เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สีสันของเยาวชนดนตรี

ไปร่วมงาน “เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ หอแสดงดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่ศาลายา นครปฐม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับงานนี้เป็นครั้งที่ 22 เช่นกัน

งานวันนี้เป็นการประกวดรอบสุดท้าย มีสี่ระดับคือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา

มีผู้เข้าร่วมประกวด รวม 562 ราย คัดเข้ารอบสุดท้ายวันนี้ทั้งสี่ระดับรวม 40 ราย โดยแบ่งเป็นระดับละ 10 ราย

เขาจำแนกรางวัลเป็นชนะเลิศเหรียญทอง และรองชนะเลิศเหรียญทองอีกสามอันดับ รวมเป็นสี่รางวัลสูงสุด ที่เหลือหกรายเป็นเหรียญเงิน

โดยทุกรางวัลมีเงินรางวัลลดหลั่นกันไป

ผู้ได้รับเหรียญทอง นอกจากเกียรติบัตรและเงินรางวัลแล้ว ยังได้ทุนการศึกษาด้านดนตรีที่สถาบันแห่งนี้คือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

โดยได้รับสิทธิ์ต่างๆ เช่น ไม่ต้องสอบคัดเลือกวิชาดนตรี ภาคปฏิบัติดนตรี ได้รับยกเว้นค่าหน่วยกิตหรือค่าธรรมเนียมรายวิชา เป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา

ที่พิเศษและวิเศษของการจัดประกวดดนตรีนี้คือ ไม่จำกัดประเภทเครื่องดนตรี รวมถึงการร้องเพลง

หมายถึงการแสดงความสามารถทางดนตรีทุกด้านสามารถนำมาแสดงเพื่อแข่งขันกันได้ ดังนั้น ก็จะได้เห็นความหลากหลายของการแสดงมาประชันขันแข่งบนเวทีในระดับเดียวกัน

มีทั้งเปียโน กีตาร์ ระนาด ฆ้องวง โปงลาง พิณ โหวด ซอ และการร้อง ซึ่งมีทั้งแบบโอเปร่า เพลงลูกทุ่งและไทยเดิม

ไม่ใช่การประกวดเฉพาะเครื่องมือ เช่น เปียโนกับเปียโน ระนาดกับระนาด หากทุกเครื่องทุกประเภทมีสิทธิ์ประชันความสามารถเสมอกัน

กรรมการทุกคนมีสิทธิ์ให้คะแนนตามที่แต่ละคนจะเห็นควรกับความสามารถของผู้เข้าประกวด โดยถือเอาเสียงเพลงและความมีชีวิตชีวาของนักดนตรีเป็นหลัก

คือผู้เสกสรรค์ความไพเราะแห่งเสียงเพลงให้ปรากฏได้อย่างประทับใจ

นั่นแหละคือผู้ชนะ

ซึ่งไม่ผิดหวังเลย ทั้ง 40 คนนี่แหละคือผู้ชนะแท้จริง

ขอยกตัวอย่างเฉพาะรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแต่ละระดับดังนี้

ระดับประถมศึกษา ผู้ชนะเลิศเหรียญทองคือ เด็กชายพสิษฐ์ วัฒนาเลขาวงศ์ อายุ 11 ปี จากโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ ด้วยการเดี่ยวเปียโนที่ทั้งกระหึ่มเหิม ทั้งพลิ้วและพริ้วได้พริ้งพราย น่าอัศจรรย์นัก จากประวัติยิ่งอัศจรรย์ขึ้นไปอีกว่า เด็กอายุ 11 ขวบคนนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดระดับโลกมาแล้วด้วย

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้ชนะเลิศเหรียญทองคือ เด็กหญิงกัญญาณัฐ สวัสดิ์วงษ์ อายุ 13 ปี จากโรงเรียนมารีย์แก้งคร้อ จังหวัดขอนแก่น เครื่องดนตรีคือ โหวดในเพลงลำเพลิน นี่ก็อัศจรรย์อีกเช่นกัน ไม่น่าเชื่อว่า เด็กวัยรุ่นจากอีสานจะเสกเสียงสายลมแห่งท้องทุ่งปลุกจิตวิญญาณอีสานได้ถึงปานนี้

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ชนะเลิศเหรียญทองคือ นายนนทพัทธ์ ชัยวิรัตน์นุกุล อายุ 17 ปี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล เครื่องดนตรีที่แสดงคืออัลโตแซ็กโซโฟน

นี่ก็นักดนตรีที่ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแซ็กโซโฟนจริงๆ ฟังแล้วไม่รู้ว่าคนเป่าแซ็กหรือแซ็กเป่าคนกันแน่

ระดับอุดมศึกษา ผู้ชนะเลิศเหรียญทองคือ นายนิชฌาน พิทยาธร อายุ 20 ปี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล อีกเช่นกัน คนนี้เล่นโซปราโน แซ็กโซโฟนได้สนุกสนานราวกับว่าแซ็กโซโฟนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะไปเลยทีเดียว

ได้ดูได้ฟังแล้วเป็นบุญหูบุญตานัก อยากให้ใครๆ ได้มารับรู้ด้วย เป็นไปได้น่าจะนำไปเผยแพร่ทางโทรทัศน์สักช่อง ให้โลกได้รู้ได้เห็นความสามารถของเด็กเยาวชนไทยที่น่าภาคภูมิยิ่งนัก

มีเด็กอีกคนระดับมัธยมต้น ชื่อ เด็กชายภูริณัฐ ยินดีวิทย์ อายุ 14 ปี จากโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย คนนี้ได้รางวัลเหรียญเงินจากการสีซอด้วง เพลงพญาโศกสามชั้น เคยได้รางวัลชนะเลิศเหรียญทองจากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติมาแล้ว

นานๆ จะได้ฟังเพลงพญาโศกจากซอด้วงมือดีขนาดนี้ ฟังแล้วก็ให้อิ่มตาอิ่มใจจริงๆ

งานเยาวชนดนตรีที่จัดมาแล้ว 22 ครั้งนี้ นอกจากความสำเร็จดังปรากฏแล้ว ชวนให้คิดว่าทำอย่างไรจะช่วยกันส่งเสริมและเผยแพร่ให้ปรากฏได้มากกว่านี้

ฝากรัฐบาลด้วยละกัน จะมีหน่วยงานใดมาช่วยเชิดชูให้เป็นภาพลักษณ์ดีๆ ของเด็กไทยและคนไทยได้จะเป็นคุณประโยชน์ยิ่งแก่แผ่นดินโดยแท้

วิชาศิลปิะนี้เป็น “วิชาชีวิต” ขณะวิชาการด้านอื่นที่คร่ำเครียดเคร่งกันอยู่ในโรงเรียนและสถานศึกษานั้นเป็น “วิชาชีพ” การศึกษาที่ทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์นั้นต้องถึงพร้อมทั้งสองวิชานี้เป็นสำคัญ เวลานี้เขาดูจะเน้นวิชาชีพ และละเลยวิชาชีวิตกันไปแล้ว

ดนตรีนี่แหละคือหนึ่งในวิชาชีวิต