คุยกับ “เก้ง จิระ” – นุชชี่-อนุชา : วิธีแก้ปัญหา “หนังไทย”

เพราะหนังไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย

ช่วงเดือนที่ผ่านมา นิสิตปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาหัวข้อ “Movies Change : เพราะหนังไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย”

ชวนคนในวงการอย่างเก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้อำนวยการสร้างและโปรดิวเซอร์ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด, นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับการแสดง และอมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบท ไปแลกเปลี่ยนความเห็น

ทั้งนี้ เก้งเล่าว่า ระยะหลังๆ หนังไทยทำรายได้ไม่ดีนัก ปีที่ผ่านมารายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรมก็ลดน้อยกว่าปีก่อนๆ เหตุผลของเรื่องนี้คนอื่นจะคิดอย่างไรเขาไม่ทราบ แต่โดยส่วนตัวแล้ว “ผมอยากตัดปัจจัยภายนอกออกไปก่อน พวกเศรษฐกิจ รถติด หรือว่ามีเน็ตฟลิกซ์แล้ว”

“เพราะผมรู้สึกว่าหนังก็เป็นสินค้า เป็นสื่อบันเทิง ถ้าเขาอยากดูจริงๆ ต่อให้มีเงินเหลือน้อย หรือว่าจะมีอะไรก็ตามมา เขาก็ไปดูจนได้ละฮะ”

“ผมจะนึกเสมอว่าเวลาที่เราทำหนัง จีดีเอชทำหนังแล้วเจ๊งนี่ แสดงว่าประเด็นนี้คนไม่ได้สนใจ ประเด็นนี้ฝ่าด่านรถติดไปไม่ได้ หรือว่าเราทำไม่ดี”

“มันต้องมีอะไรผิดสักอย่าง”

และ “ผมว่าการเอาชนะเกมนี้ ไม่ใช่การไปโทษคนดู เราต้องกลับมามองตัวเอง”

ครั้นเมื่อถูกถึงเทคนิคในการเลือกว่าควรทำหยิบจับเรื่องไหนมาทำหนัง เพื่อให้ถูกใจผู้ชม เขาก็ว่า สำหรับคนที่ดูหนังไทยมาเยอะ เยอะมากๆ อย่างเขา นั่นไม่ใช่เรื่องยาก

“หนึ่งคือคุณต้องเป็นคนดูหนังไทยมาก่อน ต้องเคยเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูจริงๆ”

“ผมนี่ดูทุกเรื่อง สมัยก่อน ดูจนผมยืนยันได้ ว่าผมเป็นประชาชนคนไทยที่ดูหนังไทยมาก แล้วผมสนใจผู้กำกับฯ ว่าเขาเป็นคนยังไง มีความคิดเห็นอะไร เขาควรจะทำอะไร อย่างถ้านุชชี่อยากทำหนัง ผมก็จะคุยจนรู้ว่าความคิดนี้เขาดีมาก สมควรได้รับการเผยแพร่ แล้วผมจะทำให้มันได้รับการเผยแพร่อย่างดีที่สุด”

อีกทั้ง “สำหรับผมมันไม่มีหนังรางวัล และไม่มีหนังแมส ความฝันสูงสุดของผม คือสองสิ่งนี้จะต้องอยู่ในหนังเรื่องเดียวกันให้ได้”

เรื่องของการใช้สื่อโปรโมต ที่ระยะหลังหันมาพึ่งพาสื่อโซเชียลมากขึ้น เขาก็ว่าทุกอย่างเป็นไปตามสภาพของผู้ชมเป็นหลัก ผู้ชมที่ 80-90% จะอยู่ในวัย 15-25 ปี

“คนที่เลย 25 ไปถึง 30 จะมีน้อยลงมาก เลย 30 ขึ้นไปจะเหลือเป็นเลขตัวเดียว เพราะฉะนั้น ความหนาแน่นของคนที่ไปดูหนังตอนนี้คือวัยรุ่น วัยมัธยม มหาวิทยาลัย หรือเพิ่งจบ ยังไม่มีครอบครัว สิ่งที่สนิทกับเขาคือมือถือ”

และไม่ใช่แค่สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่พฤติกรรมของคนดูก็เปลี่ยน

