คนมองหนัง | หนังไทย 2 คู่ที่น่าสนใจ ในปี 2562

คนมองหนัง

หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้เขียนถึงหนังต่างประเทศน่าสนใจจำนวน 7 เรื่องของปีที่แล้ว

มาถึงสัปดาห์นี้ จะขออนุญาตกล่าวถึงหนังไทยที่โดดเด่นในปี 2562 กันบ้าง

ภาพยนตร์ไทยเหล่านั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง โดยอาจจัดแบ่งได้เป็น 2 คู่ ซึ่งแต่ละคู่ก็มีทั้งจุดร่วมและบทสนทนาถกเถียงระหว่างกัน

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“หน่าฮ่าน-ฮักบี้บ้านบาก”

“หน่าฮ่าน” เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับฯ หน้าใหม่ “ฉันทนา ทิพย์ประชาติ” ขณะที่ “ฮักบี้บ้านบาก” เป็นหนังเรื่องล่าสุดของนักแสดง-ผู้กำกับฯ ซึ่งคร่ำหวอดในวงการบันเทิงมายาวนานอย่าง “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์”

จุดร่วมที่หนังไทยทั้งสองเรื่องมีเหมือนกัน ก็คือการเป็นหนังซึ่งเล่าเรื่องของ “คนอีสาน” ในพื้นที่ “ภาคอีสาน” แถมตัวละครหลักๆ ของ “หน่าฮ่าน” และ “ฮักบี้บ้านบาก” ยังเป็นเยาวชน-คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่คล้ายคลึงกัน

นอกจากนั้น หนังคู่นี้ยังนำเสนอเรื่องราวของตนออกมาได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แม้จะมีจุดบกพร่องในเชิงการผลิตอยู่พอสมควรตามรายทาง

อย่างไรก็ดี หากดูกันที่ประเด็นหลัก หนังสองเรื่องนี้ก็ถือเป็น “ภาพยนตร์อีสาน” ซึ่งมีท่าที-มุมมองผิดแผกกัน

“หน่าฮ่าน” มุ่งพินิจพิจารณา รวมทั้งวิพากษ์ “โลกภายใน” ของตัวเอง ผ่านวิถีชีวิตที่ไปไหนได้ไม่ไกล (และวนเวียนอยู่หน้าเวทีหมอลำ) ของวัยรุ่นอีสานกลุ่มหนึ่ง มากกว่าจะพยายามแสดงตนเป็นตัวแทนชาวบ้านผู้รอบรู้โลกกว้าง

ส่วน “ฮักบี้บ้านบาก” นั้นไม่ได้ปฏิเสธ “โลกภายนอก” ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงกรุงเทพฯ ทว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “เด็กอีสาน” กับ “ศูนย์กลางอำนาจ/เมืองหลวง” ที่ดำเนินผ่านกีฬารักบี้ ก็มีทั้งการอยากเข้าไปมีส่วนร่วม/เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง และการพยายามเอาชนะพวกทีมเมืองหลวงผ่านเกมกีฬา

นี่คืออีกสองแง่มุมใหม่ๆ ที่ปรากฏใน “ภาพยนตร์อีสานร่วมสมัย” ซึ่งออกฉายเมื่อ พ.ศ.2562

“Heartbound-Hope Frozen”

“Heartbound – A Different Kind of Love Story” เป็นภาพยนตร์สารคดีของ “ยานุส เม็ตซ์ พีเดอร์เซ็น” และ “ไซน์ ปัล์มบีช” ที่บอกเล่าเรื่องราวของเหล่าหญิงไทยซึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างชีวิตครอบครัวครั้งใหม่กับชายชาวเดนมาร์ก

“Hope Frozen” เป็นภาพยนตร์สารคดีของ “ไพลิน วีเดล” ซึ่งสำรวจตรวจสอบการตัดสินใจของคุณพ่อนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย (และครอบครัว) ที่เลือกเก็บรักษาร่างกายบางส่วนของลูกสาวตัวน้อยเอาไว้ แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้ว ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่ง (จิตวิญญาณ/ความทรงจำของเธอ) จะมีโอกาสฟื้นคืนชีพ

ในภาพรวม หนังสารคดีทั้งสองเรื่องได้ฉายภาพให้เห็นถึงข้อจำกัดของ “ประเทศ/สังคมไทย” ว่านี่ไม่ใช่ประเทศหรือสังคมที่ดีที่สุดหรือเพียบพร้อมไปหมดเสียทุกอย่าง

“Heartbound” กล่าวถึงสังคมไทยซึ่งไม่สามารถจัดสรรชีวิตที่ดีให้แก่ผู้คน/สตรีชนบทได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม เพราะขาดแคลนระบบรัฐสวัสดิการ/กระจายทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้หญิงหลายรายต้องเดินทางไปแสวงหาชีวิตที่มั่นคง-มีความสุขกว่า (กับชายต่างชาติ) ในต่างแดน

ตรงข้ามกับสังคมไทยใน “Hope Frozen” ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความปรารถนาอันไร้ขีดจำกัดของชนชั้นกลางระดับสูง/ชนชั้นนำ เนื่องมาจากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้าถึงขีดสุด

ความแตกต่างอีกหนึ่งประการระหว่างภาพยนตร์สารคดีคู่นี้ ก็คือ ขณะที่ Heartbound พูดถึงการต่อสู้ชีวิตของลูกผู้หญิงชาวอีสาน และการไม่อาจก้าวขึ้นเป็นผู้นำครอบครัวที่ดีของบรรดาผู้ชายชนชั้นล่าง

“Hope Frozen” กลับบันทึกบทบาทอันเข้มแข็งเด็ดขาดของชายวัยกลางคนฐานะดี (ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม) ผู้ทำหน้าที่เป็น “พ่อ/ผู้นำ/จุดศูนย์กลาง” ในครอบครัว

แม้คนทำหนังสารคดีทั้งสองเรื่องจะประสบความสำเร็จในการสร้างความใกล้ชิดระหว่าง “กล้อง” กับ “บุคคลนำเรื่อง” (ซัพเจ็กต์หลัก) ทว่าหนังก็เว้นระยะห่างในบางประเด็น-บางความสัมพันธ์เอาไว้ กระทั่งภาพลักษณ์ของ “ซัพเจ็กต์” เหล่านั้น ไม่ได้ถูกยกย่อง-เชิดชู-มองมุมบวกเพียงด้านเดียว แต่ยังเหลือช่องว่างที่คนดูสามารถตีความพวกเขาและเธอในแง่มุมอื่นๆ

จุดร่วมประการสุดท้าย คือ หนังสองเรื่องล้วนถ่ายทอด “ความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์สารคดี” ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม จากการตามติดชีวิตซัพเจ็กต์เป็นเวลายาวนาน (หลายปีไปจนถึงทศวรรษ)

กระทั่งผู้ชมมีโอกาสรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง (ทั้งที่พัฒนาขึ้นและย่ำแย่ลง) รวมทั้งภาวะเกิดแก่เจ็บตายของพวกเขาและเธอบางราย ผ่านสายตาอันละเอียดลออของคนทำหนัง