สุรชาติ บำรุงสุข | 2563 : ลดทอนความเข้มข้นทางการเมืองของทหาร

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“พลังทางสังคมอื่นๆ อาจจะกดดันรัฐบาลได้ แต่ทหารเท่านั้นที่จะเปลี่ยนรัฐบาลได้”

แซมมวล ฮันติงตัน (1966)

การเมืองไทยในปี 2563 จะมีประเด็นสำคัญหนึ่งที่น่าจับตามองคือ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ประเด็นปฏิรูปทหารในปีใหม่นี้จะมีการถกเถียงมากขึ้น

การปฏิรูปนี้จะต้องเริ่มต้นด้วย “การลดทอนความเข้มข้นทางการเมือง” (depoliticization) ของสถาบันทหาร

ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอปัจจัย 7 ประการที่ทำให้เกิดกระบวนการสร้างทหารการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปกองทัพ

อุปสรรค 7 ประการ

1)ปัญหารัฐซ้อนรัฐและความเป็นอิสระทางการเมืองของทหาร

กองทัพไทยเป็นองค์กรที่มีอิสระในการเมืองไทยอย่างเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือน (คือเป็นองค์กรที่มี political autonomy) หรือมีสถานะเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ในรัฐไทยปัจจุบัน

การแสดงออกของผู้นำกองทัพอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะในการต่อต้านนักการเมืองที่หาเสียงด้วยนโยบายที่ฝ่ายทหารไม่ชอบ

ตลอดรวมถึงการที่ผู้นำกองทัพแสดงออกอย่างไม่มีข้อจำกัดทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐ (ไม่ใช่รัฐ) การแสดงท่าทีเช่นนี้บ่งชี้ว่า กองทัพคือองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการเมืองไทย และอำนาจทางการเมืองของกองทัพปรากฏชัดอยู่ในทุกบริบทของกระบวนการเมือง ไม่ใช่เพียงแต่ในทางการเมืองเท่านั้น

และอาจต้องยอมรับว่าอำนาจเช่นนี้กำลังแทรกซ้อนอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมการเมืองไทย

อันทำให้รัฐประหาร 2557 มีลักษณะของกระบวนการการสร้าง “รัฐทหาร” อย่างชัดเจน

และผู้นำทหารหวังว่ารัฐในรูปแบบเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไปในการเมืองไทย แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ตาม หรือเป็นความหวังของผู้นำทหารว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม” ที่ยังคงมีแกนกลางมาจากคณะรัฐประหารเดิม

พร้อมกับการออกแบบกติกาในรูปของกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการคงอยู่ของระบอบเดิมอีกด้วย

และอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม

ซึ่งหากการดำเนินการเช่นนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ย่อมนำไปสู่การกำเนิดของระบอบพันทาง ที่จะเห็นการแปลงรูปของระบอบทหารแบบเดิม อันอาจมีนัยถึงการกำเนิดของ “ระบอบกึ่งเผด็จการทหาร” ในการเมืองไทย

หรืออาจจะเรียกในบริบทไทยว่า “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง”

2)ปัญหาวินัยทหารกับการแสดงออกทางการเมือง

คำถามสำคัญประการหนึ่งของวินัยทหารในประเด็นนี้ ได้แก่ ผู้นำกองทัพควรแสดงออกทางการเมืองได้เพียงใด

มิไยต้องกล่าวเปรียบเทียบว่าการแสดงออกเช่นที่เกิดในสังคมไทยเป็นสิ่งไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในอดีตของการเมืองโลกมีแต่เพียงกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น ที่ผู้นำทหารสามารถแสดงออกทางการเมืองได้โดยไม่มีขีดจำกัด และการแสดงออกเช่นนี้ไม่ถือเป็นความผิดในวินัยทหาร

ในระบบการเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีความแตกต่างออกไป

เช่น ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การแสดงออกทางการเมืองของผู้นำทหารในการต่อต้านประชาธิปไตยถือเป็นการผิดวินัยทหารโดยตรง

และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำได้แต่อย่างใด

ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำทหารของกองทัพในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเวทีเปิดแต่อย่างใด