“น้องๆ รุ่นหลังๆ ชินกับการที่ทุกอย่างอยู่ในมือถือ รุ่นอย่างผมยังไม่ชินจอเล็กๆ ต้องดูในความมืด ต้องตั้งใจดู แต่น้องๆ รุ่นหลังเปิดเป็นเพื่อน ก็ถือว่าดูแล้ว มีจานข้าวข้างหน้า เล่นแชตอะไรไปด้วย นี่คือเขาดูหนังแล้วนะฮะ”

“นักทำหนัง ถ้าอยากเป็นอาชีพ ก็ต้องแปรเปลี่ยนไป”

แล้วมีโอกาสที่หนังไทยจะกลับมาเฟื่องฟูอีกไหม ต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง?

กับคำถามนี้ เขาตอบทันที “ผมว่าได้ครับ”

ทั้งยังฟันธง “ไม่ต้องอนาคตอีกมาก พรุ่งนี้ก็ได้ มะรืนก็ได้ ขึ้นอยู่กับหนังเรื่องนั้นๆ เลย”

อย่างไรก็ดี “ผมว่าสิ่งที่ยากสำหรับหนังในโลก คือไม่ว่าเราจะทำหนังประเภทไหนก็ตาม มันมีทุนขั้นต่ำของการทำงานชิ้นนั้นอยู่ เพราะฉะนั้น โดยความฝันของผม ประเทศทุกประเทศควรจะมีหนังสำหรับคนทุกประเภทให้เขาได้ดู ทุกระดับการศึกษา แต่มาติดที่ว่าหนังแต่ละเรื่องต้นทุนมันเท่ากัน”

หนังดีที่คนอาจสนใจดูน้อย บ่อยครั้งจึงจำเป็นต้องบีบ ต้องลดต้นทุนลงไป ซึ่งน่าเสียดาย

มีคนถามด้วยว่า การตลาดมีผลต่อความสำเร็จของตัวงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเขาก็ว่า สำหรับเขาการตลาดเป็นแค่เรื่องของการแจ้งให้คนรู้ว่ามีหนังเรื่องนี้ฉาย

“แค่นั้นพอ”

“สำหรับผม 80% ฝากความหวังไว้กับหนังตัวอย่าง”

“เพราะหนังตัวอย่างโกหกคนดูไม่ได้ หนังตัวอย่างช็อตหนึ่ง เฟรมหนึ่งมันเล่าสำหรับทุกอย่างแล้ว เราไม่ต้องพูดอะไรเลย ความตั้งใจคนทำหนังเขาอยากให้ตลก หรืออยากให้ซีเรียส ผู้กำกับฯ อยากพูดอะไร มุมมอง การถ่ายภาพ เพราะฉะนั้น ผมให้ค่ากับการทำหนังตัวอย่างเยอะมาก”

“หนังตัวอย่าง 2 นาทีครึ่ง มันเป็นตัวแทนของหนังได้จริงๆ ถ้ามันแทนได้ ผมว่าซัคเซส ส่วนคนดูจะชอบ หรือไปดูไหม เราคงไปรับผิดชอบตรงนั้นไม่ได้ อันนั้นมันคนละส่วนกัน คนทำหนังก็พยายามทำหนังที่ดีที่สุด คนโปรโมตก็พยายามเรียกแขกโดยการทำให้ตัวอย่างสมบูรณ์ที่สุด”

“เรื่องการตลาดผมถือว่ารอง เป็นการกระตุ้นความครึกครื้น มีอะไรเข้าไปในมือถือเขาทุกๆ วัน ทำให้หนังมันดูสดชื่นขึ้นน่ะ แต่การที่คนจะลุกออกจากบ้าน ฝ่าการจราจรไปเสียเงิน 100 กว่าบาท มันคือหนังตัวอย่าง อย่างเดียวเลยครับ”

ในส่วนที่จะให้ Movies Change ตามหัวข้อ เขาก็ว่า “ถ้าอยากให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง มีสิ่งเดียวเลยฮะ มันเป็นอาชีพแล้วหรือยัง ถ้าเขาทำหนังอย่างเดียวแล้วเป็นอาชีพได้ แปลว่ามันเริ่มแข็งแรง อุตสาหกรรมนั้นจะเปลี่ยนแปลง จะดีขึ้น แล้วมีคนเก่งๆ เข้ามาทำเยอะ”

