เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / วันเด็ก…วัยเด็ก

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

วันเด็ก…วัยเด็ก

 

วันเด็กปีนี้ ปี 2563 ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม

นายกตู่ฯ ได้มอบคำขวัญวันเด็กให้กับหลานๆ ว่า “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” ไอ้รู้รักสามัคคีนี่เด็กๆ ไทยคงจะพอรู้อยู่ ทั้งๆ ที่สังคมของผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นความสามัคคีที่ว่านี้สักเท่าไหร่ก็ตาม

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ “หน้าที่พลเมืองไทย” นี่สิ ว่าน้องๆ หนูๆ จะรู้ไหมหนอว่า พลเมืองไทยตามความหมายของลุงตู่นั้นมันมีหน้าที่อะไรบ้าง

ถ้าหน้าที่พลเมืองไทย คือ “การรักชาติ” ก็ที่เห็นอาๆ ลุงๆ นักการเมืองทั้งหลายที่อ้างว่า “รักชาติ” กันทั้งนั้น ก็ลุกขึ้นมาตีกันเพราะเหตุผลรักชาติกันนี่แหละ แต่เป็นการเลือกรักตามความพอใจของตน

เมื่อมีฝ่ายหนึ่งว่า “รักชาติ” ก็เลยมีคำว่า “ชังชาติ” ขึ้นมาเพื่อสร้าง “พวกเขา-พวกเรา” มากขึ้น

ไม่รู้ว่าจะตอกลิ่มความแตกแยกกันไปถึงไหน

ออกจะให้สงสารเด็กๆ ในปี 2563 นี่เสียจริง ที่เติบโตขึ้นมาด้วยสภาวะสังคมที่ขัดแย้งกันอย่างหนัก จะหาหลักหาที่พึ่งจากตรงไหนก็มองไม่เห็น

อย่ากระนั้นเลย เพื่อให้โลกยังพอสวยสดงดงามสมกับเป็นวันเด็กบ้าง ขอย้อนวัยไปเมื่อผู้เขียนยังเด็กสักหน่อย ซึ่งนั้ฃ่นก็คือกว่า 50 ปีมาแล้ว…แฮ่ม

 

ผมเคยเขียนเรื่องราวของตนเองและครอบครัวในวัยเด็กในพอกเก็ตบุ๊กที่ชื่อ “บานไม่รู้โรย” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2533 นั่นคือเมื่อ 30 ปีมาแล้ว

จึงจะขอคัดเลือกเนื้อถ้อยกระทงความเป็นช่วงๆ ในตอนต่างๆ มาให้อ่านกัน โดยในหนังสือผมแทนชื่อตัวเองว่า “ด้วง” และชื่อพี่สาวว่า “ฟ้า”

นี่คือในตอนที่ชื่อ “แม่และบันได”

 

“ตอนที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ หมายถึงบ้านที่ศรีสะเกษนี่ ฟ้าเพิ่งจะอายุได้ไม่ถึงขวบด้วยซ้ำ แม่ต้องอุ้มขึ้นบ้านราวกับเจ้าบ่าวที่ต้องอุ้มเจ้าสาวเข้าเรือนหอตามธรรมเนียมฝรั่ง

ฟ้ายังตัวเล็กแดงอยู่ พอที่จะอุ้มแค่มือเดียว และอีกมือหนึ่งของแม่ก็ใช้หิ้วกระเป๋าและข้าวของอื่นๆ ที่ก็ไม่มีอะไรมากนักหนาเกินกว่ากระเป๋าของพ่อและแม่ แล้วก็กระเป๋าใหญ่ใส่ของจิปาถะต่างๆ กระเป๋าเล็กอีกหนึ่งใบที่แม่ใช้ใส่ข้าวของส่วนตัวตามประสาผู้หญิง ที่มักเก็บเล็กเก็บน้อยไปเสียหมด ด้วยเหตุนี้แหละ เวลาที่เก็บของจะย้ายกันมานั้น แม่ก็โดนพ่อว่าเอาเหมือนกัน