อันเป็นการตอกย้ำสถานะของกองทัพที่เป็นกลไกรัฐ เพราะในประเทศที่ระบบการเมืองมีการพัฒนาแล้ว

กองทัพจะไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงตนเป็น “คู่แข่งของรัฐ” ได้แต่อย่างใด

และการแสดงออกของผู้นำทหารในพื้นที่สาธารณะในลักษณะที่ “ข้ามเส้นกำหนดทางการเมือง” จะต้องถูกถือว่าเป็นการ “ละเมิดวินัยทหาร” ไม่ใช่ถือว่าเป็น “สิทธิพิเศษ” ของผู้นำทหาร

3)ปัญหาสภาวะการขาดความเป็นวิชาชีพทางทหาร

การมีบทบาทของกองทัพทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และตามมาด้วยรัฐประหาร 2557 ส่งผลให้นายทหารรุ่นหลังเติบโตขึ้นมาด้วยจินตนาการที่เชื่อว่าทหารไทยเป็น “ทหารการเมือง” นั้นไม่ใช่สิ่งผิด เพราะเห็นได้ชัดเจนถึงการมีบทบาทของกองทัพที่เกินเลยจากภารกิจทางทหารในเรื่องของการป้องกันประเทศ

การขยายบทบาททางการเมืองเช่นนี้มีผลโดยตรงต่อการสร้างทัศนะที่เชื่อว่าการเมืองต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร ประเทศชาติจึงจะปลอดภัย อันเป็นทัศนะที่เชื่อว่าทหารเป็น “ผู้พิทักษ์” ของชาติ (หรือในทางทฤษฎีคือ ทหารเป็น “national guardian”)

และความพยายามในการสร้างกองทัพให้เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการสร้าง “ทหารอาชีพ” จึงมักจะถูกโต้แย้งว่า สิ่งนั้นเป็นบริบทของกองทัพตะวันตกไม่ใช่กองทัพไทย และกองทัพไทยไม่จำเป็นต้องเดินไปบนเส้นทางดังกล่าว

และตามมาด้วยการสร้างวาทกรรมแบบสุดโต่งที่ว่า กองทัพไทยไม่จำเป็นต้องมีทหารอาชีพเหมือนกองทัพตะวันตก

เช่นที่การเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยเหมือนการเมืองตะวันตก

พร้อมกับเรียกร้องให้ยอมรับสถานะเดิมของการเมืองและกองทัพในแบบที่เป็นอยู่

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย

4)ปัญหาความเข้มแข็งของความเป็นทหารการเมือง

ในการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนานั้น ปฏิเสธข้อเท็จจริงประการสำคัญไม่ได้ว่า ภาคพลเรือนหรือภาคประชาสังคมมักจะไม่มีอำนาจและขีดความสามารถมากพอที่จะต้านทานการขยายบทบาทของกองทัพได้ ยิ่งการต่อต้านการยึดอำนาจแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลพลเรือน ความอ่อนแอเช่นนี้ได้กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการสร้าง “ทหารการเมือง” หรือทำให้ภารกิจของทหารกลายเป็นภารกิจทางการเมือง

และที่สำคัญคือ “กระบวนการทำให้เป็นการเมือง” (politicization) ส่งผลให้กองทัพกลายเป็นองค์กรการเมืองในตัวเอง

จนผู้นำกองทัพขาดความตระหนักรู้ถึงภารกิจที่แท้จริงของความเป็นกองทัพ

นอกจากนี้ ผู้นำกองทัพมักจะอ้างเหตุถึงความขัดแย้ง และรวมถึงความวุ่นวายต่างๆ ทางการเมือง และสร้างทัศนะว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นอ่อนแอและไม่มีขีดความสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กองทัพจึงมี “ความจำเป็น” ที่จะต้องเข้ามาเพื่อป้องกันความรุนแรงจากเหตุดังกล่าว

ว่าที่จริงแล้ววาทกรรมรัฐบาลพลเรือนอ่อนแอคือมรดกสำคัญประการหนึ่งที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้

5)ปัญหาอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมและผู้นำทหาร

โดยธรรมชาติของกลุ่มปีกขวาที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมในการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา/กำลังพัฒนา พวกเขามีทิศทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการยึดอำนาจของผู้นำทหาร

