มาดามหลูหลี / Assassination : แผนลอบสังหาร

มาดามหลูหลี[email protected]

กว่าที่คนเกาหลีและประเทศเกาหลีใต้จะยืนหยัดได้อย่างทุกวันนี้ ต้องผ่านความยากลำบากต่างๆ มามากมาย ทั้งเคยอยู่ภายใต้การดูแลของจีน และในปี 1910 มีสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีเนื้อความยินยอมให้ “ญี่ปุ่นถืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเกาหลี” ช่วงปี 1910-1945 ถือเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์เกาหลี

หากมีกลุ่มคนผู้รักชาติ รวมตัวกันกู้ชาติ กับลอบสังหารบุคคลสำคัญของศัตรู ขณะเดียวกันก็มีผู้ทรยศหรือหนอนบ่อนไส้

ทั้งยังมีคนที่ยอมสวามิภักดิ์ฟังคำสั่งของญี่ปุ่น ทำการค้าขายหากินกับญี่ปุ่น เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

Assassination ภาพยนตร์เกาหลีปี 2015 โดยผู้กำกับฯ ชเวดงฮุน ทั้งเขียนบทเองร่วมกับอีจีชอล หนังได้รับรางวัล Best Film 2016 จากงาน (52nd) BaekSang Arts Awards – June 3, 2016 และ Best Film 2015 จากงาน (36th) Blue Dragon Film Awards – November 26, 2015

และมีดาราดังร่วมแสดงคับคั่ง

 

หนังเรื่อง “Assassination” กลายเป็นหนังเรื่องที่ 12 ของเกาหลีใต้ที่ทำรายได้ทะลุ 10 ล้านเหรียญในบอกซ์ออฟฟิศของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังเป็นหนังเรื่องแรกของเกาหลีใต้ที่ทำยอดขายตั๋วได้มากกว่า 10 ล้านในปี 2015 หนังเรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับฯ ชเวดงฮุน เรื่อง “The Thieves” ก็มียอดขายตั๋วมากกว่า 10 ล้านด้วย

เป็นการร่วมงานแสดงอีกครั้งของสองดาราใหญ่จางแทจุนและจอนจีฮยอน (หรือ Gianna Jun) หลังจากเรื่อง Il Marae หนังรักโรแมนติกเมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกๆ ที่เข้ามาฉายในบ้านเรา

สำหรับเรื่อง Assassination นางเอกจอนจีฮยอนได้รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากงาน Daejong Film Awards – November 20, 2015 ซึ่งรับบทเป็นหญิงสาวฝาแฝด

คนหนึ่งเป็นนักฆ่า ส่วนอีกคนเป็นคุณหนูลูกพ่อค้าผู้มีอิทธิพล

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ญี่ปุ่นปกครองเกาหลีด้วยความโหดร้ายทารุณ ผู้หญิงกว่า 200,000 คนถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกาม ส่วนผู้ชายถูกบังคับให้ใช้แรงงาน และชาวเกาหลีทุกคนต้องใช้ชื่อสกุลแบบญี่ปุ่น พูดภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งสักการะศาลเจ้าชินโต

ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถูกปกครองนี้ ก็คือคนญี่ปุ่นและคนเกาหลีที่แปรพักตร์ เช่น คังอินกุ๊ก (อีคยองยอง) ผู้ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ซาซากิ (จองอินกอม) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่น เชื่อใจไว้วางใจเขาเพื่อเงินและอำนาจ

ขณะที่ภรรยาผู้รักชาติของเขาอันซองซิม (จินคยอง) กลับให้ความช่วยเหลือยอมซ็อกจิน (อีจองแจ) ตัวแทนจากรัฐบาลชั่วคราวเกาหลี คังอินกุ๊กผู้อำมหิตสั่งให้ลูกน้องฆ่าภรรยาและยอมซ็อกจิน โดยที่เขาพาลูกสาวฝาแฝดกลับมาได้เพียงคนเดียว

เวลาผ่านไป เด็กหญิงฝาแฝดสองคน คนหนึ่งเติบโตเป็นคุณหนูไฮโซมีชีวิตที่ดีและกำลังจะแต่งงานกับผู้นำชาวญี่ปุ่น

