เกษียร เตชะพีระ | คำอธิบายของตัวแทนรัฐ : ปรัชญาว่าด้วยเฟืองเล็กๆ กับบุคคล (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

คำอธิบายของตัวแทนรัฐ : ปรัชญาว่าด้วยเฟืองเล็กๆ กับบุคคล (จบ)

ช่วงปลายท้ายสุดของการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นประธาน ในวาระพิจารณากรณีการดำเนินคดีของรัฐต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองเมื่อเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายนศกนี้ (www.bbc.com/thai/thailand-50573578) ส.ส.รังสิมันต์ โรม แห่งพรรคอนาคตใหม่ สมาชิก กมธ.กฎหมายฯ ได้ถามตัวแทน คสช. ว่า :

“ประเด็นใหญ่วันนี้เป็นเรื่องดุลพินิจ ผมคงไม่ตำหนิท่าน เพราะบอกไม่ได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจส่วนตัว แต่ท่านต้องไปให้การในฐานะพยานในคดีต่างๆ ถ้าท่านจะเปลี่ยนแปลงคำให้การก็ได้ ลองใช้ดุลพินิจของท่านดู แต่อยากถามว่า ทุกครั้งที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ จับกุมคนต่างๆ เวลากลับบ้าน ท่านสามารถนอนหลับหรือไม่เมื่อฟังจากผู้ร้องซึ่งได้รับความลำบากทุกข์ทรมาน”

พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ อดีตฝ่ายกฎหมาย คสช. ผู้รับผิดชอบคดีการเมือง ตอบว่า :

“การมาบอกให้ผมปฏิบัติหน้าที่และเปลี่ยนแปลงได้ ถ้า กมธ.ใช้อำนาจแบบนี้จะเสียหายนะครับ เพราะผมต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลง ใช้อารมณ์หลังมาพบท่านนะครับ”

กล่าวคือ นอกจาก พล.ต.บุรินทร์จะยืนกรานคงเส้นคงวาตามเดิมว่าไม่มีดุลพินิจส่วนตัวให้ลองใช้ในการทำหน้าที่นี้แล้ว

คำถามเชิงศีลธรรม/มโนธรรมของ ส.ส.รังสิมันต์ (“สามารถนอนหลับหรือไม่”) กลับได้รับคำตอบเชิงกฎหมายและข้อเท็จจริง (“ต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ไม่สามารถใช้อารมณ์”) คืนมาจาก พล.ต.บุรินทร์ด้วย (moral/ conscience questioning vs. legal/factual response)

ผู้ติดค้างคาใจกับคำถาม/คำไม่ตอบข้างต้น อาจลองพิจารณาหาข้อสรุปของตนเองได้จากเนื้อความตอนท้ายของบทภาพยนตร์เรื่อง Hannah Arendt (ค.ศ.2012)

เนื้อความในบทภาพยนตร์ดังกล่าวได้สรุปสังเขปบทวิเคราะห์ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางศีลธรรมระหว่าง “เฟืองเล็กๆ กับบุคคล”

จากประสบการณ์ที่ได้เข้ารับฟังการไต่สวนพิพากษาคดีอาชญากรสงครามนาซี อดอลฟ์ ไอก์มาน ในศาล ณ กรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล เมื่อปี ค.ศ.1961 ของนักปรัชญาการเมืองหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้อพยพลี้ภัยไปอเมริกาคนนี้แล้วเขียนรายงานออกมา

(ค.ศ.1906-1975 ดู www.newyorker.com/magazine/1963/02/16/eichmann-in-jerusalem-i & www.springfieldspringfield.co.uk/movie_script.php?movie=hannah-arendt) :

“เมื่อนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ส่งดิฉันไปรายงานการพิจารณาคดีอดอล์ฟ ไอก์มานในศาล ดิฉันตั้งสมมุติฐานว่าห้องพิจารณาคดีของศาลย่อมสนใจเพียงอย่างเดียว นั่นคือบรรลุข้อเรียกร้องต้องการเรื่องความยุติธรรม