กล่าวคือ ผู้คนในสังกัดชุดความคิดนี้มักจะมีทัศนะต่อต้านประชาธิปไตยภายใต้ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology)

โดยภาพรวมคือต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านพรรคการเมือง ต่อต้านนักการเมือง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่กลุ่มเหล่านี้จะให้การสนับสนุนผู้นำกองทัพในการมีบทบาททางการเมือง และจะแสดงออกด้วยความพึงพอใจเสมอต่อการต่อต้านประชาธิปไตยของผู้นำทหาร

หรือในอีกด้านก็คือ คนที่สังกัดชุดความคิดแบบนี้มักเชื่อว่า ผู้นำทหารคือ “คนกลาง” ที่จะเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมือง

แต่ในอีกด้านก็อาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศกำลังพัฒนาไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้ในสนามเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องอาศัยรัฐประหารเป็นเครื่องมือ

หรืออาจกล่าวสรุปว่า ในภาวะที่กลุ่มฝ่ายขวาอ่อนแอนั้น พวกเขาต้องแสวงหาพันธมิตรที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

และพันธมิตรนี้ไม่มีอะไรเหมาะสมเท่ากับองค์กรทหารที่มีอาวุธ และผู้นำทหารที่มีความคิดในชุดอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

กองทัพในเงื่อนไขเช่นนี้จึงมักมีบทบทบาทเป็น “แกนกลาง” ของการรัฐประหารของฝ่ายอนุรักษนิยมเสมอ

ลักษณะเช่นนี้อาจจะแตกต่างจากปีกขวาใหม่ในโลกปัจจุบันที่ก้าวข้ามการรัฐประหารไปแล้ว

และจำเป็นต้องอยู่กับการเลือกตั้งและการเมืองในระบบเปิด

ดังเช่นกลุ่มประชานิยมปีกขวา (Rightwing Populism) ในโลกตะวันตก ซึ่งพวกเขาควรจะได้อำนาจทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร พวกเขาสู้ในเวทีการเมืองไม่แตกต่างจากพรรคอื่น

และกติกาที่คืออำนาจทางการเมืองได้มาด้วย “รถหาเสียง” ไม่ใช่ด้วย “รถถัง” ดังนั้น การลดอิทธิพลของอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยจึงเป็นประเด็นสำคัญ

6)ปัญหาวัฒนธรรมการเมืองและการยอมรับรัฐประหารของปีกอนุรักษนิยมไทย

ถ้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีกติกาทางการเมืองที่ชัดเจนว่า อำนาจทางการเมืองในการเป็นรัฐบาลนั้น ได้มาด้วยกระบวนการเลือกตั้ง

หรือหากพิจารณาในมิติทางวัฒนธรรมก็คือ ไม่มีวัฒนธรรมที่คนในสังคมจะยอมรับการได้อำนาจทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร

แม้ในปีกอนุรักษนิยมในประเทศนั้นๆ ก็ไม่ได้อยู่ในวงจรความคิดของการยึดอำนาจ เพราะการจะกระทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นความจริงได้ ผู้นำทหารจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะตัดสินใจเคลื่อนกำลังรบภายใต้การบังคับบัญชาของตนออกมาควบคุมจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเมืองหลวง พร้อมทั้งนำกำลังเข้าควบคุมตัวผู้นำรัฐบาล

ดังนั้น การคิดยึดอำนาจในประเทศเหล่านี้เป็นได้เพียงจินตนาการ

เช่น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีภาพหน่วยรถถังเข้าควบคุมจุดสำคัญในวอชิงตัน ลอนดอน หรือปารีส และกำลังอีกส่วนบุกทำเนียบประธานาธิบดี หรือกำลังอีกชุดบุกยึดบ้านเลขที่ 10 ที่ลอนดอน

ในเงื่อนไขของประเทศพัฒนาแล้ว กองทัพจะไม่สามารถที่จะแสดงบทบาทในความเป็นรัฐได้ (และไม่รับอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นด้วย) ซึ่งก็คือสภาวะที่กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน (ที่มาจากการเลือกตั้ง)

และแม้ในประเทศสังคมนิยมเดิมก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเราจะไม่เคยเห็นรัฐประหารในประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด

เพราะหลักการที่ถูกกำหนดทางการเมืองคือ “พรรคคุมปืน” จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้เราไม่มีทางที่จะเห็นการตัดสินใจเคลื่อนกำลังรถถังเพื่อยึดอำนาจ

หากแต่เห็นถึงการเคลื่อนหน่วยรถถังของสหภาพโซเวียตเพื่อปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นในฮังการี เชโกสโลวะเกีย

หรือเคลื่อนรถถังของรัฐบาลจีนในการปราบผู้เห็นต่างที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นต้น

ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมที่ทำคนในสังคมไม่ยอมรับการรัฐประหารจึงเป็นประเด็นสำคัญ และต้องทำให้เกิดวัฒนธรรมในการยอมรับกระบวนการทางรัฐสภา

แม้กระบวนการนี้อาจจะช้าและไม่ถูกใจทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็มีหลักประกันที่จะได้เลือกรัฐบาลใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่ในระบอบรัฐประหารไม่มีการเลือกตั้ง การได้อำนาจทางการเมืองของทหารเกิดจาก “อำนาจปืน” ไม่ใช่ “อำนาจประชาชน”

ฉะนั้น วัฒนธรรมที่ถูกประกอบสร้างให้ยอมรับรัฐประหาร จึงเป็นวัฒนธรรมของการยอมจำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า โดยไม่มีการตั้งคำถาม และเป็นวัฒนธรรมที่ยอมสละสิทธิการเมือง โดยมีความเชื่อว่า กองทัพจะเป็นองค์กรนำในการแก้ปัญหาทั้งปวงของชาติ

และที่สำคัญคือ เชื่อว่าผู้นำกองทัพมีขีดความสามารถ ตลอดรวมทั้งมีความรู้และความเข้าใจในการเป็นผู้แก้ปัญหาของประเทศได้จริง

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐสมัยใหม่มีความซับซ้อนเกินกว่าจะบริหารด้วยวิชาทหาร ที่เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่มาจากการศึกษาและบ่มเพาะจากโรงเรียนทหาร

7)รัฐประหารคือภาพสะท้อนของการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในประเทศที่พัฒนาและการเมืองมีเสถียรภาพ กองทัพมีสถานะที่ชัดเจนในฐานะของ “กลไกรัฐ” ที่รัฐจะใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง

แต่ในประเทศกำลังพัฒนา กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้นำปีกอนุรักษนิยม ที่ใช้ในการเนินดำการทางการเมือง

เช่น การกดดันรัฐบาลพลเรือน และถึงจุดสุดท้ายอาจเป็นการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนรัฐบาล

ดังนั้น การจะลดทอนเงื่อนไขรัฐประหารให้ได้ จะต้องปิดโอกาสที่กลุ่มการเมืองต่างๆ จะใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง

และเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถพัฒนาความเป็น “วิชาชีพทางทหาร” และพาสถาบันกองทัพออกจากการต่อสู้ทางการเมือง

อีกทั้งยังต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำทหาร “เล่นการเมือง” โดยมีสถาบันกองทัพเป็นฐานสนับสนุน

สภาพเช่นนั้น จะยิ่งทำให้การปฏิรูปกองทัพเป็นไปได้ยากด้วย

อนาคต

หากมองจากบริบทของการเมืองไทยแล้ว คงต้องยอมรับว่าปัญหา 7 ประการเช่นนี้ไม่สามารถทำลายลงทั้งหมดได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย

แต่อย่างน้อยการลดระดับความเข้มข้นของปัญหาทั้งเจ็ดลงจะเป็นเงื่อนไขจากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ยอมให้กองทัพเป็นจักรกลของการรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ฉะนั้น หากคิดถึงการปฏิรูปกองทัพในปีใหม่นี้ สิ่งที่ต้องกระทำคู่ขนานในบริบททางการเมืองคือ “การลดทอนความเป็นการเมืองของสถาบันทหาร”

เพราะถ้ายังไม่สามารถลดทอนความเข้มข้นของปัญหา 7 ประการในข้างต้นได้จริงแล้ว

ความหวังที่จะปฏิรูปกองทัพน่าจะเป็นเรื่องอยู่ห่างไกลในอนาคต!