หนุ่มเมืองจันท์ | คุณค่า “ความฝัน”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

มีหลายคนไปสิงคโปร์วันนี้แล้วบอกว่าสิงคโปร์น่าเที่ยวมาก

มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่นึกไม่ถึง

เริ่มตั้งแต่สนามบินชางงีที่ปรับปรุงครั้งใหญ่ เปิดตัวเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา

Jewel Changi Airport

ใครไปก็ตะลึงครับ

ไฮไลต์คือน้ำตกในร่มสูง 40 เมตร ยิ่งใหญ่อลังการ

มีการแสดงแสงสีเสียงยิงเลเซอร์ที่ม่านน้ำตก

มีสวนป่าขนาดใหญ่ ฯลฯ

ฟังเพื่อนๆ ที่ไปบรรยายแล้วยังงงว่าเป็นสนามบินหรือเนี่ย

ในมุมของ “ความคิดสร้างสรรค์”

สิงคโปร์เขาคิดแตกต่าง

เหมือนกับว่าเขาไม่ได้คิดว่า “สนามบิน” คือ “สนามบิน”

แต่คิดว่านี่คือแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มี “สนามบิน” เป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดคนมาเที่ยว

เขาใช้เงินลงทุนกับโครงการนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

“สิงคโปร์” เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่ยอมแพ้

คิดดูสิครับ เป็นเกาะที่เล็กนิดเดียว

น้ำจืดก็ไม่มี

ทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่มี

แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ “พระเจ้า” ก็ใจร้ายไม่ยอมให้อีก

แทบจะบอกได้ว่าสิ่งที่สิงคโปร์ “มี” คือ “ไม่มี”

แต่เพราะความไม่มีนี้เอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “พลัง” อันยิ่งใหญ่

พลังของความไม่ยอมแพ้

เขาเนรมิตทุกสิ่งที่อยากได้

หาดทรายก็สร้างเอง

น้ำตกก็สร้างเอง

ป่าไม้ไม่มี แต่ที่นี่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ใครๆ ก็อิจฉา

ผมเคยไปสิงคโปร์ครั้งหนึ่ง

สิ่งที่ประทับใจที่สุด คือ “ต้นไม้” ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง

ริมถนนเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่

ประเทศไทยคง “มี” มากเกินไป

เราจึงไม่เห็นค่าของสิ่งที่อยู่ในมือ

สิงคโปร์ไม่มี “วัตถุดิบ?” เขาก็นำเข้าวัตถุดิบมาสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วขายต่อ

ได้กำไรดีกว่าประเทศที่ผลิตวัตถุดิบ

สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองท่าสำคัญของโลก

เป็นศูนย์กลางการเงิน

เป็นอะไรอีกหลายอย่าง

ทั้งที่ประเทศเล็กนิดเดียว

และ “ไม่มี”

เมื่อปี 2560 สิงคโปร์ประกาศแคมเปญใหม่

“Passion Made Possible”

แค่ฟังก็ขนลุกแล้ว

เขาทำการวิจัยนักท่องเที่ยวว่ามอง “สิงคโปร์” อย่างไร

แล้วพบคีย์เวิร์ด 2 คำ

คนรู้สึกกับประเทศเล็กๆ แห่งนี้ว่ามี Passion และ Possible

พลังของความหลงใหล ศรัทธา ทำให้สิ่งที่คนทั่วไปคิดว่า “เป็นไปไม่ได้”

…เป็นไปได้

สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมาด้วยตัวเอง

เขานำ “จิตวิญญาณ” เรื่องนี้มาสะท้อนผ่านแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

เหมือนเดิมครับ

อะไรที่ “ไม่มี” ก็สร้างขึ้นมา

อยากได้อะไร ก็เนรนิตเอา

แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ทั้งหลายสะท้อนวิธีคิดนี้

อย่าว่าแต่น้ำตก 40 เมตร

งานศิลปะชั้นนำของโลกก็อยู่ที่นี่

ขนาด “สตรีตฟู้ด” ที่เมืองไทยมีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง

สิงคโปร์อยากมีบ้าง

เขาก็สร้างขึ้นมา

สิงคโปร์กลายเป็นแหล่งสตรีตฟู้ดที่ขึ้นชื่อของโลกไปแล้ว

…ประมาณนั้น

ผมชอบชื่อแคมเปญของสิงคโปร์มาก

“Passion Made Possible”

