำนาจเหนือคุณ ก็เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณคืออะไร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง คุณก็ควรจะตามผมโดยไม่ต้องโต้แย้ง”

คนประเภทซาดิสต์ทุกคนล้วนต้องการคนที่จะมารองรับความเป็นซาดิสต์ของเขา ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างซาดิสต์และมาโซคิสต์จึงพึ่งพากันไปมาในแง่จิตวิทยา

จึงไม่แปลกที่คนประเภทซาดิสต์จะมี “ความรัก” ต่อผู้ที่ตนรู้สึกว่าต่ำกว่า กระทั่งรู้สึกขอบคุณต่อผู้ที่รองรับอำนาจของเขา ตัวเขาเองอาจคิดว่าเขารักคนเหล่านั้นมากจึงอยากมีอำนาจเหนือชีวิตคนเหล่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว เขารักคนเหล่านั้นก็เพราะว่าคนเหล่านั้นทำให้เขารู้สึก “เหนือกว่า” ต่างหาก ดังนั้น เขาอาจยินยอมให้ทุกสิ่งและหยิบยื่นสิ่งดีๆ ทุกอย่างให้ ยกเว้นสิ่งเดียวคือ ไม่ยอมให้สิทธิที่จะเป็นอิสระหรือเป็นไทแก่คนเหล่านั้น

ความสัมพันธ์ประเภทนี้จึงเป็นไปในรูปแบบ “เชื่อผม ผมตั้งใจดี เดี๋ยวดีเอง”

3ส่วนชาวมาโซคิสต์นั้นกลัวความโดดเดี่ยว กลัวว่าตัวเองจะไร้ความสำคัญ แต่ก็ยากที่จะมองเห็นความรู้สึกลึกๆ นี้ของตัวเอง เพราะมักจะถูกกลบไว้ด้วยความรู้สึกแบบชดเชย คือรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ สมบูรณ์พรั่งพร้อม

มาโซคิสต์ล้วนมีจุดประสงค์เหมือนกัน นั่นคือการขจัดตัวตน ขจัดความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งก็คือการขจัดภาระแห่งการมีเสรีภาพนั่นเอง

มาโซคิสต์พยายามตอกย้ำความต่ำต้อยของตัวเอง และพยายามเข้าไปสยบหรือมีส่วนร่วมอยู่กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีพลังอำนาจซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งบุคคล องค์กร พระเจ้า ประเทศชาติ ศีลธรรม หรืออุดมการณ์ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

แลกเสรีภาพกับความมั่นคง

ความซับซ้อนของมาโซคิสต์คือ แม้จะรู้สึกเหมือนตัวเองมีสังกัด แต่ลึกๆ ยังมีสภาพเสมือนอะตอมที่ไร้พลังอำนาจ เขากับพลังอำนาจไม่มีทางเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ยังมีความขัดแย้งกันลึกๆ เสมอ และความขัดแย้งที่ว่านี้เองที่จะทำให้เขาคิดทำลายการพึ่งพิงและต่อสู้ให้ตัวเองเป็นอิสระ

4ซาดิสต์และมาโซคิสต์จึงพึ่งพากันแบบซิมไบโอซิส มาโซคิสต์ต้องการหาความมั่นคงจากการยอมถูกกลืน ส่วนพวกซาดิสต์ก็ต้องกลืนผู้อื่นจึงรู้สึกมั่นคง ทั้งคู่ล้วนสูญเสียความเป็นตัวเอง มาโซคิสม์ละลายตัวเองเข้ากับพลังอำนาจภายนอก ซาดิสต์จะขยายตัวเองให้ใหญ่ขึ้นด้วยการเอาผู้อื่นมาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้ตัวเองเข้มแข็งทั้งที่ตัวเองแท้ๆ ไม่มีความเข้มแข็งนั้น

ฟรอมม์เห็นว่า ปรากฏการณ์ฟาสซิสต์เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ คือมีคนจำนวนมหาศาลหลงใหลไปกับชัยชนะของพวกบ้าอำนาจ และถือว่าชัยชนะนั้นแหละส่อถึงความเข้มแข็งของพวกตน

ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายทนความโดดเดี่ยวไม่ไหว และไม่เชื่อใจ “มนุษย์เดี่ยวๆ” กระทั่งไม่เชื่อใจตัวเองเวลาที่คิดและตัดสินใจแบบเป็นตัวของตัวเอง จึงต้องเกาะกันเป็นร่างขนาดยักษ์ และยอมสูญเสียความเป็นตัวเองไป

ในแง่นี้ ทั้งสองฝ่ายต่างมีนิสัยคล้ายกัน นั่นคือบ้าอำนาจ นิยมอำนาจ หรือมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม คนเช่นนี้จะมองเห็นมนุษย์มีเพียงสองแบบคือ พวกที่มีอำนาจกับพวกที่ไร้อำนาจ เขาจะรักคนที่มีอำนาจ ฝากชีวิต ความหวัง และความฝันไว้กับคนคนนั้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้รู้สึกว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง คาดหวังให้ “ท่าน” ช่วยคุ้มครอง คาดหวังให้ “ท่าน” ช่วยดูแล จนถึงให้ “ท่าน” รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการเลือกของตน

คนที่นิยมอำนาจเช่นนี้มีความเชื่อใน “อัศวินม้าขาว” หรือฮีโร่ที่จะออกมาช่วยเหลือพวกเขาได้ทันจังหวะเวลา เพียงอดทนและเฝ้ารอ โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชะตากรรมของตัวเอง

กระนั้น ถ้าปรากฏว่าอัศวินม้าขาวที่พวกเขาภาคภูมิใจทำตามที่เขาคาดหวังไว้ไม่ได้ เขาก็จะแค้นเคืองและขัดแย้งกับบุคคลนั้น หันหลังให้ แล้วหันหน้าไปหาอัศวินม้าขาวคนต่อไป โดยคาดหวังให้คนใหม่ทำตามที่ตัวเองหวังให้ได้ทุกอย่างเช่นเคย

นี่คือสังคมที่ปัจเจกชนเชื่อในผู้มีอำนาจมากกว่าตัวเอง

ในสังคมเช่นนี้ เราอาจได้เห็นผู้ที่ชอบขัดขืนอำนาจและแค้นเคืองต่อการใช้อิทธิพลจากเบื้องบน เป็นคนที่กบฏต่ออำนาจทุกรูปแบบ เราอาจเข้าใจว่าคนเหล่านี้ตรงข้ามกับมาโซคิสต์ทั้งหลายที่ชอบสยบยอมต่ออำนาจ

แต่ฟรอมม์ตั้งข้อสังเกตว่า บางครั้งคนเหล่านี้เพียงพยายามยกตัวเองขึ้นไปและขจัดความรู้สึกไร้พลังอำนาจด้วยวิธีเข้าไปต่อสู้กับผู้มีอำนาจ โดยไม่ว่าในจิตสำนึกหรือจิตไร้สำนึก เขาก็ยังต้องการสยบยอมให้อำนาจอยู่เสมอ (แต่เป็นอำนาจที่เขายึดถือ) ฟรอมม์เห็นว่า ผู้มีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมเช่นนี้ไม่มีวันเป็นนักปฏิวัติได้เลย

สังคมที่มี “อำนาจ” แผ่ปกคลุมจึงมีความซับซ้อนของ “อำนาจนิยม” ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในหลายรูปแบบ แต่ถึงที่สุดแล้วอาจแสดงออกถึงลักษณะของซาดิสต์และมาโซคิสต์อยู่ในนั้น

5ในสังคมที่มีการใช้อำนาจ ยอมรับอำนาจ หลงใหลในอำนาจ และบ้าอำนาจอยู่ในทุกอณู จึงมีโอกาสสูงที่ตัวเราเองจะเผลอกลายเป็นคน “อำนาจนิยม” ไปโดยไม่รู้ตัว

พ่อแม่ ผู้ปกครอง สื่อ สถาบันศึกษา องค์กรทางศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม อาจติดนิสัยชอบออกคำสั่ง อบรมสั่งสอน ข่มเด็กไม่ยอมให้มีอิสระในความคิด และแสดงออกได้ตามธรรมชาติ

เด็กจึงรู้สึกว่าพึ่งตัวเองไม่ได้ และเริ่มติดนิสัยชอบมองหา “อัศวินม้าขาว” เราจึงได้คนรุ่นต่อรุ่นมาสืบทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยมไปเรื่อยๆ เหมือนต้นไม้พิษหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงดินวนเวียนไป

ฟรอมม์ครุ่นคิดเรื่องเหล่านี้เพื่อตอบคำถามตัวเองกับข้อสงสัยว่า เหตุใดผู้คนมากมายในเยอรมนีจึงโอนอ่อนผ่อนตามฮิตเลอร์และพรรคนาซีไปได้ถึงเพียงนั้น และทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลเท่าที่เขาวิเคราะห์ออกมาได้ในแง่จิตวิทยาบุคคลซึ่งมีผลกระทบมาจากสังคม

สำหรับฟรอมม์ เสรีภาพในแง่บวกคือการที่แต่ละคนมีอิสระในการแสดงออก เพราะเมื่อเราเป็น “ผู้กระทำ” ตัวตนของเราจะค่อยๆ เข้มแข็งยิ่งขึ้น ความเข้มแข็งที่แท้จริงไม่ใช่การเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากการจัดการสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามใจนึก แต่อยู่ตรงที่เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ กับผู้คนต่างๆ อย่างไร เป็นไปในแบบสร้างสรรค์หรือเปล่า ถ้าเราสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ผู้คนต่างๆ โดยไม่มีอิสระ ไม่เป็นไปตามที่ใจคิด เราก็เพียงอวดตัวตนเทียมๆ ออกไปซึ่งจะค่อยๆ ทำให้เรารู้สึกอ่อนแอและต้อยต่ำ เหมือนชีวิตไม่ใช่ของเรา แต่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มีอำนาจครอบงำ

แต่ถ้าเราปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นคนอื่นอย่างมีอิสระ เราจะได้เรียนรู้และก่อร่างตัวตนในแบบของเราเองขึ้นมา และหาตำแหน่งแห่งที่รวมถึงความหมายชีวิตในแบบของเรา บรรยากาศแห่งเสรีภาพเช่นนี้จะทำให้เราเจริญเติบโต

ความเจริญเติบโตเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อลักษณะเฉพาะตัวของตัวตนผู้อื่นรวมถึงตัวตนของเราเองด้วย เคารพและส่งเสริมลักษณะเฉพาะของกันและกันคือเรื่องอันทรงคุณค่าของวัฒนธรรมมนุษย์

บรรยากาศเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความเสมอภาค คือ หนึ่ง-คนทุกคนมีลักษณะของความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน สอง-ทุกคนร่วมชะตากรรมมนุษย์เหมือนกัน สาม-ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเสรีภาพและความสุขเหมือนกัน และสี่-ทุกคนต้องมีความสัมพันธ์กันในแบบสมัครสมานกลมเกลียวกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกดขี่และอีกฝ่ายถูกกดขี่

เสมอภาคไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเหมือนกัน

ทุกคนจะดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายของตัวเอง ไม่ได้เอาชีวิตตัวเองไปรับใช้เป้าหมายอื่นใดที่อ้างว่าสำคัญกว่า และผู้อื่นก็เคารพในเป้าหมายนั้น เมื่อเป้าหมายขัดแย้งกันก็ถกเถียง ปะทะสังสรรค์ แล้วเติบโตไปด้วยกัน เช่นนี้แล้วเราย่อมเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับผู้อื่น และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวกับเสรีภาพเหมือนที่เป็นมา

เมื่อฟังการวิเคราะห์จาก อีริค ฟรอมม์ ทั้งหมดแล้ว ก็น่าคิดเหมือนกันว่า ที่เราทุ่มเถียงกันจะเป็นจะตายในบางเรื่องนั้น ถึงที่สุดแล้วเป็นความคิดที่ผุดเกิดจากตัวเอง หรือเกิดขึ้นเพราะเราทนความโดดเดี่ยวไม่ไหวจึงไปยึดกุมกับสิ่งยิ่งใหญ่บางอย่าง ทั้งผู้นำ อำนาจ ความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ ฯลฯ

เรามีเสรีภาพบวกหรือเปล่า เราเคารพเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่

หรือเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในวังวนแห่งอำนาจนิยม? เราเป็นซาดิสต์? เป็นมาโซคิสต์? หรือเป็นทั้งสองอย่าง?

วิกฤตทำให้เราตั้งคำถาม