ยุบพรรคในทางสองแพร่ง อนาคตใหม่ไล่บี้ กกต. เปิดพิรุธ 2 มาตรฐาน “สมชัย” ผสมโรง อีกหลายสิบพรรคก็กู้ยืม

คดียุบพรรคอนาคตใหม่นับเป็นคดีสำคัญทางการเมืองที่ได้รับการจับตาอย่างมากในขณะนี้ หลังถูกระดมยื่นคำร้องจากทั่วสารทิศต่อเนื่องกันมาหลายคดี ล่าสุดมี 2 กรณีที่เข้าข่ายถึงยุบพรรคตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นคดีใช้เสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง หรือในภาษาสื่อมวลชนเรียกกันสั้นๆ ว่าคดีอิลลูมินาติ ที่กำลังจะตัดสิน และคดียุบพรรคอันเนื่องมาจากการกู้ยืมเงิน

ทั้ง 2 กรณีสร้างความปวดหัวให้กับแวดวงนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการตีความ หรือปัญหาขั้นตอนการพิจารณาคดี

เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวคดีความ-เหตุผลในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินก็ไม่ได้รับการเปิดเผย แกนนำพรรคอนาคตใหม่หลายคนต้องออกมาแถลงข่าว จี้ไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งว่าให้เปิดเผยรายละเอียดการฟ้อง หลักการและเหตุผล แต่ก็แทบไม่ได้รับการตอบสนอง

มติที่ออกมา จู่ๆ ก็โผล่เป็นใบแถลงข่าวของสำนักงาน กกต.สั้นๆ ไม่มีรายละเอียด หันไปอีกทีเรื่องก็อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ต้องบุกไปที่สำนักงาน กกต.ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ต้องขนสมาชิกไปเป็นจำนวนมาก พร้อมกับแต่งชุดดำ เพื่อทวงถามความคืบหน้าการขอคัดสำเนาการสืบสวน ไต่สวน จากการที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่

เพราะทางอนาคตใหม่ก็มืดแปดด้าน ไม่รู้ว่า กกต.ใช้เหตุผลหลักฐานข้อมูลอะไรในการยื่นประกอบคำวินิจฉัย

รู้แต่ว่าถูกกล่าวหาว่าผิด

 

กรณีนี้ผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองมา ก็ย่อมต้องสงสัยว่า กกต.มีพิรุธอะไรหรือเปล่า ขนาดคนระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องบุกไปตามตื๊อหลายครั้งเพื่อขอถ่ายเอกสารคัดสำเนา ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือ ทั้งที่เป็นหลักการพื้นฐานง่ายๆ ว่าคนถูกร้องเขาก็ต้องรู้ว่าเขาผิดอะไร จะได้หาข้อมูลชี้แจงข้อกล่าวหาถูก

พิรุธวันต่อมา คือความมึนงงของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาตั้งข้อสังเกตคดีอิลลูมินาติว่า ในการยื่นเอกสารเพื่อปิดคดี ผู้ร้องคดี กลับเพิ่มประเด็นฟ้องร้องเต็มไปหมด เพราะโดยปกติในหลักกฎหมายพิจารณาความ การแถลงปิดคดีนั้น จะไปเพิ่มเติมประเด็นฟ้องร้องไม่ได้ ปิยบุตรถึงกับสงสัยว่า นี่ผู้ร้องเรียนกฎหมายมาบ้างหรือไม่?

ถัดจากการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวไม่นาน ที่สร้างเสียงฮือฮาอีกเรื่องต่อกระบวนการพิจารณาของ กกต.คือ นายปิยบุตรได้ออกมาเปิดเผยเอกสารของ กกต. ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจะยัดความผิดตามมาตรา 72 เพิ่มเติมในคดีเงินกู้ของพรรค

ทั้งที่ผู้ร้องคือนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เกี่ยวกับคดีเงินกู้ ซึ่ง กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา

โดยไม่ทราบว่าเอกสารการพิจารณาในชั้นของ กกต.ไปอยู่ในมือปิยบุตรได้อย่างไร

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเนื้อหาสาระในเอกสาร ใจความสรุปคือ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. ได้มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง หลังจากได้เรียกสอบพยานหลักฐานทั้งหมด พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ และในอดีตพรรคการเมืองอื่นก็ได้กู้เงิน และยังมีการระบุว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 66

แต่ กกต.ชุดใหญ่ไม่จบ ส่งเรื่องให้สำนักสืบสวนสอบสวนเพื่อทำการไต่สวนต่อ มีการสืบสวนกันไปประมาณ 1 เดือน คณะสืบสวนดังกล่าวก็มีมติยกคำร้องอีกแม้จะยกคำร้องถึง 2 ครั้ง แต่ก็ต้องชุดใหญ่ กกต. กลับมีมติส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

“ตั้งข้อสังเกตว่า กกต.ไม่แจ้งข้อกล่าวหากับทางพรรค ทั้งที่เรื่องนี้มันถูกยกคำร้องไปแล้ว ตั้งแต่คณะกรรมการชุดที่ 13 แล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกคณะไต่สวนดูแค่มาตรา 66 ตามคำร้อง แต่อยู่ดีๆ กกต.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 แถมมาตรา 72 โดยเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรคการเมืองแบบนี้จะไม่ให้ผมคิดได้อย่างไรว่าคุณกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะยุบพรรคอนาคตใหม่ ถึงต้องเติมความผิดมาตรา 72 มาให้ได้”