แม่จึงมีกระเป๋าที่ใส่ข้าวของต่างหาก ที่แม่ลงความเห็นคนเดียวแล้วว่าทิ้งไม่ได้ ยังไงก็จะเก็บเอาไว้ พ่อยังบ่นเรื่องนี้ต่อไปอีกนิดหน่อย แต่ก็ไม่นานนักเพราะพ่อนั้นไม่ใช่คนพูดมาก”

“แม่นั้นเป็นนักอ่านตัวยงเหมือนกัน แม่ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ที่แม่สายตาสั้นและต้องใส่แว่นตาก็เพราะเหตุนี้ด้วย แต่แม่ก็ยังอ่านเรื่อยมา และอ่านได้บ่อยๆ จนติด”

“ให้อดข้าวเสียยังดีกว่าอดหนังสือ”

“แม่บอกกับพวกเราในเวลาต่อมา และเราก็ได้เห็นตามนั้นจริงๆ ด้วยที่บางทีแม่ก็อ่านหนังสือเพลินจนลืมกินข้าว ต่อเมื่ออ่านจบนั่นแล้วถึงได้รู้สึกว่าท้องมันร้องจ๊อกๆ”

“ฟ้าเกิดมาขาวตัวแดงแจ๋ และผมดกดำ ตาโต และปากบางเฉียบ ใครๆ ก็ว่าเหมือนพ่อทั้งนั้น ทั้งหน้าตาและผิวพรรณ เพราะแม่นั้นคมขำไปอีกแบบและมีผิวดำ

แผลแม่หายไวเกินปกติ แม่จึงไม่ต้องนอนพักหลังการคลอดแล้วอยู่นานๆ ไม่ช้าก็ลุกขึ้นทำอะไรได้อย่างเดิม แล้วก็ออกเที่ยวได้บ้างแล้ว อย่างไปเล่นไพ่ที่บ้านคนนั้นคนนี้ หรือว่าไปงานเลี้ยงงานเต้นรำที่นั่นที่นี่

แล้วครั้งหนึ่งที่แม่ไปงานเลี้ยง แล้วก็ออกไปเต้นรำอย่างเคย แม่ก็รู้สึกมีอะไรขลุกขลิกอยู่ในท้อง และคิดว่าคงเป็นโรคกระเพาะ หรืออะไรที่มันเกี่ยวกับท้องนั่นแหละ

แม่ไปให้หมอที่คุ้นเคยตรวจ หมอตรวจแม่ก็ทำหน้าแปลกๆ งงๆ”

“เอ๊ะ นี่ไม่รู้จริงๆ เหรอ”

“อะไรคะ” แม่เองก็งงอยู่เหมือนกัน ไม่แพ้หมอสักเท่าไร

“ก็ท้องมาจะ 4 เดือนแล้วนะนี่”

แม่ว่าหมอพูดเล่น แต่หมอยืนยัน และเอาผลการตรวจให้ดู

“เมนหายนี่ไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ”

“ก็นึกว่ามันยังไม่มาเอง เพราะเพิ่งคลอดยายฟ้าไป”

หมอหัวเราะลั่น แล้วก็โคลงหัว “มันเก่งโว้ย หัวปีท้ายปีเชียว”

 

ฟ้ากับด้วง โตวันโตคืนไล่ๆ กันมา เพราะห่างกันแค่สิบเดือน ฟ้ามองน้องอย่างประหลาดในครั้งแรก แต่คงจะยังไม่ทันคิดอะไร เพราะยังไม่เดียงสาเลยด้วยซ้ำ ต่อเมื่อเติบโตขึ้นพอที่จะรู้อะไรบ้างแล้ว ฟ้าก็เห็นว่าน้องนั้นเป็นตัวอะไรเล็กๆ ที่ตนจะเล่นได้”

และในตอนที่ชื่อ “ครูสอนเต้นรำ” ได้เขียนถึงเรื่องที่เริ่มเข้าโรงเรียนไว้ว่า

“แม่ไม่ปล่อยให้เราอยู่ว่างนัก จะหากระดาษดินสอมาให้เราเขียนอะไรเล่นๆ เพลินๆ และแม่ก็พบว่าด้วงนั้นมีหัวในทางวาดรูปไม่น้อย และถ้าเทียบกับวัยก็ดูจะเด่นอยู่เหมือนกัน ส่วนฟ้านั้นหัดเขียนหนังสือด้วยมือขวาอยู่ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังนั่นแหละว่า แม่เคยหลอกไว้ว่า

