ต่างประเทศอินโดจีน : เพื่อความสวยงาม

(ภาพ-travelagewest.com)

“จาม” เป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ทั้งในบางส่วนของกัมพูชาและทางตอนใต้ของเวียดนาม เชื่อกันว่าเป็นชาติพันธุ์ที่ตกทอดมาจากยุคอาณาจักรจามปา อันยิ่งใหญ่ในอดีตกาลเหนือแหลมอินโดจีน

ชาวจามในกัมพูชา ส่วนใหญ่แล้วจะนับถือศาสนาอิสลาม ต่างจากชนเชื้อสายเดียวกันทางตอนใต้ของเวียดนามที่นับถือศาสนาฮินดูเสียเป็นส่วนใหญ่

ทุกวันนี้มีชาวจามอยู่ในกัมพูชาราว 600,000 คน ใช้ชีวิตอยู่ตามแนวลำน้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศนี้ ด้วยเหตุที่ว่าชาวจามยึดถือการประมงน้ำจืดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว

 

ในปริมณฑลกรุงพนมเปญ บริเวณที่โตนเลสาบบรรจบกับแม่น้ำโขงมีแหลมธรรมชาติตั้งอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่าแหลมพนมเปญ หรือพนมเปญเพนนินซูลา เพราะอยู่ใจกลางกรุงพนมเปญพอดี มีชุมชนจามย่อยๆ ปักหลักใช้ชีวิตอยู่

บริเวณริมน้ำของแหลมพนมเปญมีครัวเรือนจามอยู่ทั้งหมดเกือบ 100 ครัวเรือนเศษ มีอิหม่าม อาย อู่ เป็นหัวหน้าชุมชน

ทั้งหมดใช้ชีวิตอยู่ในทำนองเดียวกับเสน รอ คือเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากการประมง รายได้ต่อวันหลังจากขายผลผลิตที่จับได้จากน้ำโขงแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50 ดอลลาร์หรือราว 75 บาท

เงินจำนวนนั้นคือเครื่องยังชีพของเสน รอ กับลูกๆ 4 คน และพ่อผู้ชราภาพมาตลอดหลังจากเลิกรากับสามีเมื่อสองสามปีก่อน

ด้วยเหตุที่อดีตสามีติดยาเสพติดอย่างหนัก

 

ชีวิตไหลวนไปตามวิถีเช่นนี้ และน่าจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานไม่น้อย หากไม่บังเอิญพื้นที่ใหญ่ลึกเข้าไปในแหลมพนมเปญ คือที่ตั้งของโรงแรม โสขะ พนมเปญ โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว 16 ชั้น ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2009 แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ รัฐบาลพนมเปญเลือกโรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดเอเชียยุโรป (อาเซม) ประจำปี 2020 ซึ่งจะมีขึ้นในราวเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

วันดีคืนดี “กลัง ฮวด” หัวหน้าเขตแหลมพนมเปญ ก็เดินทางมาแจ้งต่อทั้งชุมชนว่า ทั้งหมดต้องโยกย้ายออกจากที่อยู่อาศัยริมน้ำบริเวณแหลมพนมเปญ

“เพื่อความมั่นใจในการอำนวยความปลอดภัย ความมั่นคง ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามให้พร้อมสรรพ สำหรับการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซม” หัวหน้าเขตแหลมพนมเปญบอกอย่างนั้น

ก่อนสำทับเพิ่มเติมว่า “สิ่งนี้จะเป็นการยกระดับชื่อเสียงและความสวยงามของนครพนมเปญ”

พวกจาม 78 ครัวเรือน มีเวลาเพียง 1 สัปดาห์ในการรื้อถอนอพยพออกไปจากพื้นที่ริมน้ำในบริเวณนั้นทั้งหมด

ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมอื่นใด ไม่มีการจัดสรรพื้นที่ทดแทนหรืออำนวยความสะดวกอื่นใดให้ ยกเว้นเส้นตายที่กระชั้นชิด ซึ่งผู้นำชุมชนพยายามที่จะต่อรองขอยืดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง

บางครอบครัวยอมรื้อถอนบ้านที่พักอาศัย ตระเตรียมใช้เรือประมงล่องลอยเหนือกระแสน้ำเป็นที่พักอาศัย แต่ได้รับคำตอบว่า อยู่ในเรือก็ไม่ได้ ต้องออกไปทั้งหมด

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการกัมพูชาสั่งอพยพผู้คนกะทันหัน ด้วยเหตุผลเพื่อ “หน้าตา” ของประเทศ ของบ้านเมือง แน่นอน แทบทุกครั้งเกิดเหตุรุนแรงตามมา

เมื่อปี 2016 เพื่อต้อนรับการมาเยือนของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน รัฐบาลรวบตัวชาวบ้านเปรยสปือกว่า 50 คนเข้าสู่ที่กักกันชั่วคราว เพื่อ “ความงดงามของพนมเปญของเรา”

ก่อนหน้านั้นมีชาวกัมพูชาอีกกว่า 800 คนถูกจับกุม ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2012 ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียน

มัท สาเลส วัย 72 ปี กับเสน สม ผู้เป็นภรรยา เป็นหนึ่งในครอบครัวจามที่ต้องอพยพตามคำสั่งไปกับเรือประมงเล็กๆ ของตนเอง พวกเขายอมรับโดยปริยายว่าให้ไปก็ต้องไป

ปัญหาอย่างเดียวของเขาและครัวเรือนจามทั้งหลายก็คือ “ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน” เท่านั้นเอง