สุรชาติ บำรุงสุข : ประชานิยมขวา 2017 (1) ความคิดและอุดมการณ์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / PATRIK STOLLARZ

“รัฐประชาชาติเป็นรากฐานที่แท้จริงของความสุข”
โดนัลด์ ทรัมป์

ยุโรปในปี 2015 เป็นช่วงเวลาของ “วิกฤตความมั่นคง” ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้อพยพและปัญหาการก่อการร้ายที่เริ่มขึ้นจากการก่อการร้ายในฝรั่งเศส

ปรากฏการณ์คู่ขนานในอีกด้านหนึ่งก็คือ การก่อตัวของกระแสขวาที่เห็นได้จากเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองขวาจัดในยุโรปที่มีมากขึ้น

แม้พรรคขวาเหล่านี้จะเคยเปิดการเคลื่อนไหวมาก่อน แต่ก็ไม่ได้รับเสียงตอบรับมากนัก

กระทั่งในปี 2015 ต่อเนื่องปี 2016 แรงขับเคลื่อนแบขวาจัดดูจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น จนดูจะกลายเป็น “กระแสคมการเมือง” ที่พัดไปทั่วทั้งยุโรป

แล้วในที่สุดกระแสชุดนี้ก็ได้รับชัยชนะในประชามติที่ตัดสินอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) เสียงเรียกร้องให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) เป็นฝ่ายชนะ…

เป็นชัยชนะอย่างที่คาดไม่ถึงว่ากระแสขวาจัดจะชนะได้ในอังกฤษ

แล้วก็แทบไม่น่าเชื่ออีกครั้งหลังจากชัยชนะของเบร็กซิทแล้ว ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันที่มีทัศนะขวาจัดชัดเจนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชนะการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2016

หรือว่าสภาพเช่นนี้กำลังบ่งบอกถึงปรากฏการณ์ใหม่ในปี 2017 แบบ “ความปกติใหม่” (“new normal”) ที่ความคิดขวาจัด หรือที่เรียกว่า “ประชานิยมปีกขวา” กำลังกลายเป็น “กระแสหลัก” ของการเมืองในโลกตะวันตกไปแล้ว

และขณะเดียวกันก็กำลังเป็นกระแสต่อการเมืองไทยในภาพรวมด้วย

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การทำความเข้าใจกับความคิดทางการเมืองและ/หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของ “ประชานิยมปีกขวา” จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน

ความเป็น “ฝ่ายขวา” เช่นที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่ขวาในแบบเดิมของยุคสงครามเย็นแต่อย่างใด เพราะความเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมือง ซึ่งหากสำรวจอย่างสังเขปแล้ว จะเห็นได้ว่าประชานิยมปีกขวานี้มีองค์ประกอบที่เป็นดังแก่นแกนความคิด 6 ชุดที่สำคัญ ได้แก่

การต่อต้านสากลนิยม (Anti-Internationalism) การต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) การต่อต้านผู้อพยพ (Anti-Immigration) การต่อต้านอิสลาม (Anti-Islam) การต่อต้านพหุนิยม (Anti-Pluralism) และการต่อต้านผู้มีอำนาจและอิทธิพลในสังคมการเมือง (Anti-Establishment)

1)ลัทธิชาตินิยมและการต่อต้านสากลนิยม

ชุดความคิดอีกส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญและมีความเด่นชัดอย่างมากของลัทธิประชานิยมปีกขวาก็คือลัทธิชาตินิยม ซึ่งในบริบทของโลกปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งกับสมมติฐานที่ว่า รัฐประชาชาติ (The Nation-State) จะอยู่ในภาวะอ่อนแอลง

หรือโดยนัยก็คือ ลัทธิชาตินิยมจะกลายเป็นเพียงกระแสการเมืองเก่าที่จะถูกบดบังด้วยลัทธิสากลนิยม (Internationalism) ในสภาพที่โลกาภิวัตน์ยิ่งขับเคลื่อนมากเท่าใด รัฐประชาชาติและลัทธิชาตินิยมก็จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น และเปิดโอกาสให้ลัทธิสากลนิยมเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

และขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งบรรทัดฐานของ “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” (Neoliberalism) ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดรวมถึงการเคารพในความแตกต่างทางเพศ และการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง เรากลับพบว่าโลกาภิวัตน์ในความเป็น “โลกไร้พรมแดน” นั้น กลับกลายเป็นโอกาสของการกำเนิดชนชั้นนำใหม่ กลายเป็นการขยายความมั่งคั่งให้กับคนบางกลุ่มอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

