สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง | สถานการณ์สงครามการค้าในขณะนี้

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (32)

สถานการณ์สงครามการค้าในขณะนี้

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ดำเนินมาเกือบ 2 ปี มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรจะได้กล่าวถึงหลายประการ ได้แก่

ก) การทำข้อตกลงการค้าขั้นที่หนึ่ง ซึ่งกระทำอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ข่าวว่าทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงในเดือนมกราคม 2020

ข) การเป็นอัมพาตขององค์การการค้าโลกโดยความตั้งใจของสหรัฐ

ค) สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ได้ขยายตัวเป็นสงครามการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคและโครงข่ายโซ่อุปทานโลก

ง) การหย่ากันทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ-จีน สร้างรอยร้าวในกระบวนโลกาภิวัตน์รุนแรง ปรากฏสงครามทุนสหรัฐ-จีนชัดเจนขึ้น

จ) กรณีความไม่สงบที่ฮ่องกงและซินเกียงในจีนที่ได้กลายเป็นหมากของสหรัฐในสงครามการค้าเพิ่มขึ้นอีก

ฉ) การแข่งขันทุนมนุษย์และทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นการปะทะกันทางอารยธรรมที่รุนแรงกว่าการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐเสียอีก

ช) การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐกับรัสเซียที่ทะเลดำและทะเลบอลติกระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

การทำข้อตกลงการค้าขั้นที่หนึ่ง

ในเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา กรณีนี้เป็นข่าวดีสำหรับชาวโลกเพียงข่าวเดียว ดังนั้น จึงมีความพยายามในการยกความสำคัญขึ้นเพื่อลดทอนความรุนแรงและความไม่แน่นอนลงบ้าง

สหรัฐเป็นฝ่ายออกข่าวเองว่าจะทำข้อตกลงการค้าขั้นต้นสำเร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 แต่แล้วก็เลื่อนออกไปหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายประกาศว่าจะลงนามกันในราวกลางเดือนมกราคม 2020 การที่สหรัฐออกข่าวเช่นนั้นเนื่องจากคิดว่าสามารถคุมเกมการเจรจากับจีนได้ทั่วด้าน ซึ่งจีนได้พิสูจน์ว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว

สหรัฐประเมินจีนค่อนข้างต่ำไป มีด้านที่ถูกและผิดพลาดคลาดเคลื่อนหลายประการ ได้แก่

ก) สหรัฐเห็นว่าจีนต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงต่อเนื่องเพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของชาวจีนและความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สงครามการค้าขนาดใหญ่จะทำให้อัตราการเติบโตลดลง การลงทุนมหาศาลของจีนจะไม่คุ้มค่า หนี้กลายเป็นหนี้เสีย กระทบต่อการจ้างงานซึ่งมีด้านที่เป็นจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนได้ปรับการพัฒนาของตนให้เป็นแบบมีคุณภาพมาระยะหนึ่งแล้วโดยเน้นการวิจัยและพัฒนาและการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น ไม่ได้เน้นการเติบโตรวดเร็วเหมือนเดิม

ข) จีนต้องพึ่งการส่งออกเพื่อการเติบโต นี่ก็เป็นทำนองเดียวกัน แต่จีนได้ปรับปัจจัยการเติบโตไปสู่การบริโภคในประเทศมากขึ้น

ค) จีนต้องพึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง นำเข้าชิพและระบบปฏิบัติการและแอพพลิเคชั่นต่างๆ จากสหรัฐที่เป็นผู้นำอยู่ในขณะนี้ แต่จีนมีนโยบายพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี สร้างการผลิตอุตสาหกรรมครบวงจรมาพักหนึ่งแล้ว

ง) สหรัฐสามารถปิดตลาดจีนได้ทั้งในประเทศตนเองและประเทศบริวารในยุโรปและญี่ปุ่น เพราะประเทศเหล่านี้ก็ต้องการลดความรุ่งเรืองของจีนเช่นกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศดังกล่าวต้องพึ่งพาจีนในฐานะเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก

ที่สำคัญในด้านภาพใหญ่คือ สหรัฐประเมินว่าตนเองยังคงมีอำนาจในการจัดระเบียบการค้าการลงทุนโลกได้เหมือนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งและดีเหมือนทอง เป็นฐานของเศรษฐกิจโลกเสรี กฎระเบียบต่างๆ ที่สหรัฐเห็นชอบจะกลายเป็นกฎระเบียบสากลระหว่างประเทศ เรียกว่า “สหรัฐเหนือชาติใด” นอกจากนี้ “ระบบแบรตตันวูดส์” ที่สหรัฐสร้างขึ้นยังเป็นการกีดกันประเทศสังคมนิยม ได้แก่สหภาพโซเวียตและจีนออกไปจากประชาคมโลก

การก่อสงครามการค้าครั้งนี้เป็นสิ่งคุ้มค่าที่จะเสี่ยง ดีกว่าติดกับสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักเป็นไหนๆ มันเป็นการฟื้นสถานะสหรัฐให้กลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง

ทรัมป์ได้ประกาศอย่างมั่นใจว่า เขาเป็นประธานาธิบดีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้สหรัฐคิดเห็นเช่นนั้น ได้แก่

ก) สหรัฐยังคงมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

ข) เศรษฐกิจโลกยังดำเนินไปแบบถือดอลลาร์สหรัฐเป็นฐาน และสหรัฐสามารถควบคุมการไหลเวียนของเงินตราผ่านระบบชำระเงินระหว่างประเทศได้

ค) สหรัฐล้ำหน้าในด้านอุตสาหกรรมไฮเทค ควบคุมระบบอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของโลก

ง) ประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นรวมทั้งจีนที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็โดยเข้าร่วมกับระบบตลาดโลกที่นำโดยสหรัฐ ดังนั้น ในที่สุดประเทศเหล่านี้จำต้องโอนอ่อนต่อการกดดันจากสหรัฐ เช่น ประเทศแคนาดาจับกุมผู้บริหารการเงินของบริษัทหัวเว่ย ตามกฎหมายและการร้องขอจากสหรัฐ

จ) สหรัฐเคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้ามโหฬาร ด้วยการกดดันให้ยุโรปและญี่ปุ่นต้องทำข้อตกลงพลาซ่าในปี 1985 มาแล้ว แต่มีความแตกต่างที่สำคัญ คือประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นที่ขึ้นมาท้าทายทางการค้า การลงทุนและอุตสาหกรรมนั้น ล้วนมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐเป็นอันมาก ทำให้ถูกกดดันได้ง่ายกว่า

ขณะที่จีนมีขนาดพื้นที่และประชากรใหญ่กว่าสหรัฐ ขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่ใกล้กับของสหรัฐ ถ้าคิดตามค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อก็มีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐไปพอสมควร

สีจิ้นผิงกล่าวว่า “จีนเป็นมหาสมุทร ไม่ใช่สระน้ำ”

จากการประเมินและความเข้าใจดังกล่าว มีส่วนกำหนดพฤติกรรมในการรุกหนักรวดเร็ว เพื่อให้สหรัฐเป็นฝ่ายชนะเด็ดขาด และมักเน้นในเรื่องว่าสหรัฐเป็นฝ่ายชนะ ทรัมป์เองได้กล่าวบ่อยครั้งว่าจีนต้องการทำข้อตกลงการค้ามากกว่าสหรัฐ ตัวแทนในการทำข้อตกลงฝ่ายสหรัฐแสดงท่าทีในทำนองว่า การทำข้อตกลงการค้าสหรัฐ-จีนขั้นที่ 1 นี้ เป็นชัยชนะก้าวใหญ่สำหรับการทำข้อตกลงขั้นต่อไป รวมทั้งเป็นแบบอย่างในการทำข้อตกลงกับชาติอื่นด้วย