“ถ้าเขียนหนังสือมือซ้าย จะไม่ให้เข้าโรงเรียน”

“ฟ้าอยากจะเรียนหนังสือมาก และฝันว่าตนจะได้เป็นนักเรียนบ้างในเร็ววันนี้

ที่เมืองเรานั้น (หมายถึงจังหวัดศรีสะเกษ) เล็กและยังไม่เจริญพอที่จะมีโรงเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งพ่อกับแม่เห็นว่าจำเป็นต่อการพัฒนาสมองและบุคลิกของเด็ก นี่ถ้าเราเกิดมาเป็นลูกคนจนยากเข็ญเสียเลย หรือเป็นลูกคนร่ำรวย ก็คงจะไม่วุ่นวายอย่างนี้ เพราะคงจะไม่คิดส่งลูกเรียนอนุบาล เพราะไม่มีกำลังพอ หรือไม่ก็เพราะร่ำรวยมาก จะส่งเรียนเมืองนอกตั้งแต่เพิ่งคลอดออกมาดูโลกก็ยังได้”

และอย่างในตอน “ไปโรงเรียน” ที่เป็นการเดินทางเพื่อไปเป็นเด็กประจำในอีกจังหวัดหนึ่ง

“เป็นอันว่าเราทั้งสองจะต้องเดินทางไปอุบล ความตื่นเต้นเลยเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่จะได้เดินทาง และได้เรียนหนังสือ”

 

“แม่จัดการตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ของเราให้พร้อม อันไหนที่จะซื้อหาได้ทางนั้นก็ไม่เอาไป เป็นภาระในการขนย้ายเปล่าๆ ส่วนพ่อก็จัดการในเรื่องเงินทอง ซึ่งก็ต้องจ่ายกันอีกหลายเงินทีเดียว

นี่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้นสำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษา ซึ่งจะตามมาอีกไม่รู้เท่าไร จนกว่าจะเรียนจบนั่นแหละ และที่ร้ายก็คือพ่อต้องจ่ายเงินเป็นสองเท่าสำหรับของบางอย่างที่ไม่น่าจะต้องจ่าย อย่างเช่นหนังสือเรียน ที่พ่อจะต้องซื้อทีเดียวสองชุดสำหรับเราสองคน เพราะเราทั้งคู่จะเรียนร่วมชั้นเดียวกันไปตลอด และก็ไม่มีใครจะให้ใช้ต่อเสียด้วย

แต่สำหรับชั้นอนุบาล ตำรับตำรายังไม่มีอะไรมาก ออกจะหนักไปทางนอนและเล่นมากกว่า พอบ่ายก็จะเรียงแถวนอนเป็นตับทีเดียว และเค้ามีสอบไหมนะวิชานอนนี่ ใครนอนเก่งจะได้คะแนนเต็มหรืออย่างไร ถ้านอนกรนก็จะถูกหักคะแนน นอนดิ้นก็ไม่ได้ คะแนนจะน้อย

ยิ่งถ้าละเมอยิ่งแล้วใหญ่ เผลอๆ ตกได้ทีเดียว”

 

ที่ถอดความมาให้อ่านนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตวัยเยาว์ที่ได้ถูกเขียนเป็นหนังสือชื่อ “บานไม่รู้โรย” ไว้ เมื่อได้กลับมาย้อนอ่านอีกเนื่องในโอกาสวันเด็ก ก็อดคิดถึงชีวิตช่วงนั้นไม่ได้ ที่มีแต่ความสุข แม้จะทุกข์ก็ทุกข์แบบเด็กน้อย

และที่ถอดความมานี้มีที่เกี่ยวข้องกับแม่ด้วย ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงแม่ของผู้เขียน ที่เพิ่งจากไปเมื่อตอนสิ้นปี 2562 นี้เอง

“วันเด็ก” สำหรับเด็กวันนี้ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า และเป็นคนชราในวันโน้น

ไม่รู้วันนั้นเบี้ยคนชราที่หนูๆ น้องๆ จะได้รับจะเป็นสักกี่บาท

สุขสันต์วันเด็ก 2563 นะครับหนูๆ