เปลี่ยนผ่าน : นานาทัศนะ ว่าด้วยเรื่อง “ล้อการเมือง”

AFP PHOTO / SAEED KHAN

โดย เบญจพร ศรีดี

คลิป “โน้ส อุดม” พูดคุยโทรศัพท์กับ “พี่ตู่” ซึ่งใช้โปรโมตการแสดง “เดี่ยว 9” ของนักเดี่ยวไมโครโฟนมือหนึ่งอย่าง “อุดม แต้พานิช” กลายเป็นคลิปวิดีโอที่โด่งดังกว้างขวางในโลกออนไลน์

ทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “การล้อเลียน” กับ “ผู้มีอำนาจทางการเมือง”

“การล้อเลียน” ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการตัดต่อภาพนิ่ง วิดีโอ ข้อความเสียดสี รวมถึงการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หลายคนมองว่านักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทย มี “เส้นบางๆ” ที่กั้นระหว่าง คำว่า “ล้อเลียน” กับคำว่า “ล่วงเกิน” ถึงขั้นหมิ่นประมาทผู้อื่น จนเกิดคดีความฟ้องร้องกันหลายกรณี


นายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยจัดทำวิดีโอล้อเลียนทางการเมือง เห็นว่านักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เนื่องจากมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน

แม้ว่าการนำภาพนักการเมืองมาตัดต่อ อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ แต่เห็นว่าในสังคมประชาธิปไตย จะไม่มีการฟ้องร้องกัน ถ้าการกระทำดังกล่าวไม่รุนแรงจนเกินไป หรือถึงขั้นเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคง

ทนายความผู้นี้เห็นว่านักการเมืองจะต้องมีความหนักแน่นกว่าบุคคลทั่วไป และถือเป็นมารยาททางประชาธิปไตย ที่บุคคลซึ่งเป็นผู้นำจะไม่ฟ้องร้องประชาชนยิบย่อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบุคคลนั้นว่าจะเลือกดำเนินคดีประเภทใดกับใครมากกว่า

ทั้งนี้ ควรแยกแยะระหว่างมารยาททางสังคมและวัฒนธรรมทางการเมือง ออกจากกฎหมาย และการที่ประชาชนล้อเลียนนักการเมือง หรือบุคคลที่เป็นผู้นำของประเทศ ก็ยังเป็นผลดีด้วย เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับนักการเมืองมากขึ้น

แต่หากมีการฟ้องร้อง ก็จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน


ด้าน นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” คอลัมนิสต์ชื่อดัง เห็นว่าการล้อเลียนในรูปแบบต่างๆ มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย แต่สอดแทรกด้วยมุขตลก ให้เกิดอารมณ์ขัน รอยยิ้ม หรือเสียงหัวเราะ

ส่วนตัวเห็นว่าโลกของผู้นำคือการเข้ามาเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งมีความแตกต่างจากบุคคลทั่วไป เปรียบเสมือน “นิติศาสตร์” กับ “รัฐศาสตร์” ที่มีความแตกต่างกัน บางครั้งผู้นำก็ต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้มากกว่าปกติ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ดารานักแสดง หรือนักการเมือง จะถูกล้อเลียน

เห็นได้จากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ก็ถูกล้อเลียนมาก โดยเฉพาะรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ผู้หญิงคนหนึ่งก็สามารถอดทนได้ รวมถึงรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นกัน แต่หากสิ่งใดที่ล่วงเกินมากเกินไป ก็สามารถฟ้องร้องได้

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องปกติ หากทำไม่ได้ จะถือว่าไม่ปกติ แต่บางครั้งโลกของโซเชียลมีเดีย ก็ล้ำเส้นมากไป และหากมีการด่าทอรุนแรง ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ ก็อาจเข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทได้

เบื้องต้นทราบว่า หากมีการล้อเลียนใคร คนนั้นคือผู้เสียหาย หากรู้สึกว่าตัวเองถูกหมิ่นประมาท ก็จะต้องเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีเอง

สําหรับการล้อเลียนนักการเมืองอีกหนึ่งวิธีที่ถูกใช้มาตั้งแต่อดีต คือการเขียนการ์ตูนล้อเลียน แต่ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความร้อนแรง นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดังอย่าง นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ เห็นว่า การเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองก็ถูกจับตามองมากเช่นกัน แต่ยังน้อยกว่าสื่อชนิดอื่นๆ

ส่วนตัวเห็นว่าการทำงานมีความยากขึ้นตลอดเวลา ทั้งการคิดเรื่องที่ยากขึ้น กรอบมีมากขึ้น แต่เพราะต้องเขียนการ์ตูนทุกวัน จึงต้องหาวิธีหลบหลีกเอาเอง