ซึ่งเขาเองก็อยากเห็นวันนั้น

รัฐต้องร่วมด้วย ช่วยหนังไทยหน่อย

ในฐานะของผู้กำกับฯ ที่ผลงานได้รับการตอบรับที่ดีในต่างประเทศ ไม่ว่าจะ “อนธการ” หรือ “มะลิลา” ซึ่งเรื่องหลังนี้คว้าหลายรางวัลในประเทศไทยด้วยเช่นกัน นุชชี่บอกว่า ในความเห็นของเขา หนังไทยที่จะได้รับความสนใจในต่างแดนจะต้องประกอบไปด้วย 3 สิ่ง

“หนึ่ง ต้องมีซิกเนเจอร์ เป็นลักษณะเฉพาะตัว เพราะจะทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างบนเวทีโลก”

“สอง มีศิลปะในการทำ ในระดับที่แข่งกับต่างประเทศได้”

“สาม หยิบจับวัตถุดิบในประเทศไทยไป แล้วต่างชาติสามารถเชื่อมโยง สนใจ”

ในเรื่องของอาชีพ เขาก็ว่า “ผู้กำกับหนังไม่สามารถเป็นอาชีพได้จริงๆ ในบ้านเรา”

อย่างเขาเองรายได้จากหนังน่าจะอยู่ที่ราวๆ 5-10% เท่านั้น อื่นๆ ซึ่งใช้ในการยังชีพมาจากงานโฆษณาหรือซีรี่ส์มากกว่า

เขายังบอกอีกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการปกป้องหนังไทยบ้าง เพราะแม้คนทำหนังยังมีกำลังใจจะสู้ต่อ “แต่เอาเข้าจริงมันยากมาก”

ลองนึกสภาพหนังของเขาที่ต้องไปชนโรงกับ “Avengers” หรือ “Black Panther” ดู

“โรงก็ต้องฉายหนังที่ทำกำไรมากที่สุด แต่เราก็อยากไฟต์ให้ได้รอบที่ดี ไม่ใช่โรงก็ไม่มี รอบก็ประหลาด”

“อุตสาหกรรมหนังในประเทศที่ไม่แข็งแรง มันต้องมีภาครัฐช่วยด้วย”

เหนื่อยมากขึ้น

ด้านอมราพรก็ว่า ทุกวันนี้ความสนใจของคนดูสั้นลง อย่างถ้าเป็นซีรี่ส์ที่เคยทำกันหลายๆ ตอน สถิติล่าสุดที่เน็ตฟลิกซ์รีเสิร์ชมา พบว่าความสนใจของคนจะหยุดอยู่แค่ประมาณตอนที่ 7 ซีรี่ส์ใหม่ๆ หลายเรื่องจึงมีแนวโน้มว่าจำนวนตอนจะสั้นลง

“โฆษณาก็บอกว่าทำให้อยู่ภายใน 6 วินาทีนะ”

“หนังก็เหมือนกัน เราต้องทำให้คนดูอยู่กับเราให้เร็วที่สุด”

ดังนั้นแล้วสุดท้ายจึงกลับไปที่สงครามแย่งชิงเวลา

“ไม่ใช่แย่งชิงเงิน คือเงินก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่คนดูหวงแหนกว่าคือเวลา ถ้าเกิดเขาต้องดูคอนเทนต์ที่ไม่ดี เขาไปหาในเฟซบุ๊กอาจจะแฮปปี้มากกว่าก็ได้”

ณ วันนี้สำหรับเธอ การทำหนังจึงไม่ใช่การแข่งขันกับค่ายอื่น และไม่ได้แข่งกับเน็ตฟลิกซ์ หรือแพลตฟอร์มแนวๆ นี้ด้วยเช่นกัน

“เราทำหนังแข่งกับเฟซบุ๊ก ไอจี ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันที่ออปชั่นในชีวิตเยอะเหลือเกิน แค่ก้มหน้า ดูคลิป บางทีก็ยิ้ม ไม่ต้องดูหนังก็ได้หรือเปล่า”

“เราก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะคู่แข่งเราไม่ใช่แค่หนังแล้ว มันไปไกลกว่านั้นมากๆ”