วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิถังกับดินแดนทางใต้และอรุณรุ่งแห่งพุทธศาสนา

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

ดินแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ดินแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ที่มีปัญหากับจีนก็คือเวียดนาม

ดินแดนนี้เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนมาก่อนในสมัยฮั่น ครั้นความแตกแยกเกิดขึ้นในจีน เวียดนามก็ตั้งตนเป็นอิสระ จนมีลักษณะที่วนเวียนไปมาระหว่างการตั้งตนเป็นอิสระเมื่อจีนอ่อนแอ และตกเป็นของจีนเมื่อจีนเข้มแข็ง ดังนั้น ในสมัยถังที่จีนเข้มแข็งขึ้นอีกครั้งก็ตกเป็นของจีนอีก

โดยใน ค.ศ.679 จีนได้ตั้งหน่วยบัญชาการใหญ่ขึ้นที่ชายแดนของเวียดนาม จากนั้นก็ปกครองเวียดนามเรื่อยมาจนกระทั่งถังล่มสลาย การปกครองของจีนทำให้เวียดนามสูญเสียบทบาททางการค้าที่มีกับต่างประเทศให้แก่จีน

โดยจีนได้ย้ายศูนย์กลางการค้ามายังที่ซึ่งปัจจุบันคือเมืองกว่างโจวในมณฑลกว่างตง กรณีนี้ทำให้เห็นได้ว่า การเป็นเมืองทางการค้าระหว่างประเทศของกว่างโจวเกิดขึ้นมานานนับพันปีแล้ว และเป็นเรื่อยมาจนถึงยุคอาณานิคมหรือยุคสมัยใหม่

แต่ใน ค.ศ.938 ที่ถังอ่อนแอลง เวียดนามได้ลุกขึ้นสู้กับจีนจนสามารถตั้งตนเป็นอิสระได้สำเร็จ แต่ถึงแม้จะมีอิสรภาพแล้วก็ตาม เวียดนามก็ยังคงระบบมาตราชั่ง ตวง วัด และเหรียญกษาปณ์ของจีนเอาไว้

ยิ่งวัฒนธรรมขงจื่อด้วยแล้วก็ถูกยกให้เป็นแบบแผนในการครองตนของเวียดนามเลยทีเดียว

 

ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ก็คือดินแดนมณฑลอวิ๋นหนันในปัจจุบัน โดยรัฐสำคัญที่ตกเป็นของถังก็คือ หนันเจ้า (น่านเจ้า) รัฐนี้ได้ปรากฏขึ้นราวกลางศตวรรษที่ 7 และเคยร่วมมือกับทิเบตในการต่อต้านจีนในบางช่วง แต่ในที่สุดก็สยบต่อจีนในยุคถัง

โดยกษัตริย์ของหนันเจ้าได้รับราชลัญจกรและยศศักดิ์จากถัง และนำระบบราชการและการสอบบัณฑิตของจีนมาเป็นแบบแผนของตนแต่กระนั้น หนันเจ้าก็ยังคงไว้ซึ่งรากฐานร่วมทางการเมืองที่มีกับทิเบตเอาไว้ในบางด้าน เช่น การควบคุมเครื่องแต่งกายที่ทำจากหนังเสือโคร่ง เป็นต้น

ประเทศอื่นๆ นอกจากชนชาติและประเทศต่างๆ จากที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีประเทศอีกไม่น้อยที่มาสัมพันธ์กับจีนในยุคถัง ความล้มเหลวในกรณีเกาหลีในยุคถังไท่จงมิได้ทำให้อิทธิพลของจีนในเอเชียลดน้อยถอยลง นครฉังอันได้กลายเป็นศูนย์รวมของชนนานาชาติจากทั่วทุกสารทิศ

บางชาติบางประเทศมาพร้อมกับบรรณาการ ชนนานาชาติเหล่านี้มีทั้งที่มาจากไซบีเรียกลาง (central Siberia) เคอร์กิซ มีชนชาติคอเคเชียนที่มีผมสีแดง ตาสีฟ้า และสูงใหญ่จากฟากตะวันออกของอูราล นอกจากนี้ คณะทูตานุทูตจากประเทศอื่นต่างก็มุ่งมายังฟากตะวันตกของจีนอย่างไม่ขาดสาย

เช่น จากราชวงศ์ของเปอร์เซีย ไบแซนไทน์ (ซีเรียในปัจจุบัน) หรือแม้แต่โรมันตะวันออก เป็นต้น