การเน้นในเรื่องชัยชนะ ในด้านหนึ่งกลายเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะสำหรับทรัมป์ที่เห็นว่าชัยชนะอยู่เหนือสิ่งใด เขาต้องเป็นผู้ชนะ ไม่ใช่คนขี้แพ้ ทรัมป์อาจสำคัญว่าตนคือสหรัฐ ชัยชนะของตนคือชัยชนะของสหรัฐ คล้ายกับท่าทีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสเมื่อสงครามการค้าที่เขาก่อขึ้นส่ออาการยืดเยื้อ คล้ายสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก จำต้องคิดหาทางลง เพื่อให้เอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองในปี 2020

ในด้านท่าทีและทัศนะของจีนนั้นเห็นว่า ข้อตกลงการค้าขั้นที่หนึ่งเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของจีน ได้แก่ ความเท่าเทียมกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และหลักการเฉพาะหน้าที่สหรัฐต้องลดอัตราภาษีที่ประกาศไว้ นอกจากนี้ เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปและเปิดกว้าง และการพัฒนาเชิงคุณภาพของจีน

เช่น จีนได้ลงทุนเพื่อการสร้างนวัตกรรมเป็นอันมาก ต้องการให้มีการปฏิบัติด้านสิทธิบัตรทางปัญญาจริงจัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมนวัตกรรมภายในประเทศจีน

ข้อตกลงนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อสหรัฐ จีน และเศรษฐกิจโลก ดีต่อสหรัฐคือการเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ เนื่องจากอันตรายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดลง และทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐสูงขึ้น

ส่วนจีนได้ผลดีจากการที่ทำให้ทิศทางการค้าของตนแจ่มใสขึ้น และลดการใช้มาตรการทุ่มเงินก้อนใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ว่าดีต่อเศรษฐกิจโลกก็คือ โลกมีความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาหนี้ประชากร ที่แก่ตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วและจีน และความแตกร้าวในกระบวนโลกาภิวัตน์ ข้อตกลงนี้ช่วยบรรเทาความตึงเครียดและความแตกร้าวดังกล่าวได้

(ดูบทความชื่อ China-US phase-one trade deal brightens prospect of world economy ใน chinadaily.com.cn 25/12/2019)

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจีนแสดงตัวเน้นการเป็นผู้รักษากระบวนโลกาภิวัตน์โลก สร้างระเบียบโลกแบบพหุภาคี ขณะที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษีกีดกันสินค้านำเข้า จีนเปิดรับการนำเข้า จัดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน 2019

ในด้านการวิเคราะห์วิจารณ์จากนักวิชาการและสื่อกระแสหลักสหรัฐ มองจากภาพใหญ่เห็นว่าข้อตกลงนี้เป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราว ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าที่สหรัฐเสียดุลแก่จีนอย่างมหาศาล เพราะว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาถึงด้านโครงสร้าง

ดังนั้น ความบาดหมางทางเศรษฐกิจและสงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางการเมือง การทูตและความมั่นคง อันเนื่องจากการแข่งขันทางยุทธศาสตร์เพื่อชิงความเป็นใหญ่ในโลกระหว่างสหรัฐ-จีน นักลงทุนควรจะได้ก้าวข้ามประเด็นนี้ไป และเห็นให้ชัดเจนว่าราคาของสินทรัพย์ในสหรัฐ เช่น หลักทรัพย์ ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน เป็นต้น ไม่ควรตื่นเต้นไหวตัวไปตามข่าวข้อตกลงดังกล่าว ที่มีการเปิดเผยแต่เพียงบางส่วน

ประเด็นใหญ่ในข้อตกลงกลุ่มแรกเป็นด้านการค้า พบว่าในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2019 จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมูลค่าราว 295 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นราวร้อยละ 40 ของการเสียดุลการค้าสหรัฐทั้งหมด โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจีนได้ลดการนำเข้าจากสหรัฐราวร้อยละ 14.5 จนมีมูลค่าเพียง 87.6 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่าถึง 382 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าที่จีนนำเข้าถึงกว่าสี่เท่าตัว

