วิเคราะห์ : ไฟป่าออสซี่เอฟเฟกต์ เขย่าโลกเร่งช่วยก่อนสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ไฟป่าในออสเตรเลียยังคงเป็นกระแสหลักของโลกสิ่งแวดล้อม สื่อนานาชาตินำไปเป็นประเด็นขยายความอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ชาวออสเตรเลียเองก็พากันตื่นตัวเพราะเชื่อว่าสาเหตุไฟป่าครั้งนี้มาจากปัญหาโลกร้อน แต่รัฐบาลทำงานเอื่อยเฉื่อยไม่สามารถจัดการปัญหาไฟป่าได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนทำให้ไฟลุกลามสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

ล่าสุดไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียกว่า 30 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 26 คน สัตว์หลากหลายชนิดตายไปกว่า 1,200 ล้านตัว บ้านเรือนเกือบ 3 พันหลังกลายเป็นเถ้าถ่าน

องค์การนาซ่าสำรวจพบว่าเขม่าควันที่เกิดจากไฟป่า พุ่งขึ้นถึงชั้นสตราโตสเฟียร์ สูงจากพื้นโลกราว 10-50 กิโลเมตร เครื่องบินส่วนใหญ่จะบินในชั้นบรรยากาศนี้ และควันยังลอยไปไกลถึงประเทศชิลีซึ่งอยู่ห่างกันถึง 12,755 กิโลเมตร

ผลกระทบจากไฟป่าลุกลามเขย่าทั้งวงการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลีย

นักสิ่งแวดล้อมเฝ้ามองสถานการณ์ไฟป่าออสเตรเลียแล้วประเมินว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้กำลังเผชิญกับภาวการณ์สูญพันธุ์ครั้งมโหฬาร ซ้ำรอยอดีตกาล

กล่าวคือ ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นมาบนโลก และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อ 540 ล้านปีก่อนนั้น สิ่งมีชีวิตในโลกประสบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง

เฉลี่ยเหตุการณ์เกิดขึ้นทุกๆ 100 ล้านปี

สาเหตุมาจากภูเขาไฟระเบิด อุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก หรือสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

แต่ในยุคปัจจุบันการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนทั่วโลกเร่งให้สัตว์และพืชสูญพันธุ์เร็วขึ้น สูงกว่าอัตราปกติราว 100-1,000 เท่า

 

ไฟป่าออสเตรเลีย เป็นสัญญาณบอกให้ชาวโลกได้รู้ว่ามหันตภัยข้างหน้ากำลังรองาบ เนื่องจากว่าออสเตรเลียเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เกิดไฟป่าในเวลานี้

ศาสตราจารย์จอห์น ไชน์ ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลียออกมาเตือนว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียจะเลวร้ายลงไปอีก เพราะควันไฟเกิดจากไฟป่าซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกจะไปเติมในชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้น

ศาสตราจารย์ไชน์แนะนำว่า ออสเตรเลียจะต้องปรับปรุงความรู้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ต้องเรียนรู้ความเป็นไปของสถานการณ์ไฟป่า วิธีการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว เพราะว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นถี่บ่อยและรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วไฟป่าปลุกกระแสให้ชาวซิดนีย์กว่า 3 หมื่นคนรวมตัวประท้วงขับไล่นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพราะแก้ปัญหาล้มเหลว

ก่อนหน้านี้นายมอร์ริสันลงไปพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่า เจอชาวบ้านขับไล่ บางคนถึงกับด่าต่อหน้าตรงๆ ว่า “อีเดียต”

 

นายมอร์ริสันเจอแรงกระแทกหนักๆ อย่างนี้ ต้องออกมายอมรับว่า ภาวะโลกร้อนมีผลทำให้ไฟป่ายกระดับความรุนแรงขึ้น

คาดกันว่าไฟป่าปลุกกระแสโลกร้อนให้เป็นประเด็นใหญ่ในวงการเมืองของออสเตรเลีย

อย่างที่ทราบกัน ออสเตรเลียพึ่งพาถ่านหินและก๊าซเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นักการเมืองจึงเลี่ยงที่จะพูดว่าต้องลดการใช้ถ่านหินหรือก๊าซเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

นายมอร์ริสันเคยพูดย้ำๆ มาตลอดว่า ถ่านหินและก๊าซ สร้างรายได้ ประชาชนมีงานทำ

แต่เมื่อเกิดเหตุไฟป่ากินเวลามานาน 3 เดือนแล้วไม่มีทีท่าว่าจะดับมอด และรัฐบาลนายมอร์ริสันไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างฉับไว ผู้คนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเช่นนี้

ชาวออสเตรเลียจึงต้องครุ่นคิดอย่างหนักว่าในอนาคตจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเอาถ่านหิน ก๊าซอย่างพรรคลิเบอรัลของนายมอร์ริสัน หรือจะเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวทางต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

นักวิเคราะห์บางคนชี้อีกว่า ปมไฟป่าจะยิ่งโหมกระพือลามสู่การเมืองระดับโลกอีกด้วย

นานาประเทศจะถูกบีบรัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างเข้มงวด

 

ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ชี้ว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียจะรูดถอย จีดีพีอาจตก 0.2-0.4% โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวคาดทรุดหนัก อย่างเมืองซิดนีย์ เมลเบิร์น หรือบริสเบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ขณะนี้กลายเป็นพื้นที่อันตรายทั้งไฟป่าและอากาศพิษ นักท่องเที่ยวไม่ไปเยือนแน่นอน และคาดว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวทรุดยาวไม่น้อยกว่า 3 ปี สูญเสียรายได้ประมาณ 32,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ตกราว 670,000 ล้านบาท)

ด้านค่าเสียหายเนื่องจากไฟป่าเผาบ้านเรือน 1,800 หลัง อาคารอีก 2,500 แห่ง นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นๆ เช่น รถยนต์ ไร่นาเรือกสวน สวนป่าเชิงพาณิชย์ ตกราวๆ 10,000 ล้านเหรียญ

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อย่างเช่น ถนนหนทาง สะพาน เสาไฟฟ้า ท่อประปา ได้รับความเสียหายจากไฟป่าอย่างหนักเช่นกัน

รัฐบาลออสเตรเลียต้องใช้งบประมาณ 1,400 ล้านเหรียญในการจ่ายค่าชดเชยให้กับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่กองกำลังสำรองที่มาช่วยเหลือดับไฟป่า

 

นี่ยังไม่นับรวมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพเนื่องจากประชาชนสูดดมควันพิษเขม่าฝุ่น คาดว่าจะมีผู้เจ็บป่วยเพราะเหตุนี้อีกเป็นพันคน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตกราวๆ 4.2 ล้านเหรียญ

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ไฟป่าได้ทำลายระบบนิเวศน์ของออสเตรเลียอย่างรุนแรง การฟื้นฟูต้องใช้เงินหลายพันล้านเหรียญและใช้ระยะเวลานานมาก

นักสิ่งแวดล้อมสรุปภาพรวมว่า สาเหตุไฟป่าออสเตรเลียครั้งนี้ เพราะรัฐบาลออสเตรเลียไม่ให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน ทั้งๆ ที่เป็นตัวการสำคัญในการส่งออกถ่านหินไปขายทั่วโลก

หรือนี่อาจจะกล่าวในทางพุทธว่ากรรมเวรกำลังทิ่มแทงออสเตรเลีย?