จากเหตุนี้ จีนในเวลานั้นจึงคลาคล่ำไปด้วยชนต่างสีผิว มีสินค้าจากต่างชาติมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ความบันเทิง ประเพณี และศาสนา ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ด้วยนโยบายที่เปิดกว้างดังกล่าวที่ถังไท่จงทรงริเริ่มนั้น ไม่เพียงทำให้ฉังอันกลายเป็นมหานครนานาชาติอย่างแท้จริงเท่านั้น

หากยังทำให้จีนผงาดเป็นจักรวรรดิขึ้นมาอีกครั้งด้วยเช่นกัน

 

โลกภายนอกในสายตาของราชวงศ์ถังจากที่กล่าวมานี้ เป็นที่ยอมรับกันว่าถังไท่จงทรงเป็นผู้ริเริ่มอย่างสำคัญ และที่เป็นเช่นนั้นได้ ส่วนหนึ่งย่อมมาจากทัศนคติของพระองค์ที่ทรงมีใจที่เปิดกว้าง ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่ทรงได้รับการยกย่องจากเติร์กให้เป็นคากานสวรรค์แล้วตรัสว่า

“บุรพจักรพรรดิแต่ครั้งบุราณเทิดทูนชาวจีนแลดูแคลนชาวต่างชาติเสมอมา มีเพียงเราที่แลเห็นชาวต่างชาติด้วยสมภาพ ชาวต่างชาติจึงแลเห็นเราเสมอด้วยบุพการี”

และด้วยข้อริเริ่มที่ประสบผลสำเร็จเช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นรากฐานให้จักรพรรดิในชั้นหลังของราชวงศ์นี้ได้สืบสานเรื่อยมา และทำให้จีนคงความเป็นจักรวรรดิเอาไว้ได้นานราวสามร้อยปี

อย่างไรก็ตาม แม้ความจริงจะเป็นเช่นที่กล่าวมาก็จริง แต่ก็พึงระลึกไว้เสมอว่า ในอีกด้านหนึ่งของนโยบายที่เปิดกว้างก็ยังหลีกหนีไม่พ้นนโยบายที่คับแคบดังอดีต ที่ถึงที่สุดแล้วก่อนจะได้มาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกภายนอกนั้น จีนได้ใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเช่นกัน

หากนโยบายนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี จีนก็จะใช้นโยบายรอมชอมในภายหลัง ดังสำนวนที่ว่า “ตบหัวแล้วลูบหลัง” แต่ถ้าไม่ ก็จะหาทางรอมชอมเป็นหลัก และแม้จะเปิดใจกว้างแล้ว ความใจกว้างนั้นก็มีขอบเขตทางวัฒนธรรมอยู่ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากเมื่อผู้นำของชนชาติอื่นขอเจ้าหญิงของจีนมาอภิเษก จีนก็มิได้สนองให้ในทันทีทันใด จีนยังคงเห็นว่าการขอเช่นนั้นเป็นความหยาบคาย

แต่เมื่อต้องให้แล้วก็พบว่า เจ้าหญิงที่ให้ไปนั้นถึงที่สุดแล้วไม่มีองค์ใดที่เป็นธิดาโดยตรงของจักรพรรดิแม้แต่องค์เดียว

เหตุดังนั้น การที่จีนบอกเล่าเรื่องราวในยุคถังว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับชนชาติต่างๆ จนถึงขั้นมอบเจ้าหญิงให้อภิเษกกับผู้นำชนชาตินั้นๆ จึงเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ทำให้ภาพของจีนดูดี ทั้งที่จริงแล้วเป็นภาพที่ขาดความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง

 

ถังกับศาสนาและลัทธิอื่น

การที่ถังมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกเช่นที่กล่าวมา และคลาคล่ำไปด้วยชาวต่างชาติจนเป็นที่เจนตาเช่นนั้น ในอีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงการเข้ามาของศาสนาต่างๆ อีกด้วย ศาสนาเหล่านี้มีอาทิ โซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) มาณี (Manichaeism, บางที่เรียกมาณีกีหรือมาณีธรรม) เนสตอเรียน (Nestorianism) จากเปอร์เซีย และอิสลามจากอาหรับ

