เทศมองไทย : วิกฤตแม่โขง 2020 แล้งร้ายไร้อนาคต

ผมเคยนำเอาเรื่องภาวะแห้งแล้งของลำน้ำโขง แม่น้ำสำคัญของผู้คนกว่า 60 ล้านคนมานำเสนอไว้ก่อนหน้านี้เป็นระยะๆ สลับกับการคาดการณ์ถึงภัยแล้งในไทยและในภูมิภาคใกล้เคียงที่ผู้สันทัดกรณีบอกว่า จะแล้งหนักและยาวนานเป็นพิเศษในปีนี้

กระนั้นเมื่อรอยเตอร์สนำเสนอรายงานของภานุ วงศ์ชะอุ่ม กับเคย์ จอห์นสัน พูดถึงสถานการณ์ของแม่น้ำสำคัญของเอเชียสายนี้อีกครั้งเมื่อ 10 มกราคมที่ผ่านมา

ก็อดหยิบมาบอกเล่าเพิ่มเติมอีกไม่ได้

 

สถานการณ์แม่โขงในปีนี้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพวิกฤตหนักหนาสาหัส แต่คนที่ไม่เคยคุ้นอาจแค่เห็นแล้วผ่านเลย

ต้องคนที่คุ้นเคยและอาศัยลำน้ำนี้หล่อเลี้ยงชีวิตมาตลอดเวลาเท่านั้นจึงตระหนักได้ว่า สภาพของน้ำโขงเลวร้ายลงมากมายเพียงใด

รายงานของรอยเตอร์สเริ่มต้นด้วย “สี” ของน้ำของแม่น้ำโขง ว่าผิดปกติพิสดารไปจากที่เคยเป็น

น้ำในลำโขง เป็นน้ำไหล จะไหลรี่ ไหลเร็วแรงก็แล้วแต่ แต่ไม่เคยนิ่งใสกระจ่างเหมือนกระจก ปกติแล้วน้ำมักข้นเป็นสีขุ่นโคลน เข้มข้นมากแค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำในลำน้ำนี้ ว่าจะสามารถพัดพาเอาตะกอนจากต้นน้ำกระจายไปทั่วลำน้ำได้อย่างไร

โดยนัยนี้ สีขุ่นโคลนของลำน้ำคือเครื่องสะท้อนถึงชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ที่ลำน้ำแห่งนี้พัดพาไปยังทุกที่ ทุกหนทุกแห่งที่มันลัดเลี้ยวไปถึง

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมบรรดาชาวบ้านในหลายหมู่บ้านทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทยถึงได้ประหลาดใจนัก เมื่อลำน้ำโขงเปลี่ยนสีสันเป็นสีน้ำเงินเข้มแกมเขียวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ก่อนที่จะกลายเป็นเขียวเมื่อปลายสัปดาห์ต้นเดือนมกราคมนี้

 

แพสาหร่ายสีเขียวเริ่มปรากฏติดแหอวนทั้งหลายขึ้นมา ในขณะที่ไม่มีวี่แววของปลาที่เคยจับได้มาให้เห็นอีกแล้ว

สีเขียวแปลกประหลาดของลำน้ำโขง ขับเน้นความกังวลต่อ “สุขภาพ” ของลำน้ำสำคัญสายนี้ ที่ธงชัย กอดรัก ซึ่งเลี้ยงชีพอยู่กับการประมงในแม่โขงยืนยันว่า แสดงให้เห็นถึงความวิปริตผิดธรรมชาติ

สะท้อนให้เห็นว่า ระดับน้ำในลำน้ำแห่งนี้ลดลงต่ำมาก ไหลเอื่อยช้าจนไม่สามารถนำพาตะกอนที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตสารพัดมากับกระแสน้ำได้อีกแล้ว

สาหร่ายเขียวที่เห็นเกิดขึ้นได้บ้างเป็นครั้งคราวในหน้าแล้ง แต่เพียงนิดหน่อยและไม่ช้าไม่นาน ต่างจากหนนี้ที่มีมากมาย

มากอย่างที่ไม่เคยจำได้ว่าเคยมีถึงขนาดนี้มาก่อนในชีวิต ธงชัยบอก

รอยเตอร์สบอกเอาไว้ว่า วิกฤตแม่โขงในปีนี้ เกิดขึ้นเพราะลำน้ำสำคัญสายนี้เผชิญการคุกคามจากสองด้านพร้อมๆ กัน

ทางหนึ่งคือภาวะแล้งลำเค็ญยาวนานเป็นพิเศษที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ในเวลาเดียวกัน ปีนี้ก็เป็นปีเริ่มแรกที่เขื่อนขนาดใหญ่สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในลาวเริ่มต้นการทำงาน เก็บกัก ผันน้ำไปหมุนเครื่องจักรเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

เขื่อนทั้งสองเป็น 2 เขื่อนแรกสุดที่สร้างขึ้นในพื้นที่ราบลุ่มลำน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของตะกอนส่วนใหญ่ของลำน้ำแห่งนี้ จึงเป็นที่มาของความกังวลเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก

 

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า การเปลี่ยนสีของแม่โขง ซึ่งแสดงให้เห็นแรกสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาทางตอนเหนือของประเทศไทย ถึงตอนนี้ลามลงมาจนเห็นได้ชัดทางตอนล่างของแม่น้ำ เรื่อยไปจนถึงกัมพูชา เหตุเพราะลำน้ำของแม่น้ำโขงไม่เพียงหลงเหลือตื้นๆ เท่านั้น ยังไหลเอื่อยช้าอย่างยิ่งอีกด้วย

ปกติแล้วตะกอนจะถูกพัดพากระจัดกระจายไปจนทั่วลำน้ำโขงตอนล่าง บางส่วนตกเป็นอาหารกุ้งหอยปูปลา อีกบางส่วนเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่พืชพันธุ์ทั้งหลายพึ่งพาตลอดระยะทาง 2,390 กิโลเมตรของแม่น้ำที่ผ่านลงมาจากจีนลัดเลาะผ่านเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา แล้วไปออกทะเลที่เวียดนาม

ไม่เคยมีครั้งไหนที่กระแสน้ำโขงจะเอื่อยช้าจนเกิดตกตะกอน ไม่เดินทางมากับกระแสน้ำเหมือนอย่างเคย

ผู้คนริมโขงที่บุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ยืนยันว่าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของลำน้ำโขงเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตามาตลอด 10 ปีหลังมานี้ พร้อมๆ กับที่ฝนฟ้าและภาวะแล้งเริ่มคาดการณ์ได้ยากมากขึ้นทุกที เหมือนกับที่ปลาที่จับได้จากลำน้ำก็เล็กลงและน้อยลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะรุนแรงอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา

เอลนิโญ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ถูกซ้ำเติมจากภาวะโลกร้อน ทำให้หน้าฝนมาช้า แถมหมดฝนเร็วกว่าทุกปี ภาวะแล้งจัดเริ่มต้นก่อนเวลาที่เคยเป็นและถูกคาดการณ์ว่าจะยาวนานต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี

ธงชัยในวัย 52 ปี คลุกคลีอยู่กับลำน้ำนี้ยอมรับว่า ไม่เคยเห็นแม่โขงแห้งแล้งเท่านี้มาก่อนในชีวิต

เมื่อเขื่อนและคนส่งผลให้เกิดวิกฤตต่อลำน้ำ ผู้คนอีกกว่า 60 ล้านก็ต้องเผชิญวิกฤตตามไปด้วยครับ