แต่ที่เกิดปัญหาจนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมนั้น อาจเกิดจากบางบุคคล ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร นำภาพของผู้อื่นมาตัดต่อจนล้ำเส้น เพราะเขาไม่รู้ว่า “เส้น” ที่ว่ามันอยู่ตรงไหน และอาจทำให้ผู้ที่ถูกล้อเลียนรู้สึกโกรธได้

แตกต่างจากนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ ซึ่งจะรู้ว่า บางครั้งคนหนึ่งพูดบางอย่าง ผู้ที่รับฟังอาจรู้สึกว่าเป็นการเตือน แต่หากอีกคนหนึ่งพูดในสิ่งเดียวกัน แต่ใช้การพูดอีกรูปแบบหนึ่ง อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าถูกด่าได้ มันจึงเปรียบเสมือนการละเล่นพื้นบ้าน เช่น ฉ่อยและลำตัด ที่แตกต่างกัน

การเขียนการ์ตูนก็เช่นกัน มันขึ้นอยู่กับรูปแบบที่นำเสนอ และตนเองจะรู้สึกไม่ดีทุกครั้ง หากเขียนรูปแล้วดูน่าเกลียด เพราะเราไม่สมควรจะไปทำร้ายใคร

ส่วนคนที่ตัดต่อภาพแล้วนำไปเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ส่วนตัวเห็นว่าใครอยากจะทำก็ทำไป เพราะบางครั้งตนเองก็ยังได้ไอเดียมาจากภาพทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน

แต่อย่าล้ำเส้นหรือสนุกสนานเกินไป เพราะผลที่ตอบรับมาในภายหลังมันอาจจะไม่สนุก และไม่คุ้มค่า

ขณะที่ในแง่ของกฎหมาย การตัดต่อภาพและนำมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นความผิด

พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า การกระทำดังกล่าวจะผิดแค่ไหน อย่างไร มีการดำเนินคดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าของภาพหรือคนที่ถูกล้อเลียน ว่าเขามีความรู้สึกกับภาพ หรือข้อความเหล่านั้นอย่างไร

ตำรวจไม่สามารถกำหนดได้ว่าแค่ไหนจะถือว่าเป็นการกระทำความผิด ขึ้นอยู่กับบุคคลว่าเขารู้สึกว่าเสียหายหรือไม่ เพราะความรู้สึกของคนเราแตกต่างกัน เช่น บางคนถูกล้อเลียนอย่างมาก แต่ก็ไม่เข้าแจ้งความดำเนินคดี บางคนถูกล้อเลียนเพียงเล็กน้อยก็เข้าแจ้งความทันที จะผิดหรือจะถูกขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ที่ถูกตัดต่อ แต่ในส่วนของกฎหมายนั้นคุ้มครองทุกคน

การตัดต่อภาพนั้น อาจมีความผิดตามกฎหมายหลายบท ทั้งการหมิ่นประมาทผู้อื่น แต่หากการกระทำนั้นกระทบในส่วนความมั่นคง ความเสียหายโดยรวม และความไม่สงบต่อสังคม หรือการทำงานของรัฐบาล หรือก่อให้เกิดความไม่สงบต่อแผ่นดิน ตำรวจก็สามารถดำเนินคดีได้ทันที หากมีผู้แจ้งเบาะแส หรือตำรวจตรวจพบ โดยไม่ต้องมีผู้เข้ามาแจ้งความ

ซึ่งตำรวจจะเป็นผู้กล่าวโทษเอง เพื่อระงับยับยั้งเหตุ ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาปกป้องสิทธิเสรีภาพ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ของประชาชนทุกคน

ดังนั้น หากพบใครที่ทำความผิดก็ต้องดำเนินคดีทันที พร้อมยืนยันว่าพนักงานสอบสวนไม่มีสาเหตุที่จะต้องกลั่นแกล้งผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ จะไม่ทำก็ไม่ได้

และไม่ใช่การเอาใจรัฐบาลหรือทำเพื่อเอาใจใคร


จะเห็นได้ว่าการ “ล้อการเมือง” เป็นเรื่องปกติที่อยู่คู่กับทุกรัฐบาลและสังคมไทย เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ถือเป็นกระบอกเสียงของประชาชนที่ต้องการส่งไปถึงนักการเมือง หรือผู้นำประเทศ

ถึงแม้ในขณะนี้ ประเทศไทยจะมี “รัฐบาลพิเศษ” อย่าง คสช. ที่เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย แต่การล้อเลียนก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่สำคัญ ผู้ล้อเลียนจะต้องคำนึงถึงการแสดงออก ไม่ให้เกิดความแตกแยกโกรธเกลียดในสังคม ไม่ล่วงเกินผู้อื่นจนทำให้เกิดความเสียหาย เพราะอาจถูกแจ้งความดำเนินคดีได้

ส่วนผู้ที่ถูกล้อเลียนเอง ก็ควรเปิดใจให้กว้าง และรับฟังคำวิจารณ์ในรูปของอารมณ์ขัน ที่ส่งมาถึงตนเองเช่นเดียวกัน