มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส / เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

 

เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้

 

คนที่ผ่านไปผ่านมา ที่ทำงานของผู้เขียน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักจะชื่นชมความร่มรื่นสวยงาม โดยเฉพาะบริเวณสนามหญ้าหน้าหอประชุม รวมทั้งถนนที่โอบล้อมกลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยถนนทางเท้า และพืชพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ สนามหญ้ากว้าง สระน้ำ และน้ำพุ ไปจนถึงพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล และเสาธงที่เคยสูงสุดในกรุงเทพฯ

ทัศนียภาพที่งดงามดังกล่าว ที่ประกอบขึ้นมาจากสิ่งก่อสร้างและพืชพันธุ์ไม้ ที่ไม่ได้พิเศษหรือหรูหรา ที่ไม่มีการประดับประดาตัดแต่งแต่อย่างใด

ถนนคอนกรีตกว้างแค่สองช่องทางจราจร พอเพียงสำหรับการสัญจรภายใน อยู่ในสภาพดี ไม่มีทรุดพัง เพราะไม่มีรถบรรทุกหนักวิ่งผ่าน ไม่มีรถขนดินปล่อยดินร่วงหล่น

เช่นเดียวกับทางเท้า กว้างตามมาตรฐาน ผิวหินล้างกรวดล้างธรรมดา ไม่มีลวดลายอะไรให้วุ่นวาย เพียงแต่ราบเรียบ ไม่แตกร้าว เพราะไม่มีการขุดท่อฝังสายอะไรบ่อย

บนถนนและทางเท้า มีเสาไฟแบบธรรมดา เรียบง่าย ทั้งตัวเสาและโคมไฟ ไม่ใช่เสาเหล็กหล่อรูปประหลาด ทาสีทองสีเขียวให้วุ่นวาย โคมไฟก็ไม่ใช่แก้วเจียรที่แพงและไม่สวย

 

ที่ต่างจากถนนทั่วไป คงจะเป็นถนนไร้สาย เพราะสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ออฟติกไฟเบอร์ รวมกันอยู่ใต้ดิน ไม่ให้รกหูรกตา ไม่มีป้ายจราจร ป้ายบอกทาง ป้ายแจ้งปริมาณจราจร ที่แฝงโฆษณา ไม่มีป้ายโฆษณาขายสินค้า หาเสียงเลือกตั้ง ระดมทุนสร้างวิหาร หรือสร้างโรงพยาบาล

จะมีแต่ป้ายกิจกรรมนิสิตและมหาวิทยาลัย ที่มีขนาด ตำแหน่ง ตามที่กำหนด และระยะเวลาติดตั้งตามที่ตกลงเท่านั้น

ไม้พุ่มไม้ใบ ก็เป็นเพียงต้นไม้ใบหญ้าพื้นบ้าน ไม่มีปลูกหญ้าคาตามกระแส เหมือนหน้าศูนย์การค้า จะมีไม้ดอกบ้าง ก็แค่เฟื่องฟ้าสีชมพู ตรงฐานพระบรมราชนุสาวรีย์สองรัชกาล และที่อื่นๆ บ้างเล็กน้อย

ไม้ใหญ่ มีมากมายปะปนกันไป มีทั้งประดู่ กระถินณรงค์ และชมพูพันธุ์ทิพย์ที่จะออกดอกสีชมพูพร้อมกันปีละครั้ง ทุกต้นเป็นต้นไม้ที่โตธรรมชาติ ไม่ใช่ต้นไม้ด่วน ราคาแพง ที่ย้ายมาจากทุ่งนา จึงไม่ต้องค้ำให้วุ่นวาย

และที่สำคัญ ไม่ล้มง่าย

 

ที่มีมากหน่อยคือ จามจุรี ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย แม้ว่าจามจุรีต้นดั้งเดิม เหลืออยู่ไม่กี่ต้น โดยเฉพาะจามจุรีพระราชทาน