“นี่มิใช่ภาระหน้าที่ที่เรียบง่ายแต่อย่างใด เพราะศาลที่พิจารณาคดีไอก์มานนั้นต้องเผชิญกับอาชญากรรมที่ศาลไม่เคยพบในตำรากฎหมายเล่มใด และกับอาชญากรที่ไม่มีใครเหมือนมาก่อนเลยเท่าที่รู้จักกันในศาลใดๆ ก่อนการพิจารณาคดีในศาลนูเรมเบิร์ก แต่กระนั้นศาลก็จำต้องนิยามไอก์มานในฐานะคนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลเนื่องจากการกระทำของเขา สิ่งที่ถูกพิจารณาคดีในศาลนั้นหาใช่ระบบใดๆ ไม่ หาใช่ประวัติศาสตร์ และก็หาใช่ลัทธิความเชื่อไม่ มันมิใช่แม้แต่ลัทธิต่อต้านยิว แต่เป็นแค่บุคคลคนหนึ่ง

“เรื่องที่ยุ่งยากในกรณีอาชญากรนาซีคนหนึ่งอย่างไอก์มานก็คือ เขายืนกรานว่าตนไม่มีคุณสมบัติส่วนบุคคลทั้งปวง ราวกับว่าไม่มีใครเหลืออยู่ให้ลงโทษหรือให้อภัยได้เลย เขากล่าวอุทธรณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าตรงข้ามกับคำยืนยันทั้งหลายในการฟ้องคดี เขาหาได้ทำสิ่งใดด้วยการคิดริเริ่มของตนเองไม่ ว่าเขามิได้มีเจตนาประการใดอยู่เลยไม่ว่าดีหรือเลว ว่าเขาเพียงแค่ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น

“คำให้การแก้ฟ้องอันเป็นแบบฉบับของพวกนาซีนี้ทำให้เห็นกระจ่างว่าความชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคือความชั่วร้ายที่ไม่มีผู้ใดก่อขึ้น กล่าวคือ เป็นความชั่วร้ายที่ก่อขึ้นโดยผู้คนที่ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีความปักใจเชื่อ ไม่มีจิตใจอันเลวร้ายหรือเจตนารมณ์เยี่ยงปีศาจ มันถูกก่อขึ้นโดยมนุษย์ผู้ปฏิเสธที่จะเป็นบุคคล และปรากฏการณ์นี้นี่เองที่ดิฉันเรียกว่าความเป็นเรื่องธรรมดาของความชั่วร้าย

“ดิฉันไม่ได้เขียนปกป้องไอก์มาน แต่ดิฉันพยายามหาทางผสานรอมชอมความเป็นคนดาดๆ ธรรมดาอันน่าตื่นตระหนกของชายผู้นี้เข้ากับการกระทำอันเหลือเชื่อของเขา การพยายามเข้าใจไม่ใช่สิ่งเดียวกับการให้อภัย ดิฉันเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของดิฉันที่จะทำความเข้าใจ มันเป็นความรับผิดชอบของใครก็แล้วแต่ที่บังอาจจรดปากกากับกระดาษในเรื่องนี้

“นับแต่โสกราตีสกับเพลโตมา เรามักเรียกการคิดว่า “เข้าพัวพันกับการสนทนาอันเงียบเสียงระหว่างฉันกับตัวเอง” ก็แลการที่ไอก์มานปฏิเสธที่จะเป็นบุคคลนั้น เขาก็ได้สละทิ้งอย่างสิ้นเชิงซึ่งคุณสมบัติหนึ่งเดียวที่นิยามความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด อันได้แก่ความสามารถที่จะคิด และฉะนั้น เขาจึงมิสามารถตัดสินวินิจฉัยทางศีลธรรมได้อีกต่อไป ความไม่สามารถที่จะคิดนี้สร้างความเป็นไปได้ให้สามัญชนจำนวนมากหลายที่จะกระทำการอันชั่วร้ายในขอบเขตมโหฬารชนิดที่เราไม่เคยเห็นเยี่ยงอย่างมาก่อนเลย

“จริงอยู่ที่ว่าดิฉันได้พิจารณาคำถามเหล่านี้ในเชิงปรัชญา การสำแดงออกของกระแสลมแห่งความคิดนั้นหาได้ปรากฏออกมาเป็นความรู้ไม่ หากออกมาเป็นความสามารถที่จะจำแนกถูกกับผิด สวยงามกับอัปลักษณ์ออกจากกัน และดิฉันหวังว่าการคิดนั้นจะให้ความเข้มแข็งแก่ผู้คนในอันที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความวิบัติฉิบหายในจังหวะอันหาได้ยากเหล่านี้เมื่อคนเราต้องตัดสินใจในยามคับขัน ขอบคุณค่ะ”