แม้ตามข้อตกลงนี้ จีนกล่าวว่าจะนำเข้าสินค้าสหรัฐทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีนี้เป็นมูลค่า 200 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในปัจจุบันอัตรานำเข้าสินค้าจากจีนเฉลี่ยปีละ 462 พันล้านดอลลาร์

ซึ่งหมายความว่าสหรัฐต้องลดการนำเข้าจากจีนถึงราวครึ่งหนึ่ง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าจำนวนมากได้

ซึ่งเป็นไปได้ยาก

ที่เป็นไปได้มากกว่าคือสหรัฐยังคงต้องขาดดุลการค้าแก่จีนจำนวนมากต่อไป ยังคงต้องโอนเทคโนโลยีแก่จีนต่อไป และเป็นหนี้ต่อจีนเพิ่มขึ้น

ข้อตกลงที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่สหรัฐรู้สึกขุ่นเคืองใจต่อจีน ได้แก่ ปัญหาการคุ้มครองสิทธิบัตรทางปัญญา การบังคับให้บริษัทอเมริกันถ่ายโอนเทคโนโลยี การอุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรมของจีนอย่างผิดกฎหมาย และการจัดการอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อเอาเปรียบทางการค้า เหล่านี้ได้ตกลงกันแค่เป็นเพียงการคำประกาศทั่วไป ไม่ใช่ข้อตกลงที่ชัดเจนทางกฎหมาย การบังคับใช้อาศัยการเจรจาสองฝ่ายในระดับเทคนิค ซึ่งสามารถขยายตัวเป็นเรื่องใหญ่ได้ หากตกลงกันไม่ได้

(ดูบทความของ Dr.Michael Ivanovitch นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐเชื้อสายมอนเตเนโกร เคยทำงานในธนาคารกลางสหรัฐสาขานิวยอร์ก และสำนักงานโออีซีดี ชื่อ The US-China trade deal leaves a large American deficit and a permanent collision course ใน cnbc.com 15/12/2019 เป็นต้น)

ดังนั้น กล่าวได้ว่าสหรัฐก็ไม่ได้อะไรเท่าใดจากจีน นอกจากคำสัญญาที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดและกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ส่วนในเรื่องอื่นระดับโครงสร้างอยู่ที่การเจรจาทวิภาคี ไม่ได้กระทบแนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์ของจีนแต่อย่างใด

ส่วนจีนก็ไม่ได้อะไรมากเช่นกัน เพราะอัตราภาษีที่ขึ้นไปแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม มีแต่อัตราภาษีท้ายสุดที่จะขึ้นในกลางเดือนธันวาคม 2019 อาจจะได้รับการลดหย่อนลงหรือไม่เก็บเลย ทั้งสองจึงยังคงเอามีดจ่อคอของกันและกันไว้

อนึ่ง การทำข้อตกลงนี้ยังส่งผลกระทบของประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐ ได้แก่ ออสเตรเลียที่มีขนาดการค้ากับจีนใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2014

สินค้าที่ออสเตรเลียส่งออกไปยังจีนในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2019 มีมูลค่า 84 พันล้านดอลลาร์ เฉลี่ยเดือนละ 12 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการส่งออกไปยังจีนที่เฉลี่ยเดือนละ 9.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 ถึงราวร้อยละ 34

ออสเตรเลียส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปให้แก่จีนทำนองเดียวกับสหรัฐ ได้แก่ สินค้าเกษตร สินแร่เหล็ก และถ่านหิน เป็นต้น

ถ้าหากจีนจำต้องเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐ ก็คงต้องลดการนำเข้าจากออสเตรเลียระดับใดระดับหนึ่ง สงครามการค้าสหรัฐ-จีนจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างคาดเดายาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกได้เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกัน

ฉบับต่อไปว่าด้วยการทำให้องค์การการค้าโลกเป็นอัมพาตโดยสหรัฐ และการกลายเป็นสงครามการค้าโลก