ปิยบุตรกล่าวระหว่างแถลงข่าวกับสื่อมวลชนรัฐสภาด้วยความข้องใจ

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะเป็นการตั้งคำถามถึงกระบวนการพิจารณา วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวตอบโต้สั้นๆ ว่า เรื่องทั้งหมดเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะวินิจฉัยออกมาในแนวทางใด ซึ่งโดยสรุปคือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

ก่อนที่ต่อมาไม่นาน กกต.จะเร่งออกเอกสารแถลงข่าว ตอบโต้นายปิยบุตร ว่าที่แถลงมานั้นไม่จริง โดยชี้แจงว่า ความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน ไม่ได้ผูกพันกับ กกต.ชุดใหญ่ การยื่นฟ้องก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ก่อนจะทิ้งท้ายว่าเตรียมจะฟ้องร้องเอาผิดผู้ที่ปล่อยเอกสารต่อไปซะอย่างนั้น

การชี้แจงดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าไม่ชี้แจง ถ้าเป็นการพูดหลักการกว้างๆ แต่สิ่งที่ตอบได้ชัดอย่างหนึ่งคือ อย่างน้อย กกต.ก็ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นจริง

ต่อมาปิยบุตรตั้งวงแถลงข่าวถามกลับทันที เพราะตอนเรียกสอบ เป็นการให้ข้อมูลตาม ม.66 แต่กลับใช้คำให้การนี้มายุบพรรคโดยอ้าง ม.72

 

การโต้เถียงระหว่างเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กับบิ๊ก กกต.กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ก็ปล่อยข้อมูล 18 รายชื่อพรรคการเมือง ที่มีบัญชีการกู้ยืมเงินตั้งแต่หลักพันบาทยันร้อยล้าน ในจำนวนนั้นมีพรรคฝั่งรัฐบาลไม่น้อย พร้อมชี้ว่าหากยึดตามตรรกะของ กกต.ที่เอาผิดอนาคตใหม่ ก็ต้องเอาผิดพรรคการเมืองที่กู้เงินทั้งหมดด้วย เพราะตรรกะเดียวกัน มีทั้งกู้ยืมจากหัวหน้าพรรค กรรมการพรรค และกู้ยืมจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สมชัยทิ้งท้ายอย่างเจ็บแสบว่าเป็นความรับผิดชอบของนายทะเบียนพรรค โดยในปี 2557 นายทะเบียนพรรคคือนายศุภชัย สมเจริญ ปัจจุบันเป็นรองประธานวุฒิสภา

ส่วนในปี 2562 นายทะเบียนพรรคชื่อจรุงวิทย์ ภุมมา เป็น ส.ว.สำรองลำดับที่ 8 จาก คสช.เป็นผู้เลือก

“เอกสารมีทั้งหมด 609 หน้า นายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นผู้เซ็นรับรองในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เท่ากับว่านายทะเบียนพรรคการเมืองรู้เรื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้วว่ามีถึง 18 พรรคการเมืองที่มีการกู้ยืมเงิน” นายสมชัยกล่าวย้ำ

จากนั้น กกต.ก็มีเอกสารชี้แจงอีก ยืนยันว่าได้ตรวจสอบงบการเงินพรรคการเมืองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ส่วนกรณีเงินกู้ของอนาคตใหม่อ้างว่าเป็นเพราะมีผู้ร้องเรียน

 

ด้านปิยบุตรแห่งอนาคตใหม่ไม่ยอมง่ายๆ งัด พ.ร.ป.กกต.โชว์ ตามมาตรา 41 เขียนชัด หากไต่สวนแล้วไม่พบมูลฟ้องหรือความผิด ต้องสั่งยุติเรื่อง แต่กรณีนี้ในชั้นไต่สวนยกคำร้องถึง 2 ครั้ง กกต.ใหญ่กลับไม่ยอมรับ นำคำร้องมาสั่งฟ้องเองโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา

ความร้อนแรงยังไม่จบ สมชัยเจ้าเก่าเปิดข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีอีก 16 พรรคการเมืองทั้งใหญ่ กลาง จนถึงเล็กที่พบการยืมเงิน เป็นเงินทดรองจ่าย บางพรรคก็กู้กับกรรมการ พร้อมตั้งคำถามว่า หากการกู้เงินมีความผิด แล้วการยืมเงินไม่ผิดหนักกว่าหรือ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใดๆ

“หากเดินหน้าตามแนวนี้ ก็ต้องส่งเสริมให้ไปให้สุดครับ อย่าลืมจัดการเงินยืม 16 พรรคด้วย ความปรากฏตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 แล้ว อย่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นี่คือเสียงเตือนจากอดีต กกต. ถึง กกต.ปัจจุบัน

ยุบพรรคจึงเป็นอีกเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ. ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ปรากฏการณ์อนาคตใหม่คือปฏิกิริยาต่อการที่ คสช.อยู่ในอำนาจยาวนานจนได้รับเลือกตั้งท่วมท้น การกระทำของเขาไม่ถึงขั้นล้มล้างการปกครอง มันไปถึงขั้นยุบพรรคไม่ได้

“การกระทำตรงไหนที่มีปัญหาก็ไปบอกให้เลิกการกระทำก็พอ ให้สู้กันในสภาดีกว่า”

ส่วน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้ข้อคิดทางการเมืองไว้ว่า ความชอบธรรมของผู้มีอำนาจตอนนี้กำลังตกต่ำ ฟันธงว่าการยุบพรรคการเมือง จะไม่ทำให้ปมความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมจบไปด้วย

นี่คือการสรุปรวบยอดทางการเมืองจากนักวิชาการนิติศาสตร์ชั้นนำของไทย