“เจ้าอุบลวัณณา” เจ้านางเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจ


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เจ้าอุบลวัณณา”

เจ้าอุบลวัณณาเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ เกิดเมื่อประมาณ 170 ปีก่อน เป็นธิดาคนที่สองของเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ผู้ครองนครเชียงใหม่กับเจ้าอุสา

เจ้าอุบลวัณณาเป็นน้องสาวของเจ้าแม่ทิพเกสร มีศักดิ์เป็นน้าแท้ๆ ของเจ้าดารารัศมี เมื่อกำพร้าแม่ตอนอายุ 11 ปี เจ้าดารารัศมีก็อยู่ในอุปการะของเจ้าอุบลวัณณาตลอดมา จนกระทั่งเข้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชีวิตของเจ้าอุบลวัณณานัยว่ามีสีสันที่สุดของบรรดาเจ้าหญิงเชียงใหม่ นอกจากเจ้านางจะมีหน้าตาสวยงามแล้ว ยังมีความสามารถในเชิงเย็บปักถักร้อยและมีความสามารถในการดนตรีแบบที่กุลสตรีสมัยนั้นพึงจะเป็น

แต่นั่นไม่น่าทึ่งเท่ากับเจ้านางมีความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นเลิศ

สามารถสนทนาโต้ตอบกับเพื่อนฝรั่งและทำมาค้าขายกับชาวตะวันตก

นับว่าเจ้านางเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจอย่างยิ่งในสมัยที่เจ้าอินทวิชยานนท์บิดาของเจ้าดารารัศมีครองเมืองเชียงใหม่

 

จากบันทึกของ คาร์ล บอค นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์กล่าวไว้ว่า “เจ้าอุบลวัณณาเป็นผู้สนับสนุนมิชชันนารีอย่างดี ทั้งนี้มิใช่เพราะความเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ หากเพราะเจ้านางฉลาดมองเห็นข้อได้เปรียบในการคบค้ากับชาวต่างประเทศ”

ซึ่งหมายความว่าเจ้านางหวังผลในเชิงธุรกิจต่างหาก

จากบันทึกของเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี กล่าวว่า เจ้าอุบลวัณณาเป็นผู้ขอให้เจ้ากาวิโลรสผู้บิดาซื้อป่าไม้ชายแดนพม่าที่มีอาณาเขตกว้างขวางตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงแม่ฮ่องสอน แล้วให้ฝรั่งเช่าทำไม้

ทำให้เจ้าเชียงใหม่สายตระกูลเจ้ากาวิโลรสได้รับค่าตอไม้มากกว่าเจ้าสายตระกูลอื่น

มีเรื่องเล่ากันว่า ธิดาของเจ้าอุบลวัณณาเคยเอากระบุง 2 ใบขนาดใหญ่ที่ใช้หาบข้าวมารับค่าตอไม้ โดยโกยเงินที่นับไว้เป็นกองๆ ลงกระบุงทั้งสองจนเต็ม

ยังมีเรื่องเล่าทำนองว่า เจ้าอุบลวัณณาเคยปลอมตัวเป็นชายไปทำการค้าถึงเมืองมะละแหม่งในพม่า

เจ้านางตั้งโรงงานทอผ้าออกแบบลายผ้าเอง มีโรงงานทำเครื่องเงิน โรงแกะสลักไม้ โรงงานเครื่องเขิน และโรงต้มเหล้า ได้รับสัมปาทานรางรถไฟ ทำการค้ากับทั้งจีนฮ่อไทยใหญ่ โดยแข่งขันกับทั้งพ่อค้าผู้ชายชาวล้านนา อังกฤษ จีน และพม่า

แสดงว่าเจ้านางควบคุมธุรกิจเกือบทุกแขนงในเมืองเชียงใหม่และบริหารธุรกิจด้วยความชาญฉลาด

 

อยู่ครั้งหนึ่งเมื่อชาวจีนรวมหัวกันขออนุญาตผูกขาดการต้มเหล้า และเผอิญเจ้าแม่ทิพเกสรป่วยหนัก การรักษาตามความเชื่อในสมัยนั้นจะต้องจัดให้มีพิธีทรงเจ้าเข้าผี