ส่วนใหญ่เพิ่งปลูกเมื่อตอนมหาวิทยาลัยเฉลิมฉลองครบการสถาปนา 80 ปี จุฬาฯ (มีกิจกรรมช่วยกันปลูก) จามจุรี 80 ต้น ซึ่งในเวลานั้น ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต แม้แต่นักเรียนสาธิต ก็ลงแรงปลูกกัน รวมกันแล้วน่าจะมากกว่า 80 ต้น

เวลาที่ผ่านไปเพียงยี่สิบกว่าปี เพราะจุฬาฯ เพิ่งฉลองร้อยปีไปเมื่อสามสี่ปีก่อน ต้นจามจุรีที่ปลูกตอนนั้น ตอนนี้เติบใหญ่ ให้ร่มเงา สร้างความชุ่มฉ่ำให้กับพื้นที่

สนามกว้าง รองรับกิจกรรมพระราชพิธี กีฬาและอื่นๆ ก็แค่ปรับระดับ ปลูกหญ้าเรียบไม่ได้ลาดเอียง ไม่ทำนาข้าว หรือทำเกษตรในเมือง ให้วุ่นวายตามกระแส

แม้แต่สระน้ำ ที่มาจากการขุดดินเอาถมสนามในอดีต นอกจากจะเป็นแก้มลิงรองรับน้ำฝนตลอดมาแล้ว ยังรองรับกิจกรรมอื่น เช่น ลอยกระทง เป็นต้น ตัวบ่อ ขอบบ่อ เป็นหินธรรมดา ไม่ตกแต่งปั้นบัวปั้นปูน ไม่มีศาลาไทยกลางน้ำ

มีแค่น้ำพุ และกังหันชัยพัฒนา ที่คอยเติมอากาศไม่ให้น้ำเน่าเท่านั้น

 

ประเด็นหลัก น่าจะมาจากการดูแลรักษา บำรุงอย่างสม่ำเสมอ มีการตัดแต่งไม้พุ่มให้เป็นรูปทรง ตัดกิ่งก้านไม้แห้งไม่ให้รกรุงรัง ยังช่วยลดปัญหากิ่งไม้แห้งหล่น และต้นไม้ล้มทับ ถนนทางเท้า ปราศจากการขุดเจาะ หากซ่อมบำรุงอยู่เสมอ

การดำเนินงาน ก็อาศัยแรงงานทั่วไป ไม่ใช่ช่างฝีมือ แม้แต่การลอกท่อระบายน้ำ ก็ยังเป็นแรงงานจากกรมราชทัณฑ์ ส่วนค่าใช้สอยก็เป็นงบประมาณปกติ

ความงามที่ปรากฏนั้น ทัศนียภาพที่เห็นนี้ มาจากการสร้างเสริมเพิ่มเติม ต่างกรรมต่างวาระ ด้วยความตั้งใจและมองภาพรวมทั้งหมด

จนกลายเป็นความสวยงามของมหาวิทยาลัย กลายเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จัก มีผู้มาเยี่ยมเยือน นักท่องเที่ยวต่างชาติมาชื่นชมอยู่เสมอ

 

ที่พาไปมองครั้งนี้ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่จะอวดโอ้แต่อย่างใด หากอยากจะให้มองว่า ความสวยงามของบ้านเรือน อาคาร สถาบัน ไปจนถึงชุมชนและเมือง ที่ทุกคนโหยหานั้น ไม่ใช่เรื่องยาก

ไม่ใช่เรื่องการออกแบบตามกระแสแฟชั่น

ไม่ใช่เรื่องต้องใช้งบประมาณมากมาย

ไม่ใช่เรื่องไฮเทคเทคโนโลยีขั้นสูง

ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ

ไม่ใช่เรื่องที่ข้าราชการต้องไปดูงานต่างประเทศ

ไม่ใช่รูปแบบจากต่างประเทศหรือพยายามทำเหมือนในต่างประเทศ

หากเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้เท่านั้นเอง ที่ไหนๆ ก็เป็นได้เท่านั้นเอง

อยู่ที่ความสนใจ เอาใจใส่ และตั้งใจของผู้ดูแลฝ่ายบริหารจัดการ

อยู่ที่ความเข้าใจ ร่วมใจ และช่วยกันรักษา ของผู้ใช้ ฝ่ายนิสิตบุคลากรเท่านั้นเอง