สภาพเช่นนี้จึงกลายเป็น “ช่องว่างขนาดใหญ่” ของความจนและความรวย

โลกาภิวัตน์ในอีกด้านทำให้เกิดช่องว่างของรายได้ ทำให้เกิดความยากจน และที่สำคัญคือทำให้เกิดการตกงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่สวยหรูดังเช่นคำโฆษณาของบรรดานักเสรีนิยมใหม่ ที่มองเห็นแต่การเติบโตด้านบวกของการค้าเสรีของโลก

หรืออีกนัยหนึ่ง โลกาภิวัตน์เป็นสถานการณ์ความยากลำบากในชีวิตของชนชั้นล่าง ซึ่งสำหรับโลกตะวันตกก็คือบรรดาคนงานผิวขาว และอีกส่วนก็คือคนผิวขาวในชนบท ที่พวกเขารู้สึกว่าโลกาภิวัตน์กลายเป็นผลร้ายมากกว่าที่จะเป็นผลดีกับชีวิตของพวกเขา

การหันกลับสู่ความเป็นชาตินิยมด้วยการสร้างความเข้มแข็งของรัฐ และให้ความสำคัญกับการควบคุมชายแดนเพื่อกีดกันผู้อพยพในฐานะของ “คนนอก” จึงเป็นประเด็นที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)

หรือการหาเสียงในการเลือกตั้งสหรัฐ ตลอดรวมถึงการเปิดการหาเสียงของพรรคขวาจัดในการเมืองยุโรปปัจจุบัน จึงล้วนมีทิศทางพาประเทศออกจากความเป็น “สากลนิยม” กลับสู่รัฐเก่าแบบ “ชาตินิยม”

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การปลดพันธะระหว่างประเทศที่เคยเป็นบรรทัดฐานของโลกเสรีนิยมใหม่ออก

ซึ่งสำหรับพวกเขาก็คือการ “เรียกร้องเอกราช” ของรัฐยุคใหม่

มารีน เลอแปง (AFP PHOTO / ALAIN JOCARD)

กระบวนการสร้างประชานิยมปีกขวาในสภาวะเช่นนี้จึงมีคำตอบอย่างชัดเจนด้วยการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์ และหันกลับสู่ลัทธิชาตินิยม

คำประกาศของเลอแปงในการหาเสียงที่ริเวียราในช่วงกลางปี 2016 ว่า ถึงเวลาของการนำรัฐประชาชาติกลับแล้ว และผู้ฟังก็ตะโกนกลับว่า ถึงเวลาของการพาเส้นเขตแดนกลับมาด้วย

และในการหาเสียงของทรัมป์ก็ดูจะมีวาทกรรมที่ไม่แตกต่างกัน ที่ให้ความสำคัญกับเส้นเขตแดน ตลอดรวมถึงการร้องหาความเป็นอิสระจากข้อกำหนดขององค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การ “เหนือชาติ” แบบสหภาพยุโรป

ลัทธิชาตินิยมที่ดูจะจางหายไปจากการเมืองโลกภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่กำลังกลับฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ และกลับฟื้นขึ้นมาพร้อมกับการก่อตัวของลัทธิประชานิยมปีกขวา

สภาพเช่นนี้กำลังกลายเป็นแรงผลักดันที่หันโลกในปี 2017 ไปสู่ทิศทางใหม่ของความเป็น “ขวาจัด” อย่างแน่นอน

นัยจากคำประกาศของเลอแปงว่า “เวลาของรัฐประชาชาติกลับมาแล้ว” (“The time of the nation-state is back.”) นั้น จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจกับชุดความคิดทางการเมืองที่เป็นรากฐานของลัทธิประชานิยมปีกขวาเช่นในปัจจุบัน

หรืออาจกล่าวได้ว่าเรากำลังเห็นการกำเนิดของลัทธิชาตินิยมในบริบทใหม่ของการเมืองโลก

ดังจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องในการทวงคืนเรื่องอำนาจอธิปไตยของเลอแปง 4 ประการ ได้แก่