เจ้าอุบลวัณณารับอาสาเป็นร่างทรงเสียเอง ปรากฏว่าวิญญาณที่มาเข้าทรง อาจจะเป็นเจ้ากาวิโลรสบิดาของเจ้านางทั้งสอง

เจ้ากาวิโลรสมีอีกฉายาหนึ่งว่า “เจ้าชีวิตอ้าว” เพราะถ้าเจ้าพ่อร้อง “อ้าว” ขึ้นมาเมื่อใด แปลว่าต้องมีคนหัวขาดแน่ ดังนั้น ผู้คนในล้านนาจึงไม่มีใครที่ไม่ยำเกรงต่อเจ้าพ่อ

เมื่อเจ้าพ่อประทับทรง เจ้านางกลับมีแววตาแข็งกร้าว มีเสียงห้าวเหี้ยม ดุดัน มีท่าทางห้าวหาญจนเป็นที่เกรงกลัวของทั้งคนจีนและหมอสอนศาสนาในที่นั้น

ร่างทรง ตวาดว่า กูไม่พอใจอย่างยิ่งที่จะให้ใครมาผูกขาดการต้มเหล้า แล้วขู่ว่าการที่เจ้าแม่ทิพเกสรป่วยนี้คือการเตือนเท่านั้น หากไม่ฟังกัน รับรองว่าจะมีเหตุร้ายใหญ่โตกว่าเป็นแน่

เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าเชียงใหม่ในขณะนั้นยกเลิกการผูกขาดการต้มเหล้า

เรื่องนี้นับเป็นตำนานของการทรงเจ้าเข้าผีในล้านนาทีเดียว

แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่า นี่คือกลอุบายของเจ้าอุบลวัณณาเองที่ไม่ยอมให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาผูกขาดการค้าเหล้า

หรือว่าเป็นเหตุการณ์ของการเข้าทรงจริงๆ

 

สําหรับชีวิตครอบครัวของเจ้าอุบลวัณณา เจ้านางเคยสมรสกับเจ้ามหาวงษ์แล้วเลิกกัน เมื่อเจ้านางอายุ 37 ปีก็เป็นหม้ายแล้ว เจ้านางมีคู่ครองต่อมาอีก 4 คน คนที่สองเป็นชายสามัญชน คนที่สามเป็นเจ้าราชบุตรลำปาง คนถัดมาเป็นพ่อค้าไม้สักชาวพม่าแต่บรรดาญาติต่างกีดกันไม่เห็นด้วย

คนสุดท้ายคือพ่อค้าชาวพม่าชื่อหม่องบอง แต่ก็ถูกลอบสังหารเสียก่อน ทำให้เจ้านางเสียใจมากและครองตัวเป็นโสดตลอดมาจนสิ้นชีวิต

รวมบุตรธิดาของเจ้านางมีทั้งหมด 5 คนเป็นชายสองและหญิงสาม

ลิลเลี่ยน เจ คอร์ทีส กล่าวถึงผู้หญิงล้านนา ซึ่งน่าจะสะท้อนภาพของเจ้าอุบลวัณณาได้ดีว่า “เป็นผู้หญิงที่มีความขยันพากเพียร ฉลาดกว่าผู้ชาย สามารถควบคุมสามีและมีสิทธิจะขับไล่สามีได้ตามใจชอบ ผู้หญิงล้านนามีความมั่นคงทางกฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจมากกว่าผู้หญิงชาวสยาม”

ด้วยมีเหตุที่เจ้าอุบลวัณณาเคยโต้ตอบท้าทายเจ้าราชบุตรในสมัยนั้นว่า เจ้านางมีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองหรือจะคบหากับใครก็ได้

สุดท้ายเจ้าอุบลวัณณาเสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำ ดร.ชี้ค หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน หนึ่งในเพื่อนสนิทของเจ้านางเปิดเผยว่าเจ้าอุบลวัณณาเสียชีวิตเพราะยาพิษ

ส่วนจะเป็นการถูกลอบฆ่า หรือเป็นการฆ่าตัวตายนั้นยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้