ถ้าเรามีความหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากพอ

ต่อให้งานที่ทำอยู่จะยากลำบากแค่ไหน

แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้

วันก่อน ผมอ่านหนังสือ “สังสรรค์สไตล์อินาโมริ” ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ

ฮปโป มาซาโตะ และ คุโบะ ชุนสุเกะ เขียน วงศ์สิริ สังขวาสี มิยาจิ แปล

ผมชอบ “คาซึโอะ อินาโมริ” ผู้กอบกู้ “แจแปนแอร์ไลน์ส” ให้พ้นจากวิกฤต

ชอบวิธีคิด และความมุ่งมั่นของเขา

เจอหนังสือเล่มไหนเกี่ยวกับ “อินาโมริ”

ซื้อทันที

“อินาโมริ” ประสบความสำเร็จจากการบริหาร “เคียวเซร่า”

วันที่ “แจแปนแอร์ไลน์ส” ขาดทุนอย่างหนักจนต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์

สถานะตอนนั้นเกือบล้มละลาย

เขาเข้าไปใช้เวลากอบกู้ 3 ปี

“แจแปนแอร์ไลน์ส” ก็มีกำไรกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง

มหัศจรรย์มาก

วิธีการที่ “อินาโมริ” ใช้ในการกอบกู้ “แจแปนแอร์ไลน์ส”

คือ การปรับทัศนคติพนักงาน

ฟังดูง่าย

แต่ทำยากมาก

กลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้ปรับทัศนคติของพนักงาน คือ มาตรา 44

ไม่ใช่…

…ผิดประเทศ

กลยุทธ์นั้นคือ การเลี้ยงกึ่งประชุมแบบ “คอมปะ”

ตอนที่อ่านก็งงๆ

จนอ่านหนังสือเล่มนี้จึงค่อยเข้าใจมากขึ้น

“อินาโมริ” จะมีการนัดเลี้ยงสังสรรค์กับพนักงานเป็นประจำ

กินข้าวด้วยกัน ดื่มด้วยกัน

แต่มี “วาระ”

ละเอียดถึงขั้นว่าใครนั่งตรงไหน เพื่อให้เกิดการคุยกัน

มีการกำหนดประเด็นการคุย แต่ไม่ใช่เรื่องงานโดยตรง

เช่น ทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมงานมีความสุข

สร้างประเด็นที่เป็นกลางๆ และให้ทุกคนคิดล่วงหน้า

ก่อนจะเริ่มคุยกัน ฟังความคิดของเพื่อนๆ

เขาต้องการให้พนักงานได้สังสรรค์ แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างไม่เป็นทางการ

พอบรรยากาศเป็นกันเอง

ทุกคนจะได้รู้จักเรื่องราวในชีวิตของเพื่อนร่วมงาน

ระหว่างนั้นก็สามารถแทรกเรื่องที่ “ผู้นำ” ต้องการเข้าไปด้วย

ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการนี้เอง ทำให้องค์กรมีพลัง

มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบ ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง ชื่อ SunFrontier ประสบปัญหา

ยอดขายตก

ผลประกอบการแย่

ต้องเร่งระบายสต๊อกให้เร็วที่สุด

บริษัทอยู่บนเส้นด้าย พร้อมจะล้มละลายได้ตลอดเวลา

“โฮริงุจิ” เจ้าของบริษัทยังคงใช้วิธีการ “คอมปะ”

จัดสรรเงินก้อนเล็กๆ มาร่วม “คอมปะ” กับพนักงาน

ประเด็นที่พูดคุยกันไม่มีเรื่องงาน

ไม่พูดเรื่องปัญหาหรือการขายเลย

แต่ตั้งประเด็นว่า ถ้าครั้งนี้เราผ่านวิกฤตไปได้

เราควรทำธุรกิจแบบไหนดี

คุยเรื่อง “ภาพฝัน” ในอนาคต

ทุกคนฝันกันอย่างสนุก

แต่ระหว่างที่ฝัน ผมเชื่อว่าทุกคนคงคิดในใจว่าถ้าทำให้ฝันเป็นจริงได้

เราต้องรอดก่อน

เชื่อไหมครับ ด้วยพลังแห่ง “ความฝัน” ทำให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่

ขาย ขาย และขาย

สุดท้ายบริษัทนี้ก็รอดวิกฤตมาได้

เพราะ “ความฝัน” คือ “พลัง”

เหมือนกับ Passion

ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ให้ “เป็นไปได้”