(1) การทวงคืนอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของฝรั่งเศส

(2) การทวงคืนอำนาจอธิปไตยเหนือสกุลเงินของฝรั่งเศส

(3) การทวงคืนอำนาจอธิปไตยเหนือเศรษฐกิจของฝรั่งเศส

และ (4) การทวงคืนอำนาจอธิปไตยเหนือกฎหมายฝรั่งเศส

ข้อเรียกร้องทั้ง 4 ประเด็นนี้มีนัยที่ชัดเจนก็คือ การที่ฝรั่งเศสควรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และลดพันธะความผูกพันกลับไปสู่ความเป็นรัฐประชาชาติแบบเก่าที่อยู่เป็นเอกเทศภายใต้เส้นเขตแดนของความเป็น “อธิปไตยแห่งรัฐ” ดังเช่นกรณีของอังกฤษ

เธอเชื่อว่าการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเป็นตัวการที่ทำให้ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Right to Self-Determination) (ของฝรั่งเศส) ถูกขโมยไป” อันทำให้ประเทศไม่มีอิสรภาพ

ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากมุมมองของบรรดา “เบร็กซิท” ทั้งหลายที่ต้องการเรียกร้องเอกราชของอังกฤษจากอียู

และในอีกมุมหนึ่งก็คือ พวกเขามีทัศนะแบบ “ต่อต้านยูโรโซน” (Anti-Eurozone) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น กระแสชาตินิยมของความเป็นประชานิยมปีกขวาในยุโรปจึงรวมถึงการต่อต้านสหภาพยุโรปและต่อต้านยูโรโซนไปในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

หรือในภาพรวมก็คือเขาเป็นพวก “ต่อต้านสากลนิยม” ที่หันกลับมาให้ความสำคัญกับรัฐประชาชาติมากกว่าองค์กรเหนือรัฐและความคิดแบบ “ภูมิภาคนิยม” นั่นเอง

ซึ่งก็คือการเรียกร้องให้พา “รัฐประชาชาติ” กลับคืนมาสู่สังคมในแบบเดิมที่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนด้วยเส้น “พรมแดนแห่งชาติ” ไม่ใช่ “เส้นพรมแดนของสหภาพ”

ดังนั้น ประชานิยมปีกขวาที่ดึงเอาลัทธิชาตินิยมมาเป็นฐานสนับสนุนหลักในบริบทของยุโรป จึงมีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านสหภาพยุโรป และต่อต้านยูโรโซนคู่ขนานกันไปด้วย ขณะเดียวกันก็ร้องหา “รัฐ” แบบเก่า

ดังเช่นประชาชนที่ฟังการปราศรัยของเลอแปงตะโกนตอบข้อเรียกร้องของเธอว่า “ที่นี่คือบ้านของเรา”

และแน่นอนว่าพวกเขาร้องหาบ้านแบบเดิม ซึ่งก็คือการหันกลับสู่รัฐนั่นเอง

2)การต่อต้านโลกาภิวัตน์-ต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่

ในอีกมุมหนึ่งของการต่อต้านสากลนิยมที่ปรากฏในรูปของความพยายามฟื้นเรื่องลัทธิชาตินิยมก็คือ ภาพสะท้อนให้เห็นถึงความคิดในการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเขาต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ถือว่าเป็นแกนกลางทางความคิดของยุคโลกาภิวัตน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องของ “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness) เพื่อให้เกิดการเคารพในความแตกต่าง เช่น ความแตกต่างในเรื่องเพศ สีผิว เป็นต้น

ซึ่งตัวอย่างทัศนะของทรัมป์ที่กล่าวว่า “เราจะต้องหนีออกจากความถูกต้องทางการเมือง” เป็นตัวอย่างของการปฏิเสธบรรทัดฐานของยุคเสรีนิยมใหม่ เป็นต้น

หรือในทางเศรษฐกิจ พวกเขามีความคิดที่ชัดเจนดังเช่นการที่ทรัมป์ต่อต้านแนวคิดเรื่องการค้าเสรีซึ่งถือว่าเป็นแกนสำคัญอีกส่วนของโลกาภิวัตน์ และเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “การค้าที่ล้มเหลว” (failed trade) ไม่ใช่ “การค้าเสรี” (free trade)

โดยเขาเสนอให้ยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) และเสนอให้เจรจาใหม่ในเรื่องของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หรือแม้กระทั่งการส่งสัญญาณว่าสหรัฐอาจจะถอนตัวจาก “ปฏิญญาปารีส” (The Paris Accord) ในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลก

นอกจากนี้ ในการหาเสียง ทรัมป์กล่าวโจมตีโลกาภิวัตน์อย่างชัดเจนว่า “โลกาภิวัตน์สร้างความมั่งคั่งให้แก่ชนชั้นนำจำนวนน้อย แต่ขณะเดียวกันก็ทอดทิ้งคนงานเป็นจำนวนล้านให้ต้องเผชิญกับความยากจน”

การกล่าวต่อต้านโลกาภิวัตน์คู่ขนานกับการต่อต้านการค้าเสรีได้กลายเป็นทิศทางหลักชุดหนึ่งของกระแสประชานิยมปีกขวา

และทัศนะต่อต้านโลกาภิวัตน์ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในอีกส่วนหนึ่งจากการเน้นถึง “พรมแดนแห่งชาติ” (national borders)

กล่าวคือ ไม่ว่าจะปีกขวาในอเมริกาหรือในยุโรปดูจะมีทัศนะที่เน้นถึงกิจกรรมภายในเส้นพรมแดนของรัฐมากกว่าจะเน้นถึงกิจกรรมข้ามเส้นพรมแดน ซึ่งถูกถือว่าเป็นทิศทางหลักของความคิดในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กิจกรรมต่างๆ จะมีลักษณะ “ข้ามชาติ” (transnational activities) ไม่ว่าจะเป็นการไหลข้ามเส้นพรมแดนของคน ทุน สินค้า ข้อมูลข่าวสาร และวัฒนธรรม จนปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐประชาชาติได้รับการอธิบายว่าเป็น “รัฐไร้พรมแดน”

หรือกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า ในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น เส้นพรมแดนของรัฐมีความสำคัญลดน้อยลง เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีลักษณะที่ข้ามเส้นพรมแดนเกือบทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของกิจกรรมต่างๆ ล้วนดำเนินการผ่าน “โลกไซเบอร์” ที่บ่งบอกถึงความเป็น “โลกไร้พรมแดน”

แต่สำหรับบรรดาปีกขวาแล้ว พวกเขาอยากเอาเส้นพรมแดนกลับคืนมา หรืออีกนัยหนึ่งก็คืออยากเอารัฐที่มีพรมแดน ไม่ใช่รัฐไร้พรมแดน กลับคืนสู่เวทีการเมืองภายใน

ว่าที่จริงแล้ว บรรดาประชานิยมปีกขวามีความเห็นตรงกันว่า โลกาภิวัตน์เป็นปัจจัยลบต่อการสร้างความเข้มแข็งของรัฐ และเป็นปัจจัยที่ทำลายเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการแสวงหาแหล่งแรงงานราคาถูกในการผลิตทางอุตสาหกรรม

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดการตกงานของบรรดาคนงานผิวขาว อันนำไปสู่ปัญหาความยากจนในหมู่ชนชั้นล่าง เงื่อนไขเช่นนี้จึงทำให้นักประชานิยมปีกขวาต้องการจะยุติกระแสโลกาภิวัตน์ และหันกลับสู่ “ลัทธิกีดกันทางการค้า” (Protectionism) อันเป็นชุดความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจแบบเก่า และขัดแย้งโดยตรงกับกระแสเสรีนิยมใหม่ที่มีการค้าเสรีเป็นแกนกลางทางเศรษฐกิจ

ฉะนั้น ผลของการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์และการขยายอิทธิพลของประชานิยมปีกขวาในยุโรปจึงเป็นดังการส่งสัญญาณถึง “การสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์” (The End of Globalization)

หรืออีกด้านหนึ่งก็คือคำถามว่า “การสิ้นสุดของลัทธิเสรีนิยมใหม่” (The End of Neoliberalism) กำลังเกิดขึ้นหรือไม่… โจทย์ชุดนี้เป็นคำถามใหญ่ของเศรษฐกิจและการเมืองโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากการสิ้นสุดดังกล่าวเป็นเรื่องจริงแล้ว ก็ย่อมจะกระทบต่อการจัดระเบียบใหม่ของโลกในอนาคตอย่างมากด้วย จนยากที่จะคาดเดาว่าระเบียบโลกใหม่ในยุคของทรัมป์จะมีรูปลักษณ์อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อโลกทั้งในบริบททางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจอย่างไร