ส่วนอีกคนคืออันอ๊กยูน (เกียนน่า จอน) เป็นนักฆ่ามือปืนมรณะ ซึ่งใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

ใครจะคิดว่ายอมซ็อกจินกลับกลายเป็นสายลับสองหน้า ทรยศต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เขาได้รับคำสั่งให้วางแผนลอบสังหาร และออกคำสั่งให้อันอ๊กยูนกับผู้ร่วมงานอีกสองคน คือ ซ็อกซาโป (โชจินอุง) และฮวังด๊อกซัม (ชเวด็กมูน) ร่วมกันสังหารเจ้าหน้าที่อันดับสูงของญี่ปุ่นและคังอินกุ๊กผู้ทรยศ

อันอ๊กยูนนักฆ่านักแม่นปืนสไนเปอร์ ฝีมือเฉียบชนิดไม่พลาดเป้า ยินดีรับภารกิจนี้เพราะเธอปรารถนาจะเห็นความเป็นอิสระของเกาหลี

ยอมซ็อกจินจอมทรยศหักหลัง กลับซ้อนแผนลอบฆ่าพวกเดียวกัน เขาได้ว่าจ้างฮาวาย พิสโทล (ฮาจองอู) กับคู่หูของเขายองกัม (โอดาซู) ให้สังหารอันอ๊กยูนกับทีม

ชื่อ “ฮาวาย พิสโทล” มีเหตุมาจากทั้งสองคู่หูเหมือนนายกับบ่าว รับงานสังหารโดยมีเป้าหมายเก็บเงินไปฮาวาย หนีไปจากประเทศที่เป็นเสมือนทาสนี้เสียที พิสโทลกับยองกัมสองคู่หูได้ใจเต็มร้อยจากผู้ชม

พิสโทลได้เคยพบกับอันอ๊กยูนมาก่อนหน้านี้ และต่างก็มีอุดมการณ์เพื่อเกาหลีเช่นกัน หากไม่รู้ว่าจะต้องมาสังหารอีกฝ่าย

แผนลอบสังหารไม่เป็นไปตามแผน เพราะไม่มีใครรู้ว่ามีหนอนบ่อนไส้ อีกทั้งทีมสังหารถูกลอบสังหารเสียเอง ทุกคนที่เกี่ยวข้องแทบเอาชีวิตไม่รอด

การทำงานใหญ่ระดับชาตินี้ มีผู้ให้ความร่วมมือโดยไม่คำนึงถึงชีวิตมากมาย หลากหลายอาชีพ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ซ่อนตัวอยู่ทุกหนแห่ง พร้อมจะทำงานด้วยความรักชาติ และต้องการให้เกาหลีหลุดพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นเสียที

 

Assassination หนังดำเนินเรื่องฉับไว ฉากบู๊ดุเดือด หนังย้อนเวลาไปที่ช่วงปี 1930-1945 ซึ่งผู้คนแต่งตัวหล่อสวยเท่สมาร์ต (Smart) และฉากสถานที่ต่างๆ ในหนัง ล้วนถ่ายทำในโรงถ่าย

นางเอกจอนจีฮยอนแสดงเป็นนักแม่นปืนสไนเปอร์ที่ดูดีดูเท่มาก ชื่อ “ยัยตัวร้าย” จึงกลายเป็นชื่อประจำตัวของเธอไปแล้ว ไม่ว่าจะแสดงเรื่องไหน ทั้งยังแสดงได้ดีสมบทบาทมาก

พระเอกอีจองแจในเรื่องนี้ เป็นตัวเอกในบทตัวร้ายผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ แสดงได้น่าเกลียดน่ารุมกระทืบหรือโดนประชาทัณฑ์มาก

ในช่วงวิกฤตของประเทศมักมีทั้งคนรักชาติและผู้ทรยศ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะแม้แต่คนเป็นพ่ออย่างคังอินกุ๊กยังฆ่าลูกได้อย่างโหดเหี้ยม เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าเพื่อนร่วมชาติจะลำบากและถูกดูถูกกดดันแค่ไหน

หากอย่างน้อยก็ยังมีกลุ่มคนที่หวังว่าประเทศชาติจะผ่านวิกฤตและความอัปยศนี้ไปได้…