เริ่มจากโซโรอัสเตอร์อันเป็นศาสนาบูชาไฟ ด้วยเชื่อว่าไฟคือความสว่างของจิตวิญญาณฝ่ายดี ที่ตรงข้ามกับความมืดที่เป็นจิตวิญญาณฝ่ายเลว ความเชื่อนี้ทำให้ศาสนานี้มีข้อห้ามในการฝังศพแบบจีนและการเผาแบบพุทธ ข้อห้ามทั้งสองนี้ถูกอธิบายว่า การฝังศพทำให้โลกเกิดมลพิษ ส่วนการเผาก็สร้างมลพิษให้ไฟ

ศาสนานี้จึงปล่อยให้ศพถูกสัตว์กินเนื้อแทะเอาเนื้อออกจากกระดูกจนหมด ก่อนที่จะนำศพที่เหลือแต่กระดูกเก็บไว้ในโกศดินที่เรียกว่า ออสซัวรี่ (ossuary)

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การอธิบายตามความเชื่อดังกล่าวนับว่าสอดคล้องกับความรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องการเกิดขึ้นของมลพิษจากการเผาผลาญ

ส่วนมาณีเป็นศาสนาที่เข้ามาในจีนเมื่อ ค.ศ.694 สาวกของศาสนานี้ต่อมารู้กันว่าเป็นกลุ่มชนที่บูชาแสงสว่าง ด้วยเชื่อว่าพลังของแสงสว่างและความมืดมิดต่อสู้กันชั่วกัลปาวสานเพื่อแย่งชิงจักรวาล จากความเชื่อเช่นนี้จึงทำให้อารามของศาสนานี้ถูกเรียกว่าอารามเรืองรอง (Brightness Temple)

สำหรับเนสตอเรียนเป็นศาสนาที่เข้ามายังจีนใน ค.ศ.635 และมีที่มาจากศาสนาคริสต์ บางที่จึงเรียกศาสนานี้ว่าเนสตอเรียน คริสเตียนิตี้ (Nestorian Christianity) แต่ด้วยเหตุที่มีความเชื่อต่างจากศาสนจักรใหญ่คาทอลิกจึงถูกต่อต้าน และถูกบัพพาชนียกรรมออกไปจนตัวผู้นำต้องจาริกไปยังเปอร์เซีย และเป็นลัทธิใหญ่ในสมัยถังในศตวรรษที่ 7

ต่อมาคืออิสลามอันเป็นศาสนาที่เข้าไปในจีนเมื่อ ค.ศ.651 โดยผู้เผยแผ่ศาสนาชาวอาหรับ

 

ทุกศาสนาตามที่กล่าวมานี้ล้วนมีศาสนสถานเป็นของตนเองตั้งอยู่ในจีน แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีศาสนาใดจักรุ่งเรืองเท่าศาสนาพุทธอีกแล้ว

อันที่จริงศาสนาพุทธในจีนนั้นได้เข้ามายังจีนตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นแล้ว จากนั้นก็ตั้งอยู่ในจีนเรื่อยมา แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ความนิยมที่มีต่อศาสนานี้มาปรากฏเอาในช่วงที่จีนมีความแตกแยกในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ โดยผู้ที่นิยมส่วนมากมักเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ความนิยมดังกล่าวได้ทิ้งหลักฐานผ่านศาสนสถานต่างๆ เอาไว้จนทุกวันนี้ ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ครั้นมาถึงสมัยถังที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองอย่างสูงก็พบว่า ภูมิหลังของบุคคลในราชวงศ์นี้ก็มิได้มีสายเลือดที่เป็นจีนแท้ อีกทั้งบรรพชนของราชวงศ์นี้ต่างก็นับถือศาสนาพุทธมายาวนานเช่นกัน เหตุฉะนั้น ความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในสมัยถังจึงมีพื้นฐานที่ค่อนข้างมั่นคงมาก่อนหน้านี้แล้ว

พื้นฐานดังกล่าวชวนให้สงสัยว่า หากชนชั้นนำของถังมิได้มีภูมิหลังเช่นว่า และถือตนเป็นชนชาติฮั่นที่โดยมากมักมีแนวโน้มที่จะสมาทานลัทธิขงจื่อเป็นหลักแล้ว ศาสนาพุทธจะได้รับการบำรุงอุ้มชูหรือไม่ หรืออยู่ในสถานะใดในประวัติศาสตร์จีน

หรือจะรุ่งเรืองดังที่เห็นหรือไม่?